หมอชนบทค้าน สธ.สร้าง รพ.ชุมชน 54 อำเภอเกิดใหม่
สธ.เผยปี 54 ทุ่มงบ 500 ล้านสร้าง รพ.ชุมชน 54 อำเภอเกิดใหม่ หมอชนบทออกโรงค้านจำเป็นแค่ 10 แห่ง ที่เหลือแนะยกระดับ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลแทน ผอ.สำนักวิจัยเตือนซ้ำเติมภาวะขาดทุนของ รพ.ในสังกัด
จากการที่ นายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่าในปี 2554 สธ.มีนโยบายก่อสร้างโรงพยาบาลชุมชนเพิ่มอีก 54 แห่งในพื้นที่ซึ่งแยกอำเภอใหม่และยังไม่มีโรงพยาบาล เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลได้มากขึ้น โดยใช้งบประมาณกระทรวงจำนวน 500 ล้านบาท เบื้องต้นจะเป็นการก่อสร้างและเปิดบริการเฉพาะผู้ป่วยนอกก่อน ยังไม่เต็มรูปแบบ และจะค่อยๆขยาย ซึ่งงบประมาณที่จะนำมาจัดสร้างเพิ่มเติมจะมีการเจราจากับสำนักงบประมาณต่อไป
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. กล่าวว่าสำหรับโรงพยาบาลชุมชนแห่งใหม่ เป็นคนละส่วนกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) และเป็นคนละส่วนกับงบดำเนินการโรงพยาบาลที่จะจัดสรรมาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่าปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยมีการขยายอำเภอมากขึ้น ซึ่งบางอำเภอมีระยะทางห่างไกลไม่มาก ถ้าหากกระทรวงสาธารณสุขต้องตามสร้างโรงพยาบาลในทุกอำเภอที่เกิดใหม่นั้น จะทำให้งบประมาณกลายเป็นเบี้ยหัวแตก แม้ว่าจะไม่ได้เปิดบริการผู้ป่วยใน แต่การเปิดผู้ป่วยนอกก็ใช้งบประมาณในการก่อสร้างอาคารกว่า 10 ล้านบาทแล้ว ทั้งยังกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุข เพราะการเปิดโรงพยาบาลไม่ได้มีแค่อาคารเท่านั้น แต่ยังรวมอุปกรณ์การแพทย์และบุคลากรที่ถูกเฉลี่ยออกไป ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงควรคิดให้เป็นระบบมากกว่านี้ โดยแบ่งกลุ่มอำเภอที่จำเป็นต้องมีโรงพยาบาลจริงๆ เพราะอำเภอใหม่ 54 แห่งนั้น ตามข้อมูลเห็นว่ามีอำเภอที่จำเป็นต้องมีโรงพยาบาลใหม่จริงๆแค่ประมาณ 10 อำเภอเท่านั้น ส่วนอำเภอใหม่ที่เหลือนั้นควรใช้วิธิการปรับเปิดเป็นโรงพยาบาลสาขาย่อยแทน หรือยกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นโรงพยาบาลชุมชนแทน
“ผมเห็นด้วยกับนโยบายนี้ แต่ต้องเปิดเฉพาะในพื้นที่ที่จำเป็นจริงๆ เพราะขณะนี้หลายฝ่ายกังวลว่า การเปิดโรงพยาบาลในพื้นที่ซึ่งประชากรน้อย ในที่สุดจะกลายเป็นเพียงแค่อนุสาวรีย์เท่านั้น ทั้งยังเป็นภาระกระทรวงต้องแบกรับระยะยาว ขณะที่โรงพยาบาลที่เปิดอยู่ในจังหวัดเดียวกันก็จะกลายเป็นเตี้ยอุ้มคร่อมจาก งบประมาณดำเนินงานที่ถูกแบ่งแยกออกไป” ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว
ด้าน นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย กล่าวว่าในด้านหนึ่งนั้นการขยายหน่วยบริการทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลมากขึ้น และต้องคิดว่าทำอย่างไรให้หน่วยบริการที่ขยายออกไปมีประสิทธิภาพ แต่อีกด้านหนึ่งการเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ในพื้นที่อำเภอจัดตั้งใหม่ที่มีการแบ่งประชากร ย่อมต้องมีการแบ่งแยกงบประมาณจากพื้นที่เดิม ทำให้งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวประชากรถูกดึงจากหน่วยบริการเดิมไปด้วย ทั้งนี้ปัจจุบันโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขยังมีปัญหาขาดทุนอยู่ การเปิดโรงพยาบาลใหม่หากบริหารจัดการไม่ดีพอก็อาจซ้ำเติมภาวะขาดทุน อย่างไรก็ตามเบื้องต้นหากยังเป็นการเปิดบริการเฉพาะผู้ป่วยนอก เชื่อว่าจะยังไม่ส่งผลกระทบมากนัก
“ที่มาของการเปิดโรงพยาบาลรัฐแห่งใหม่นั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการร้องขอของชาวบ้านผ่าน สส.ในพื้นที่ที่อยากมีโรงพยาบาล อยากมีหมอรักษา และ สส.เองก็กดดันให้กระทรวงจัดตั้งโรงพยาบาลในพื้นที่ตนเอง ซึ่งการที่กระทรวงสาธารณสุขเปิดโรงพยาบาลชุมชนแห่งใหม่ให้บริการเฉพาะผู้ป่วยนอกก็ถือเป็นทางออกที่ดี” นพ.สัมฤทธิ์ กล่าว .