“ทอดผ้าป่า สืบชีวาบ้านอุ่นรัก” ต่อลมหายใจเด็กที่ถูกละเมิดสิทธิในสังคมไทย
ข่าวคราวการละเมิดสิทธิเด็กเกิดขึ้นบ่อยครั้งในสังคมไทย ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การค้าประเวณีเด็ก ขอทานเด็ก การใช้แรงงานเด็ก กระทั่งการกระทำทารุณกรรมในสังคมกระทั่งในบ้านเอง
จากข้อมูลสรุปรายงานสถานการณ์เด็ก สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ พบว่ามีโสเภณีเด็ก 12,000-18,000 คน เด็กพิการ 69,797 คน เด็กกระทำผิดในความดูแลของสถานพินิจ 57,089 คน เด็กพลัดถิ่นเฉพาะอายุ 0-12 ปี 40,000 คน เด็กชาวเขา 391,103 คน เด็กชุมชนแออัด 2 ล้านคน เด็กไร้สัญชาติกว่า 1 ล้านคน เด็กลูกแรงงานก่อสร้าง 12,400 คน โดยยังไม่รวมเด็กถูกทอดทิ้ง เด็กถูกทำร้ายทารุณ เด็กถูกล่วงเกินทางเพศ และเด็กติดสารเสพติดที่ยังมีตัวเลขไม่แน่นอน
“เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ” ผู้ร้ายรายใหม่คือ “เพื่อน-แฟน”
วาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองสิทธิเด็ก เล่าว่าถ้าดูจากการรับแจ้งเหตุทารุณกรรมเด็ก ในอดีตจะมาทั้งจากต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ ใกล้เคียงกัน แต่ปัจจุบันการแจ้งเหตุส่วนมากเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในกรุงเทพและปริมณฑล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการกระทำทารุณทางเพศ ที่ในอดีตผู้กระทำผิดมักเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็ก เช่น บิดา บิดาเลี้ยง ลุง ครู เพื่อนของบิดา เพื่อนบ้าน แต่ในปัจจุบันผู้กระทำนอกจากจะเป็นบุคคลข้างต้นแล้วยังเป็นเพื่อนนักเรียน รุ่นพี่ ที่มีการคบหาเป็นแฟน และมีเพศสัมพันธ์กัน เด็กบางรายถึงขั้นตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งการดำเนินการช่วยเหลือจำเป็นต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดทั้งตัวเด็กที่ถูกกระทำและเด็กที่กำลังจะเกิดใหม่
ตัวอย่างเด็กหญิง 8 ปีรายหนึ่งถูกพ่อเลี้ยงล่วงเกินทางเพศ ครูประจำชั้นประสานมูลนิธิฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักสังคมสงเคราะห์ นักกฎหมาย แพทย์ นักจิตวิทยา เพื่อร่วมกันเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในกระบวนการยุติธรรม โดยประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการ เพื่อเอาผิดกับผู้กระทำผิดและเรียกค่าเสียหายให้กับเด็ก
ยังมีการประเมินความเสี่ยงว่าครอบครัวเดิมสามารถดูแลเด็กต่อไปให้ปลอดภัยได้หรือไม่ เพราะกรณีนี้พ่อเลี้ยงเป็นผู้กระทำล่วงละเมิดเด็ก และครอบครัวก็มีปัญหาทางเศรษฐกิจ จึงประสานส่งเด็กเข้าสถานแรกรับมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เพื่อช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีจิตแพทย์ประเมินพัฒนาการด้านต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ รวมทั้งคำแนะนำด้านกิจกรรมที่จะช่วยพัฒนาเด็กในชีวิตประจำวัน ต่อมามีการประเมินครอบครัวเครือญาติของเด็กว่ามีศักยภาพในการดูแลเด็ก จึงส่งเด็กไปให้ดูแล และติดตามเยี่ยมเพื่อประเมินเป็นระยะ และประสานกับโรงพยาบาลในพื้นที่ให้ติดตามดูแลต่อเนื่อง
“ขั้นตอนสำคัญที่มูลนิธิฯ ดูแลเด็ก คือการฟื้นฟูเยียวยาเด็กและครอบครัว ซึ่งเป็นประเด็นที่เป็นข้อจำกัดของสังคมไทยเนื่องจากปัจจุบันมีหน่วยงานทำงานในส่วนนี้น้อยมาก ไม่พอต่อสภาพปัญหา”
“ขอทานเด็กทะลักเข้าเมือง” รัฐแก้ไขไม่จริงจัง
ปัญหาเด็กขอทานส่วนใหญ่ มีต้นทางเป็นเด็กต่างจังหวัด และเด็กต่างด้าวที่เร่ร่อนมาขอทานในเมืองใหญ่ วาสนาเห็นว่า เด็กเหล่านี้รัฐต้องให้ความช่วยเหลือโดยมีกฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้วว่าเป็นเด็กที่พึงได้รับการสงเคราะห์ แต่การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่เป็นการตั้งรับ รอเฉพาะมีคนแจ้ง หรือแม้มีการแจ้งเหตุก็ไม่มีการดำเนินการที่ดีเท่าที่ควร การที่เด็กตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ทำให้เด็กเสี่ยงต่อการถูกกระทำละเมิด ถูกแสวงหาประโยชน์ หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับโอกาสในการพัฒนาในด้านต่าง ๆ และได้รับผลกระทบทางจิตใจด้วย
การแก้ปัญหาเด็กกลุ่มนี้นอกจากการเข้าไปช่วยเหลือคุ้มครองแล้ว จำเป็นต้องเข้าไปทำงานกับครอบครัวของเด็กด้วย และที่สำคัญ การคุ้มครองเด็กจำเป็นต้องเร่งพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ให้สามารถส่งเสริมพัฒนาและให้การคุ้มครองเด็กในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
“ทอดผ้าป่า สืบชีวาบ้านอุ่นรัก” ระดมทุนเพื่อความอยู่รอดองค์กรช่วยเหลือเด็ก
แม้จะมีกฎหมายใช้บังคับคุ้มครองเด็กหลายฉบับ อาทิ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเด็ก มาตรา 44-52 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 3, 4, 6, 7, 52 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 15, 16, 17, 48, 65, 106
กระทั่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 หมวดว่าด้วยการห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ มาตรา 4, 26 (1)ถึง (10) โดยเป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองเด็กทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการสงเคราะห์ การคุ้มครองสวัสดิภาพ การพัฒนาและฟื้นฟู สาระสำคัญคือบังคับใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี คุ้มครองเด็กเร่ร่อน เด็กพิการ เด็กกำพร้า เด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด นักศึกษาและนักเรียน
แต่สถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กในสังคมไทย ก็ไม่ได้มีแนวโน้มลดลง แต่กลับตรงข้าม และท่ามกลางคำถามว่าภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลปัญหาโดยตรงจะจัดการให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร องค์กรสาธารณะกุศลหลายแห่งเสนอตัวเข้ามามีบทบาท แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจสังคมปัจจุบัน องค์กรจิตอาสาพิทักษ์สิทธิเด็กเหล่านี้หลายแห่งกำลังอยู่ในสภาพภาพทางการเงินที่ย่ำแย่ สวนทางกับปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กในสังคมไทยที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
หนึ่งในนั้นคือ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ที่ช่วยเหลือคุ้มครองเด็กที่ถูกกระทำทารุณถูกละเมิดสิทธิโดยฟื้นฟูเยียวยาทั้งด้านร่างกายจิตใจ เพื่อให้เด็ก ๆ กลับคืนไปใช้ชีวิตปกติอยู่ในสังคม
ศิริพร กลิ่นอุบล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาองค์กร มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เล่าว่ามูลนิธิเคยได้รับงบประมาณจากองค์กรสาธารณะทั้งในและต่างประเทศ เช่น องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) แต่ระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมาโครงการไม่สอดคล้องวัตถุประสงค์ ทำให้ได้รับงบประมาณน้อยลง ไม่เพียงพอต่อการดูแลเด็กอายุระหว่าง 3-18 ปีที่อาศัยในบ้านพัก 2 หลังร่วม 20 คน นอกจากนี้ยังดูแลเด็กในต่างจังหวัดอีกกว่า 300 คน ซึ่งยังต้องรวมค่าเดินทาง ค่าติดตามเยี่ยม และสงเคราะห์เป็นรายคน ซึ่งส่วนใหญ่เด็กจะอยู่ในท้องถิ่นมากกว่ากรุงเทพฯ ทั้งที่อยู่กับครอบครัวเดิม และอยู่ในครอบครัวทดแทน
“ครอบครัวทดแทนคือครอบครัวที่ให้การสงเคราะห์เด็กแทนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งมูลนิธิฯจะช่วยค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเด็กให้ เช่น ค่าอาหาร การศึกษา เสื้อผ้า อย่างน้อย ๆ ค่าอาหารเดือนละ 3,000 บาท”
เด็กภายใต้การดูแล 320 คน ค่าอาหารเดือนละ 3,000 บาท เฉลี่ยเฉพาะค่าอาหารที่มูลนิธิต้องแบกรับ 960,000 บาทต่อเดือน ยังไม่นับรวมค่าเสื้อผ้า การศึกษา และจิปาถะที่เด็กจำเป็นต้องใช้ในวัยแตกต่างกัน
“เราไม่เปิดรับบุคคลหรือองค์กรเข้ามาเลี้ยงอาหารเหมือนสถานสงเคราะห์เด็กแห่งอื่น ๆ เพราะเด็กหลายคนเป็นเด็กที่ถูกกระทำทารุณกรรม ต้องคำนึงสิทธิที่เขาต้องได้รับการปกป้อง เช่น ใบหน้าที่ไม่สามารถเผยแพร่ให้บุคคลอื่นรับรู้ได้”
ศิริพร กล่าวต่อว่า มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิริธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ รวมถึงองค์กรภาครัฐระดับท้องถิ่นและเอกชน จัด “ทอดผ้าป่า สืบชีวาบ้านอุ่นรัก” ในวันที่ 12 ส.ค. 55 (รายละเอียดไฟล์แนบด้านล่าง) เพื่อระดมทุนนำไปใช้ในกิจกรรมดูแลช่วยเหลือเด็กในความดูแลของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กกว่า 300 ชีวิต
สนใจร่วมกิจกรรมต่อลมหายใจเด็กที่ถูกละเมิดสิทธิในสังคมไทย กับกิจกรรมผ้าป่าบ้านอุ่นรัก ทำได้โดย 1.ส่งมอบเงินผ่านคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 2.เช็คสั่งจ่าย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 3.ธนาณัติในนาม มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก สั่งจ่ายปณ.บางกอกใหญ่ 4.โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารในนามมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
-ธนาคารไทยพาณิชย์ (ออมทรัพย์-สาขาท่าพระ) เลขที่บัญชี 017-2-35098-3
-ธนาคารกสิกรไทย (ออมทรัพย์-สาขาโพธิ์สามต้น) เลขที่บัญชี 067-2-51383-9
-ธนาคารกรุงเทพ (ออมทรัพย์-สาขาบางกอกน้อย) เลขที่บัญชี 119-0-63365-9
-ธนาคารกรุงไทย (ออมทรัพย์-สาขาสำนักนานาเหนือ) เลขที่บัญชี 000-1-89258-4
กรณีโอนเงินเข้าบัญชี กรุณาโทรแจ้งหรือแฟกซ์ใบโอนเงิน พร้อมชื่อที่อยู่มายังมูลนิธิฯ เพื่อออกใบเสร็จรับเงิน หรือติดต่อฝ่ายพัฒนาองค์กร โทร. 0-2412-0739, 0-2412-1196 แฟกซ์ 0-2412-9833 หรือ[email protected]
.............................................................
ประเทศไทยมีกฎหมายมากมาย และมีหลายองค์กรรัฐที่ระบุให้ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเด็ก แต่สถานการณ์ปัญหายังคงทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ตราบเท่าที่สังคมยังไม่ร่วมกันยื่นมือเข้ามาดูแลเด็กปกป้องเด็กเหล่านี้ ไม่ใช่หวังเพียงแค่คนในครอบครัว ครูในโรงเรียน มูลนิธิองค์กรต่าง ๆ .
กำหนดการทอดผ้าป่า