ที่มาของฉัน palliative care 'วิ่งด้วยหัวใจเพื่อผู้ป่วยระยะท้าย'
การรักษาแบบประคับประคอง จะดีทั้งกับตัวคนไข้ และญาติๆ แม้จะรักษาฟรี แต่ทุกอย่างอย่าลืมว่ามีค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเดินทาง ลางาน ไม่ได้ทำงาน หรือแม้แต่ความเสียอกเสียใจ ที่มักได้ยินกันบ่อย คือ ขอเวลาทำใจ แต่เวลาที่นานเกินไป มันกลายเป็นความเสียใจที่ยืดเยื้อ ไม่จบไม่สิ้น
ทำไมกลุ่มหมอและพยาบาล ซึ่งดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายถึงออกมาจัดงาน วิ่งด้วยหัวใจเพื่อผู้ป่วยระยะท้าย palliative care run 2019 ในวันที่ 12 ตุลาคม 2562 ณ. บึงศรีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย รวมถึงโครงการวิ่ง Virtual Run กำหนดเวลาวิ่งสะสมระยะ 120 วัน (อ่านประกอบ:วิ่งที่ไหนก็ได้เก็บระยะทาง virtual run https://race.thai.run/palliativecarerun2019)
“เราอยากให้คนในสังคมปรับเปลี่ยนทัศนคติ โดยสนใจว่า โอกาสสุดท้าย เราควรเตรียมตัว และ มีทางเลือก อย่างไรได้บ้าง palliative care Mini Marathon จึงเป็นการสร้างความตระหนักเพื่อให้คนรู้จักคำนี้ palliative care ผู้ป่วยระยะท้าย ทำอย่างไรให้คนไข้อยู่อย่างสบายช่วงระยะเวลาท้ายของเขา ให้เขาจากไปสงบ ไม่ทุกข์ทรมาณ และสร้างความเข้าใจกันในครอบครัวไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน"
นพ.อรรถกร รักษาสัตย์ ศูนย์การุณรักษ์โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงจุดประสงค์ของโครงการ palliative care Mini Marathon วิ่งด้วยใจให้ผู้ป่วยระยะท้าย 2019 ที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนรู้จัก รับรู้ประโยชน์ และรับทราบช่องทางการเข้าถึงการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (palliative care) และการวางแผนดูแลล่วงหน้า (Advance care Plan),เสริมสร้างความเข้มแข็งของงานดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในระดับโรงพยาบาล จังหวัด และประเทศ รวมถึงนำรายได้มาช่วยเหลือผู้ป่วยระยะประคับประคอง เช่น จัดซื้อเครื่องผลิตออกซิเจน ชุดอุปกรณ์ป้องกันแผลกดทับในผู้ป่วยที่ติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
สำหรับศูนย์การุณรักษ์โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 โดยจัดตั้งเป็นหน่วยชื่อการุณรักษ์ โดยมีสำนักงานอยู่ที่ชั้น 17 อาคารศรีนครินทราบรมราชานุสรณ์ ในเบื้องต้นคณะแพทย์ได้ให้ รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุลจากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ เป็นหัวหน้าหน่วย ผลการดำเนินงานพบมีจำนวนผู้ป่วยเข้ามารับการปรึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปัจจุบันได้พัฒนาขึ้นเป็นศูนย์บริการการแพทย์เฉพาะทางชั้นเลิศการุณรักษ์ มีสำนักงานที่ชั้น 18 อาคารศรีนครินทราบรมราชานุสรณ์
เกือบ 10 ปี นพ.อรรถกร ชี้ว่า การรับรู้ของประชาชนในเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย หรือ palliative care มีค่อนข้างจำกัด "ภาคประชาชน แม้แต่ในโรงพยาบาลเอง บางส่วนไม่รู้ว่า palliative care คืออะไร จะเข้าใจแต่ว่า หากป่วยหนักมาต้องเข้ารับการรักษาอย่างเต็มที่ เข้าห้องไอซียู ขณะที่สิ่งที่พบเจอคนไข้จำนวนเยอะที่เรารู้ ถึงรักษาไปเขาก็ไม่ดีขึ้น"
การทำงานที่ผ่านมา แม้ว่าจะพยายามสร้างเครือข่าย อบรมไปแล้วไม่ต่ำกว่า 5 พันคนทั่วประเทศ ทั้งอบรมระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แต่ palliative care ก็ยังคงเป็นความรู้ที่ "กระจุกตัว" อยู่ในแต่โรงพยาบาล นพ.อรรถกร บอกว่า กลายเป็นเราทำงานตั้งรับในโรงพยาบาล คนข้างนอกไม่รู้จัก และไม่เคยมีการวางแผนล่วหน้า "ถ้าถึงวันหนึ่งฉันไม่สามารถพูดคุยหรือสื่อสารได้แล้ว ฉันอยากจะให้ใครดูแลฉันอย่างไร"
"ผมต้องการทำงานนี้เชื่อมกับ Allianz Ayudhya ที่เพิ่งออกแคมเปญ ออกประกันตัวใหม่ขึ้นมาสามารถดูแลรักษาพยาบาลที่บ้านได้ คุณมีสิทธิเลือกใช้ช่วงสุดท้ายในชีวิตอย่างไร ผมอยากได้เขามาเป็นเครือข่ายทำงานด้านนี้"
ทั้งนี้ นพ.อรรถกร เคยทำวิจัยผู้ป่วยในโรงพยาบาล 16 แห่งที่เข้าเกณฑ์ผู้ป่วยระยะท้าย พบว่า มีคนไข้ที่นอนโรงพยาบาลเข้าเกณฑ์ palliative care ถึง 20% สาเหตุมาจากโรคมะเร็ง ไตวาย ตับวาย ถุงลมโป่งพอง เป็นต้น ทั้งหมดคือโรคที่ไปต่อลำบาก และเป็นระยะสุดท้ายของโรค
"คนไข้ที่เป็นโรคสมองตีบ เพิ่งพาเครื่องช่วยหายใจตลอดเวลานั้น อยู่แบบนี้เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งเขาทรมานมาก ถูกใส่ท่อ ดูดเสมหะ ดิ้นดึงไม่ได้ มิเช่นนั้นจะถูกจับมัดอยู่บนเตียง มีแผลกดทับต่างๆ ตามตัว ถามว่าผมดูแลทั้ง 20% นี้ได้ไหม ยอมรับว่า เราดูแลได้ไม่หมด
ขณะที่บางแห่งไม่มีศูนย์ palliative care เป็นของตัวเอง แต่มีเตียง ซึ่งในต่างประเทศจะแยก palliative care ออกมาต่างหาก เรียกว่า ฮอสพิซ (Hospice) เพื่อการดูแลแบบ palliative care ดูแลคนไข้ให้สุขสบาย จากไปอย่างสงบไม่ทรมาณ เมื่อรู้ว่าไปต่อไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปทิ่มไปแทงให้เขาเจ็บตัวเพิ่มอีก"
การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง (Palliative care) จึงเป็นรูปแบบการดูแลผู้ป่วยและครอบครัว ที่เผชิญกับความเจ็บป่วยที่คุกคามต่อชีวิต เช่น โรคมะเร็งระยะลุกลาม ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ผู้ป่วยตับวาย ตับแข็ง ผู้ป่วยที่สมองเสียหายไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง ผู้ป่วยสมองเสื่อมที่มีภาวะแทรกซ้อน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ลดความทุกข์ทรมานทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ จิตสังคม และจิตวิญญาณ
ส่วนการวางแผนดูแลล่วงหน้า (Advance care plan) เป็นกระบวนการสื่อสารระหว่างผู้ป่วย ครอบครัว และตัวแทนทีมสุขภาพ วางแผนเลือกเส้นทางการรักษาดูแลรักษาในอนาคตเมื่อตนเองไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะตัดสินใจได้ และโรคดำเนินไปถึงจุดสุดท้ายที่ไม่มีโอกาสจะกลับมามีสติได้ดังเดิม เช่น ผู้ป่วยสมองเสื่อม ผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองแตกหรือสมองขาดเลือด(stroke) ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุแล้วเข้าสู่ภาวะเป็นผัก(vegetative stage)
ฉะนั้น การทำแผนดูล่วงหน้าเปรียบเสมือนเป็นการมอบของขวัญชิ้นสำคัญให้กับครอบครัว ทำให้ครอบครัวไม่ต้องตกอยู่ภายใต้ความดันในสถานการณ์ที่ตัดสินใจได้ยากยิ่ง ทั้งยังเป็นการทำให้ความต้องการของตนเอง เป็นที่รับรู้ ได้รับความเคารพ และได้รับการปฏิบัติตามโดยทีมแพทย์ และครอบครัว Life well, Leave well
นพ.อรรถกร อธิบายต่อถึงกลุ่มคนไข้ที่ต้องวางแผนล่วงหน้า คือกลุ่มคนไข้ที่รักษาไม่หาย หากประเทศพัฒนาแล้วเขาจะรณรงค์ว่า ทุกคนควรจะแผนการดูแลล่วงหน้า
"ยิ่งเราขับรถทุกวันเราไม่รู้วันไหนจะเกิดอะไรขึ้น หากเราไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เราอยากให้เขาดูแลเราอย่างไร ยิ่งไม่เคยพูดไม่เคยบอก จะมีสักกี่คนที่กล้าบอกว่า ปล่อยเราไปเถอะ
ประกอบกัวัฒนธรรมไทยด้วยแล้ว การพูดถึงการวางแผนล่วงหน้าจะหมายถึง ลางร้าย ผู้เฒ่าผู้แก่ บอกหากฉันไม่ไหวพอเถอะ แต่ลูกหลานบอกไม่ต้องพูด อยู่ได้อีกนาน"
ผู้เชี่ยวชาญด้าน Palliative care ระบุว่า วันนี้เราต้องการก้าวที่ค่อนข้างใหญ่ของสังคม เพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิด ทัศนคติ และไม่ได้ปรับเปลี่ยนแค่ในโรงพยาบาลเท่านั้น บุคคลภายนอก ประชาชนต้องตระหนักรู้
"ความกตัญญูไม่ใช่การนำพ่อหรือแม่เข้ารักษาไอซียูเท่านั้น แต่กตัญญูต้องนำพวกเขาไปในทางที่ถูกต้องด้วย"
ยิ่งบ้านเราการรักษาพยาบาลเป็นแบบรักษาฟรี ส่งผลให้โรงพยาบาลมีผลประกอบการขาดทุนมากนั้น นพ.อรรถกร ให้ตัวเลขประกอบว่า 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข จะอยู่ช่วงปีสุดท้ายก่อนคนไข้จะเสียชีวิต
"1 ใน 3 นี้ เราใช้เพื่อยืดชีวิตออกไป โดยรู้ว่า คนไข้ไม่มีทางที่จะดีขึ้น เช่นเดียวกับในโรงพยาบาลห้องไอซียู พบว่า เกินครึ่ง คนไข้อาการไม่ดีขึ้น ไปต่อไม่ได้ ทำอะไรต่อไม่ได้ "
การที่คนไข้อาการไม่ดีขึ้น รักษาไม่หาย นพ.อรรถกร เสนอแนะวิธีการรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งจะดีทั้งกับตัวคนไข้ และญาติๆ "แม้จะรักษาฟรี แต่ทุกอย่างอย่าลืมว่า มีค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเดินทาง ลางาน ไม่ได้ทำงาน หรือแม้แต่ความเสียอกเสียใจ ที่มักได้ยินกันบ่อย ขอเวลาทำใจ แต่เวลาที่นานเกินไป มันกลายเป็นความเสียใจที่ยืดเยื้อ ไม่จบไม่สิ้น ทั้งยังเป็นค่าใช้จ่ายภาครัฐ การที่เราไม่มีการแบ่งสรรทรัพยากรที่เหมาะสม คนไข้ที่มีโอกาสรอดกลับหมดโอกาสนั้นไป
"หากการทำงาน Palliative care ยังไม่ขยับออกไปนอกโรงพยาบาล ไม่ออกไปสู่ภาคประชาชน มัวแต่รอตั้งรับ จะดีกว่าหรือไม่ ให้ประชาชนเข้าใจ มีแผนการดูแลล่วงหน้า ถึงโรงพยาบาลได้รู้ว่าทำอย่างไร ลูกหลานไม่ต้องมาทะเลาะกัน"
ที่มาของ เหรียญงานวิ่งการกุศล palliative care minimarathon & virtual run
เหรียญนี้มีความหมาย...
สัญลักษณ์รูปผีเสื้อ สื่อถึงการดูแลประคับประคอง 4 มิติ อันประกอบไปด้วย ร่างกาย จิตใจ สังคม จิตวิญญาณ และยังมีอีกความหมายถึง ชีวิต ความฝัน และความหวังของทั้งผู้ให้การรักษา ผู้ป่วย และครอบครัว
สัญลักษณ์รูปมือหลากสี สื่อถึงความแตกต่างของบุคคลในแต่ละบริบททางสังคม หน่วยงานต่างๆที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนทุกหน่วยร่วมกันทำงานเพื่อการดูแลประคับประคองที่สมบูรณ์
ดังนั้นโดยภาพรวมเหรียญนี้มีความหมายถึง งานประคับประคองเกิดจากทุกคนทุกฝ่ายร่วมกัน ดังคำที่ว่า palliative care is everyone’s business.
ขอบคุณภาพจาก https://utswmed.org/doctors/all/290/palliative-care/
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
“บ้าน” ความต้องการที่สุดของผู้ป่วยระยะท้าย: กรณีศึกษาสิงคโปร์และมาเลเซีย
พญ.ศรีเวียง ชี้ภาวะคุกคามระบบสุขภาพ ผลสำรวจห้องไอซียู พบผู้ป่วยระยะท้ายถึง 50%
หนังสือ ปฏิเสธการรักษา กับ การดูแล ในวาระสุดท้ายของชีวิต (Living Will & Palliative Care)
Palliative Care รูโหว่ ระบบสุขภาพไทย จี้สปสช.ผลักดันเข้าระบบ 30 บาท
3 ปีสร้างเสร็จ ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ แหล่งพักพิงผู้ป่วยระยะท้าย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/