"อดุลย์"หนุน"แม่ทัพ4"คุมดับไฟใต้ ย่อส่วน ศอ.บต.ใต้ร่ม กอ.รมน.
ว่าที่ ผบ.ตร.ออกโรงแนะจัดโครงสร้างองค์กรดับไฟใต้ใหม่ เหตุยังไร้ "ซีอีโอ" เปรียบเหมือนทีมฟุตบอลที่มีแต่นักเตะแต่ไม่มีโค้ช หนุนให้อำนาจ "แม่ทัพภาค 4" คุมเบ็ดเสร็จ ดึง ศอ.บต.ให้อยู่ใต้ร่ม กอ.รมน.ส่วนระดับนโยบายต้องเลือกเฟ้น "คนดี" ลงไปทำงาน ตั้งแต่ทหาร ตำรวจ ไปจนถึงผู้ว่าฯ นายอำเภอ
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปะทุรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จนทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจตั้ง "ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ขึ้น เพื่อบูรณาการและแก้ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะประชุมนัดแรกวันที่ 8 ส.ค.นี้ ท่ามกลางการจับตาของหลายฝ่ายเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรบริหารใหม่ในภารกิจดับไฟใต้นั้น
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ว่าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ปัญหาข้อหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนของสถานการณ์ภาคใต้คือปัญหาด้านการบริหารจัดการ เนื่องจากการจัดโครงสร้างหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหามีความผิดพลาด จึงต้องปรับโครงสร้างใหม่โดยเร็ว
พล.ต.อ.อดุลย์ ขยายความว่า ภารกิจดับไฟใต้ในวันนี้ ถามว่าใครเป็น "ซีอีโอ" ถามว่าใครเป็น "โค้ช" เรามีบุคคลสำคัญ 2 คนนี้หรือยัง คำตอบคือยังไม่มี เนื่องจากโครงสร้างการบริหารงานค่อนข้างสับสน ทำให้เกิดความไม่เป็นเอกภาพ
"คิดง่ายๆ ถึงการบริหารงานในรูปแบบบริษัท ทุกบริษัทต้องมีซีอีโอ (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) ซึ่งมีอำนาจสั่งการและควบคุมการดำเนินงานทั้งหมด หรืออย่างทีมฟุตบอลก็ต้องมีโค้ชคอยแก้เกม แต่ปัญหาภาคใต้วันนี้เราเห็นแต่นักเตะ ยังหาโค้ชไม่เจอ และถ้ามองเปรียบเทียบกับการบริหารงานของบริษัท ก็จะพบว่ามีแต่ผู้จัดการฝ่ายต่างๆ แต่ไม่มีซีอีโอ"
แนะโยก ศอ.บต.อยู่ใต้ร่ม กอ.รมน.
ว่าที่ ผบ.ตร.กล่าวต่อว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้การบริหารงานเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เป็นเอกภาพ ก็คือ กฎหมาย ศอ.บต. (พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553) ที่ให้อำนาจศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นองค์กรบริหารอีกแท่งหนึ่งคู่กับ กอ.รมน.(กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ทำให้การบริหารจัดการในพื้นที่ไม่เป็นเอกภาพ และไม่มีใครมีอำนาจตัดสินใจได้อย่างเบ็ดเสร็จ
"กอ.รมน.ก็มีแท่งเป็นของตนเอง ศอ.บต.ก็เป็นอีกแท่งหนึ่ง เลขาธิการ ศอ.บต.เป็นข้าราชการพลเรือนระดับ 11 สูงกว่าแม่ทัพ อย่างนี้เวลานั่งประชุมร่วมกันทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ และพลเรือน ใครจะนั่งหัวโต๊ะ มันเป็นปัญหาจริงๆ ไม่มีใครมีอำนาจทุบโต๊ะสั่งการได้ เวลาเกิดเหตุรุนแรงขึ้นก็ไม่รู้จะให้ใครตอบหรือสื่อสารกับสังคม"
พล.ต.อ.อดุลย์ เสนอว่า ในความเห็นของเขา อยากให้ กอ.รมน.เป็นร่มใหญ่ที่สุด คือเป็นเจ้าภาพในภารกิจดับไฟใต้ แล้วดึง 17 กระทรวง 66 หน่วยงานเข้ามา โดย ศอ.บต.ต้องอยู่ใต้ร่มของ กอ.รมน.ด้วย และในระดับพื้นที่ต้องให้อำนาจแม่ทัพภาคที่ 4 มีอำนาจสูงสุด ควบคุมหน่วยปฏิบัติทุกหน่วยให้ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน พูดง่ายๆ คือให้แม่ทัพภาคที่ 4 เป็น "ซีอีโอ" นั่นเอง เนื่องจากมีความพร้อม และมีอำนาจสั่งการกำลังพลทั้งหมดภายใต้กลไก กอ.รมน.ซึ่งมีทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4
เตือนอย่าชิงการนำ-ต้องเดินไปพร้อมกัน
"การแก้ไขปัญหาภาคใต้ต้องเดินไปพร้อมกัน ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร จะแยกกันเดินไม่ได้ จึงอยากสะท้อนปัญหาให้เห็นในฐานะผู้ปฏิบัติที่เคยผ่านงานมา โดยในยุคที่ผมอยู่นั้น ก็ให้แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้นำ ผมซึ่งเป็นตำรวจก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาใหญ่ จะชิงการนำกันไม่ได้"
"ทุกวันนี้ผมพ้นหน้าที่ตรงนั้นมาแล้ว แต่ในฐานะรองผบ.ตร. หากต้องลงพื้นที่ก็ต้องให้ ผบ.ทบ. (ผู้บัญชาการทหารบก) เป็นผู้นำ เรื่องแบบนี้ผมยอม เพราะผมมองงานเป็นหลัก ผมจึงอยากให้ทุกหน่วยเอาเรื่องงานเป็นตัวตั้งด้วย ถ้าทำได้ก็จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น และอยากเห็นภาพการนั่งร่วมโต๊ะหารือกันของ ผบ.ทบ.ในฐานะตัวแทนทหาร ผบ.ตร.ในฐานะตัวแทนฝ่ายตำรวจ และปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะตัวแทนฝ่ายปกครอง"
"ส่วนในระดับพื้นที่ก็ต้องให้แม่ทัพนั่งหัวโต๊ะ มีผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศชต.) กับเลขาธิการ ศอ.บต.นั่งขนาบซ้ายขวา" พล.ต.อ.อดุลย์ ระบุ
จี้ส่ง"คนดี-ผ่านการฝึก"ลงไปทำหน้าที่
สำหรับในระดับนโยบายนั้น พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะจัดตั้งขึ้น อยากให้ทำหน้าที่เหมือน "โค้ช" และมี "หัวหน้าโค้ช" คอยกำกับทิศทางการทำงาน สิ่งสำคัญคือรับผิดชอบการแต่งตั้งโยกย้ายด้วยการส่งคนดีลงไปทำหน้าที่
"ตอนนี้นโยบายยุทธศาสตร์ของเราถูกต้องอยู่แล้ว ขาดแต่เพียงโค้ชเท่านั้น และโค้ชต้องพยายามเลือกสรรคนดีลงไปแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เฉพาะตำแหน่งหัวๆ อย่างแม่ทัพหรือผู้บัญชาการตำรวจในพื้นที่ แต่ต้องรวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอด้วย ต้องใช้คนพิเศษที่ผ่านการฝึกอบรมมา ไม่ใช่ส่งใครลงไปก็ได้ คิดว่าถ้าทำอย่างนี้ได้ สถานการณ์ภาคใต้จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว" ว่าที่ ผบ.ตร.กล่าวในที่สุด
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ พล.ต.อ.อดุลย์ จากศูนย์ภาพเนชั่น