เจาะเบื้องหลังสันติบาลเก็บข้อมูล นศ.มุสลิม
ห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความมั่นคงที่น่าสนใจ 2 ข่าว
หนึ่ง คือ ข่าวการออกหมายจับเพิ่มคดีลอบวางระเบิดหน้าสถานที่ราชการสำคัญและย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เมื่อวันที่ 1 และ 2 ส.ค.62 ที่ผ่านมา โดยล่าสุดศาลอนุมัติหมายจับเพิ่มอีก 5 คน
สอง คือ ข่าวที่นักสิทธิมนุษยชนออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านกรณีตำรวจสันติบาลส่งหนังสือขอข้อมูลนักศึกษามุสลิมในสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติทางศาสนา
2 ข่าวนี้มีความเกี่ยวข้องกัน เริ่มจากข่าวแรกก่อน ศาลอนุมัติหมายจับเพิ่มในคดีระเบิดกรุงเทพฯ ซึ่งมีทั้งระเบิดสังหารและระเบิดเพลิง โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ย.62 ศาลอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มอีก 5 คน เป็นระดับสั่งการ ทั้ง 5 คนมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนราธิวาส 4 คน ปัตตานี 1 คน
ตลอดระยะเวลา 1 เดือน 22 วันที่ตำรวจคลี่คลายคดีนี้ มีการออกหมายจับผู้ต้องหามาแล้ว 4-5 ล็อต ผู้ต้องหาทั้งหมด 21 คน จับกุมได้ 3 คน ทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนับถือศาสนาอิสลาม
ปฏิบัติการลอบวางระเบิดในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลหนนี้ แม้ความเสียหายจะไม่มากนัก เพราะระเบิดเพลิงที่วางไว้ในย่านการค้าส่วนใหญ่ทำงานไม่สมบูรณ์ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นการลอบวางระเบิดในพื้นที่เมืองหลวงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง และกระจายกันวางหลายจุดมากที่สุดครั้งหนึ่งด้วยเช่นกัน
เหตุการณ์ครั้งนี้ตำรวจระบุว่ามีการวางแผนจากนอกประเทศ (ในประเทศเพื่อนบ้าน) และใช้ทีมปฏิบัติการมากกว่า 20 คน โดยมี "มาสเตอร์มายด์" หรือ "ผู้บงการ" ซึ่งยังไม่รู้ว่าเป็นใคร
การใช้คนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นมุสลิมทั้งหมดมาวางระเบิดถึงในกรุงเทพฯนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการวางแผนเดินทาง การจัดหาที่พัก การ "เคสซิ่ง" หรือกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการก่อเหตุ และการวางแผนหลบหนี ทำให้ในช่วงแรกเจ้าหน้าที่สงสัยว่าอาจจะมีกลุ่มการเมืองหรือพวกที่เคลื่อนไหวทางการเมือง "ฮาร์ดคอร์" อยู่เบื้องหลัง หรือร่วมวางแผน
แต่ปรากฏว่าข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ได้รับมาล่าสุดพบว่า หนึ่งในผู้ต้องหาคนสำคัญในปฏิบัติการระเบิดกรุงเทพฯ และถูกออกหมายจับแล้ว เคยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังด้วย โดยผู้ต้องหารายนี้เรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ เคยทำงานให้สายการบินแห่งหนึ่งในตำแหน่งช่างซ่อมอากาศยาน และมีบัตรเข้าออกสนามบินแห่งหนึ่งด้วย
ข้อมูลนี้สร้างความหนักใจให้กับฝ่ายความมั่นคงมากพอสมควร เพราะถือว่าทำลายทฤษฎีเดิมๆ ที่เคยเชื่อมาทั้งหมด กลายเป็นว่าทุกวันนี้คนในเครือข่ายขบวนการก่อความไม่สงบภาคใต้มาเล่าเรียน ตั้งถิ่นฐาน และทำงานในกรุงเทพฯมากมาย ที่สำคัญการมาเล่าเรียน ไม่ใช่เรียนในมหาวิทยาลัยเปิดย่านหัวหมาก และรวมตัวกันอาศัยเป็นกลุ่มก้อนในชุมชนย่านรามคำแหงเหมือนแต่ก่อนเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ได้กระจายไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังด้วย
เช่นเดียวกับคนที่มาทำงานในกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ทำงานเฉพาะเป็นลูกจ้างรายวัน รายเดือน หรือประกอบอาชีพอิสระเหมือนเมื่อก่อน เพราะปัจจุบันมีคนในขบวนการทำงานเกี่ยวกับสายการบินและอากาศยาน
นี่คือแรงกดดันหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงต้องเร่งปรับแผน ขณะที่ภายในสิ้นปีนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ผู้นำคริสตจักรโรมันคาทอลิก จะเสด็จเยือนประเทศไทย ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ฝ่ายความมั่นคงต้องเร่งยกระดับมาตรการความปลอดภัย
แต่ปัญหาก็คือ วิธีการป้องกันการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบและการก่อการร้ายจากทั้งในและนอกประเทศจะทำอย่างไร
ปรากฏว่าวิธีการหนึ่งที่ตำรวจสันติบาลเลือกใช้ คือตรวจสอบข้อมูลนักศึกษามุสลิม ทั้งจำนวนคนและกิจกรรมที่พวกเขาทำ โดยส่งหนังสือไปยังสถาบันการศึกษาให้ช่วยดำเนินการ
แน่นอนว่าเมื่อหนังสือนี้หลุดออกสู่สื่อสังคมออนไลน์ ก็มีปฏิกิริยาจากประชาคมมุสลิมในประเทศไทย โดยเฉพาะจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงนักสิทธิมนุษยชนทั้งหลายทันที
แม้ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะออกมาชี้แจงว่า เป็นเรื่องของการจัดทำฐานข้อมูลด้านข่าวกรองตามปกติ ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิ์ใครเลยก็ตาม โดยสาเหตุที่ต้องทำเพราะไม่มีฐานข้อมูลที่เรียกว่า Big data จึงขอให้เห็นใจเจ้าหน้าที่ด้วย ยืนยันว่าไม่ใช่การจับผิด เพราะถ้าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ก็ไม่มีใครไปทำอะไรได้
แต่ปรากฏว่าคำชี้แจงของนายกฯ ไม่ได้ช่วยให้กระแสความไม่พอใจลดน้อยลง จึงทำให้เกิดคำถามว่าสิ่งที่ตำรวจสันติบาลดำเนินการนั้น ถูกต้องเหมาะสมจริงหรือไม่
แหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง ยอมรับว่าการดำเนินการของสันติบาลถือว่าไม่เหมาะสม เพราะการสำรวจต้องทำทางลับ แต่ยืนยันว่าเป็นมาตรการระวังป้องกันตามปกติ เพราะเพิ่งเกิดระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯ และคนที่ก่อเหตุเดินทางขึ้นมาจากภาคใต้ทั้งหมด และมีอย่างน้อย 1 คนเข้ามาเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยชั้นนำด้วย จึงต้องมีการตรวจสอบนักศึกษาจากภาคใต้เหล่านี้
ฉะนั้นเนื้อแท้ของการสำรวจจึงไม่เกี่ยวกับศาสนา แต่บังเอิญผู้ก่อเหตุระเบิดในกรุงเทพฯทั้งหมดเป็นศาสนาเดียวกัน การกำหนดความต้องการขอรับข้อมูลจึงต้องใช้กลุ่มตัวอย่างที่ก่อเหตุมาเป็นตัวตั้ง และกลายเป็นหัวข้อการขอความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา ซึ่งจริงๆ แล้วกลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาศึกษาต่อในไทย ทางฝ่ายความมั่นคงก็มีการตรวจสอบและเก็บข้อมูลด้วยเช่นกัน
เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง ย้ำด้วยว่า การสำรวจข้อมูลถือเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ เพราะจะเป็นการแยกกลุ่มที่ต้องการศึกษาเล่าเรียนจริงๆ กับพวกที่อาศัยคราบนักศึกษาเป็นฉากบังหน้า แต่จริงๆ แล้วมีเป้าหมายก่อเหตุรุนแรง และจะได้เฝ้าระวังการเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายจากนอกประเทศที่ใช้สถานะนักศึกษาเป็นเกราะกำบังด้วย จึงอยากให้กลุ่มที่ออกมาคัดค้าน รวมถึงนักสิทธิมนุษยชน ช่วยกันตรวจสอบ แยกแยะ และแจ้งเบาะแสให้เจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งก็จะแก้ปัญหาที่ถูกมองว่าเป็นการเหมารวม และยังช่วยป้องกันเหตุร้ายไม่ให้เกิดขึ้นอีก
เพราะเหตุรุนแรงเหล่านี้กระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ส่งผลต่อเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ
------------------------------------------------------------------------------------
ประมวลเหตุผลนักสิทธิฯ ค้านเลือกปฏิบัติทางศาสนา
ตลอดระยะเวลากว่า 1 สัปดาห์ที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ ปรากฏว่ามีเหตุผลมากมายจากนักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะ อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเนิ่นนาน สรุปได้ดังนี้
- เป็นการเลือกปฏิบัติทางศาสนา
- เป็นการแทรกแซงสิทธิความเป็นส่วนตัว
- เป็นอคติและสร้างความหวาดระแวงให้กับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม
- แทรกแซงสถาบันการศึกษาซึ่งต้องมีเสรีภาพทางวิชาการ
พร้อมขยายความว่า เรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนาได้รับการคุ้มครองทั้งจากรัฐธรรมนูนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การที่บุคคลใดจะนับถือศาสนาใดหรือนิกายใด หรือเป็นคนที่ไม่นับถือศาสนาใด ย่อมเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล
ต่อมาเมื่อรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกมายอมรับว่าสันติบาลส่งหนังสือขอข้อมูลนักศึกษามุสลิมไปยังสถาบันอุดมศึกษาจริง และยังบอกว่าไม่ได้ทำกับมหาวิทยาลัยเดียว แต่ดำเนินการกับหลายๆ มหาวิทยาลัยโดยไม่มีนัยสำคัญใดๆ ปรากฏว่ากระแสจากกลุ่มนักสิทธิ์ฯ ก็ยังคงคัดค้านอย่างเข้มข้นด้วยเหตุผลเพิ่มเติม คือ
- หากไม่มีนัยสำคัญใดๆ ในการขอทราบข้อมูล สันติบาลควรขอทราบข้อมูลของนักศึกษาทุกศาสนาในสถาบันการศึกษา
- เป็นการสร้างความหวาดกลัวคนที่นับถือศาสนาอิสลาม (Islamophobia)
พร้อมกันนี้ยังมีข้อเสนอให้หน่วยงานรัฐควรเร่งสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนา หรือ Interfaith ให้มากขึ้นเพื่อลดความหวาดระแวงและเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของทุกศาสนิกในสังคม และหากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาหรือป้องกันความรุนแรงจากแนวคิดสุดโต่ง (prevention violence extremism) ก็ควรต้องเริ่มจากการยอมรับว่า แนวคิดสุดโต่งมีในกลุ่มคนทุกศาสนา และการป้องกันที่ดีที่สุดคือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ลดความหวาดระแวง และสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันสังคมจากการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ จึงไม่สมควรกระทำการใดๆ อันเป็นการเพิ่มความหวาดระแวงและความไม่ไว้วางใจของประชาชนเพียงด้วยเหตุผลทางความมั่นคง
รวมตัวร้อง "ช่อ" ใช้กลไก กมธ.กฎหมายฯตรวจสอบ
ขณะเดียวกันเรื่องนี้น่าจะยังไม่จบง่ายๆ เมื่อ นายอัสรอฟ อาแว ประธานสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสิลิมแห่งประเทศไทย เข้าร้องเรียนเรื่องนี้กัคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โดยยื่นหนังสือผ่าน "ช่อ" พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ พร้อมเรียกร้องให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาลหยุดการดำเนินการในเรื่องนี้
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯฯ เพื่อตรวจสอบทั้งในแง่กฎหมาย ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 27 บัญญัติไว้ไม่ให้เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะโดยเชื้อชาติ ศาสนา และเพศ ฉะนั้นการดำเนินการของตำรวจสันติบาลจึงถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ