กรณีตัวอย่าง:เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง จ.เพชรบุรี โมเดลนำร่อง ส่งคืนคนดีสู่สังคม
"...เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เป็นเรือนจำหนึ่งที่ใช้มิติทางสังคมเข้ามาช่วยในกิจกรรมการคืนคนดีสู่สังคม เจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งใน อ.แก่งกระจาน ให้แนวความคิดว่า การจะให้สังคมยอมรับพวกเขา ถ้าไม่สร้างสังคมให้ประชาชนได้เข้ามาสัมผัสกับพวกเขาแล้วจะเอาใครมายอมรับ ฉะนั้นการพัฒนาเรือนจำแห่งนี้ในยุคเริ่มต้นจึงเริ่มจากศาสตร์พระราชา โครงการเศรษฐกิจพอเพียง มีฐานการเรียนรู้ทั้งทางด้านเกษตรกรรม ปศุสัตว์ นวัตกรรรม บ้านดิน ไม่น้อยกว่า 50 ฐาน โดยให้ผู้ต้องขังได้เรียนรู้และทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้กับประชาชนที่ได้มาเยี่ยมชม และพัฒนาต่อยอดเป็นการเปิดเรือนจำชั่วคราวเขากลิ้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งการศึกษาจึงถือเป็นกุศโลบายหนึ่งที่ได้สร้างสังคมให้ผู้ต้องขังได้พบปะประชาชนและถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ จนประชาชนให้การยอมรับและให้กำลังใจผู้ต้องขังทุกครั้งเมื่อได้รับการเยี่ยมชม ประชาชนไม่มีความรู้สึกเกรงกลัวผู้ต้องขังเพราะคิดว่าพวกเขาเสมือนเพื่อนมนุษย์ที่เมื่อพลาดพลั้งไปแล้ว ควรจะให้โอกาส ให้กำลังใจ ซึ่งเป็นนิสัยของคนไทย สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะบำบัดจิตใจให้พวกเขากลับตัวเป็นคนดีได้..."
ภารกิจการคืนคนดีสู่สังคมของกรมราชทัณฑ์ ถือได้ว่าเป็นภาระอันหนักหน่วงที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ที่กระทำผิดให้กลับมาเป็นคนดีคืนสู่สังคม ในอดีตกรมราชทัณฑ์มีภารกิจเพียงแค่การควบคุมผู้ที่กระทำผิดทั้งผู้ที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีและผู้ที่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ความคาดหวังของสังคมต้องการให้กรมราชทัณฑ์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้บุคคลเหล่านี้เป็นคนดี โดยหวังว่าเมื่อพวกเขาพ้นโทษไปแล้วจะทำให้สังคมปลอดภัย ในการดำเนินการเราเรียกกันว่า “การพัฒนาพฤตินิสัย” ซึ่งจะมีรูปแบบของการฝึกวินัยเพื่อให้เกิดความรักความสามัคคี จัดระเบียบการใช้ชีวิตให้อยู่ในกรอบของสังคม มีการฝึกวิชาชีพเพื่อให้เมื่อพ้นโทษจะได้มีอาชีพที่สุจริตทำ มีการฝึกอบรมทางด้านจิตใจด้วยหลักสูตรสัคคสาสมาธิ ของหลวงพ่อวิริยัง เพื่อกลัดเกลาจิตใจให้รู้จักคิดรู้จักทำ รู้จักข่มใจตนเอง และยังมีโปรแกรมอื่นๆ อีกมากมาย แต่ยังขาดมิติของสังคม ซึ่งเมื่อพ้นโทษไปแล้วถึงแม้จะได้รับขัดเกลาจิตใจและฝึกต่างๆ มากมาย ก็พบว่ามีการหวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก สาเหตุหนึ่งมาจากการไม่ยอมรับของสังคมและที่เลวร้ายที่สุดคือการไม่ยอมรับของครอบครัวและญาติพี่น้อง เมื่อสังคมไม่ยอมรับ พวกเขาเหล่านั้นจึงต้องหันกลับไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมๆ และก่อเหตุกระทำผิดซ้ำ สังคมจึงไม่ปลอดภัย
การพัฒนาพฤตินิสัยจึงไม่ใช่เพียงกรมราชทัณฑ์หรือหน่วยงานภาคีต่างๆ ที่เข้ามาช่วยอบรมในเรื่องต่างๆ เท่านั้น มิติของสังคมจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยื่นมือมาช่วยเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ที่จะทำให้การคืนคนดีสู่สังคมประสบผลสำเร็จ
เรือนจำชั่วคราวเป็นหนึ่งในวิถีของการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยเพื่อคืนคนดีสู่สังคม ปัจจุบันมีเรือนจำชั่วคราวทั่วประเทศมีประมาณ 90 แห่ง
เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เป็นเรือนจำหนึ่งที่ใช้มิติทางสังคมเข้ามาช่วยในกิจกรรมการคืนคนดีสู่สังคม เจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งใน อ.แก่งกระจาน ให้แนวความคิดว่า การจะให้สังคมยอมรับพวกเขา ถ้าไม่สร้างสังคมให้ประชาชนได้เข้ามาสัมผัสกับพวกเขาแล้วจะเอาใครมายอมรับ ฉะนั้นการพัฒนาเรือนจำแห่งนี้ในยุคเริ่มต้นจึงเริ่มจากศาสตร์พระราชา โครงการเศรษฐกิจพอเพียง มีฐานการเรียนรู้ทั้งทางด้านเกษตรกรรม ปศุสัตว์ นวัตกรรรม บ้านดิน ไม่น้อยกว่า 50 ฐาน โดยให้ผู้ต้องขังได้เรียนรู้และทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้กับประชาชนที่ได้มาเยี่ยมชม และพัฒนาต่อยอดเป็นการเปิดเรือนจำชั่วคราวเขากลิ้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งการศึกษาจึงถือเป็นกุศโลบายหนึ่งที่ได้สร้างสังคมให้ผู้ต้องขังได้พบปะประชาชนและถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ จนประชาชนให้การยอมรับและให้กำลังใจผู้ต้องขังทุกครั้งเมื่อได้รับการเยี่ยมชม ประชาชนไม่มีความรู้สึกเกรงกลัวผู้ต้องขังเพราะคิดว่าพวกเขาเสมือนเพื่อนมนุษย์ที่เมื่อพลาดพลั้งไปแล้ว ควรจะให้โอกาส ให้กำลังใจ ซึ่งเป็นนิสัยของคนไทย สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะบำบัดจิตใจให้พวกเขากลับตัวเป็นคนดีได้
สังคมที่สอง คือ การนำเอาตัวผู้ต้องขังออกไปทำงานสาธารณะในพื้นที่ สร้างความรักให้กับคนในชุมชนอันเป็นที่ตั้งของเรือนจำจนทำให้คนในชุมชนรักผู้ต้องขังและประชาชนยังได้มีโอกาสเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ จากผู้ต้องขังอีกด้วย เรือนจำเองก็มีส่วนร่วมกับชุมชนในกิจกรรมต่างๆ ทำให้ผู้ต้องขังมีความรู้สึกว่าประชาชนในพื้นที่เป็นญาติของพวกเขา
สังคมที่สาม คือ การนำเอาผู้นำท้องถิ่นบ้านเกิดของผู้ต้องขังมาทำกิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ส่วนนี้ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่เราจะส่งผู้ต้องขังนี้ออกไปยังชุมชนของเขาเมื่อพ้นโทษ เราถ่ายทอดให้ผู้นำท้องถิ่นว่าท่านจะต้องดูแลคนเหล่านี้ อย่าไปรังเกียจ สร้างการยอมรับพวกเขาให้ได้ เพื่อให้พวกเขาได้มีที่ยืนในสังคมและอาจมีกิจกรรมในการให้ครอบครัวและตัวผู้กระทำผิดมาให้คำมั่นกับชุมชนว่าจะไม่กระทำผิดซ้ำอีก หลังพ้นโทษผู้นำชุมชนก็จะมารับผู้พ้นโทษกลับเข้าสู่สังคม ทำกิจกรรมสร้างการยอมรับและสังคมจะช่วยกันดูแล ช่วยเหลือ ไม่ให้คนเหล่าหวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก
เมื่อโครงการได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในข่าย “ดีเด่น” การตรวจประเมินของสำนักงาน ก.พ.ร.จึงเริ่มขึ้นอย่างเข้มข้น โดยมีผู้แทนภาคเอกชน (นักธุรกิจ) จำนวน 2 คน และเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน ก.พ.ร. อีก 1 คน ใช้เวลาในการตรวจประเมินประมาณ 4 ชั่วโมง โดยได้รับการนำเสนอจากผู้ต้องขังตามฐานการเรียนรู้ต่างๆ การนำเสนอจากหัวหน้าเรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง และการนำเสนอจากผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ถึงแนวคิดในการพัฒนาพฤตินิสัยด้วยการใช้ระบบเรือนจำชั่วคราว รวมถึงได้ซักถามผู้มีส่วนได้เสีย ประกอบด้วย ผู้ต้องขัง ญาติผู้ต้องขัง ผู้ที่มาเยี่ยมชม ซึ่งในวันดังกล่าวเป็นกลุ่มเกษตรกรจากจังหวัดระนอง กำนันท้องถิ่น เจ้าอาวาส นายกเทศมนตรีในท้องถิ่นที่อยู่ของผู้ต้องขัง จนกรรมการเกิดความประทับใจในผลการพัฒนาคุณภาพการบริการภาครัฐ และยังให้การสนับสนุนว่าควรจะนำ แนวคิดเรื่องการแก้ไขพฤตินิสัยของผู้ต้องขังโดยใช้รูปแบบการดำรงชีวิตในเรือนจำระบบเปิดเพื่อสร้างการยอมรับจากสังคม ไปเป็น MODEL ในการคืนคนดีสู่สังคมตามนโยบายของกรมราชทัณฑ์ และควรตั้งเป้าหมายไว้ว่า คนที่พ้นโทษจากเรือนจำชั่วคราวจะต้องไม่กระทำผิดซ้ำ
13 ก.ย. 2562 พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เข้ารับรางวัลบริการภาครัฐ ประเภทการพัฒนาการบริการ ระดับดีเด่น ของสำนักงาน ก.พ.ร.จากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมเปิดเผยว่าจะมุ่งพัฒนาเรือนจำชั่วคราวอื่นๆ ให้มีรูปแบบเช่นเดียวกับเรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสังคมจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาพฤตินิสัยร่วมกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อจะคืนคนดีสู่สังคม สร้างสังคมให้เกิดความปลอดภัยต่อไป
รอดูและติดตาม นโยบายนี้ของกรมราชทัณฑ์