ก.ค.ป่วนหนักสุดในรอบปี ศอ.บต.ระดมสมองกำหนด"ตัวชี้วัด"ประเมินใหม่ไฟใต้
ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ศจฉ.กอ.รมน.ภาค 4 สน.) รายงานสถิติการเกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ประจำเดือน ก.ค.2555 สรุปว่ามีเหตุรุนแรงทุกประเภทเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 76 เหตุการณ์ น้อยกว่าเดือน มิ.ย.ที่มีเหตุรุนแรงรวม 78 เหตุการณ์
อย่างไรก็ดี ในจำนวนเหตุรุนแรงทั้งหมดของเดือน ก.ค.นี้ เมื่อหักเหตุการณ์ที่สอบสวนเบื้องต้นแล้วเชื่อว่ามีมูลเหตุจากความขัดแย้งส่วนตัวหรือการเมืองท้องถิ่นออกไปจำนวน 14 เหตุการณ์ คงเหลือเหตุรุนแรงที่เป็นเหตุทางความมั่นคง 62 เหตุการณ์ สูงกว่าเดือน มิ.ย.ที่มีเหตุความมั่นคง 57 เหตุการณ์
เหตุความมั่นคงสูงสุดตั้งแต่ต้นปี
ทั้งนี้ หากนับเฉพาะเหตุความมั่นคง พบว่าสถิติการเกิดเหตุในเดือน ก.ค.2555 สูงที่สุดในรอบปี กล่าวคือ
เดือน ม.ค.2555 มีเหตุความมั่นคง 32 ครั้ง
เดือน ก.พ.2555 มีเหตุความมั่นคง 47 ครั้ง
เดือน มี.ค.2555 มีเหตุความมั่นคง 52 ครั้ง
เดือน เม.ย.2555 มีเหตุความมั่นคง 47 ครั้ง
เดือน พ.ค.2555 มีเหตุความมั่นคง 49 ครั้ง
เดือน มิ.ย.2555 มีเหตุความมั่นคง 57 ครั้ง
เดือน ก.ค.2555 มีเหตุความมั่นคง 62 ครั้ง
เมื่อพิจารณาข้อมูลแยกประเภทของเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในเดือน ก.ค.2555 พบว่า แบ่งเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 49 เหตุการณ์ ลอบวางระเบิด 18 เหตุการณ์ ก่อกวน 3 เหตุการณ์ และวางเพลิง 6 เหตุการณ์ นับเฉพาะเหตุลอบวางระเบิดมีสถิติสูงสุดตั้งเดือน เม.ย.2555 เป็นต้นมา โดยในเดือน มี.ค.2555 นั้น มีเหตุลอบวางระเบิดทั้งสิ้น 21 เหตุการณ์ เพราะเป็นเดือนที่มีเหตุคาร์บอมบ์ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 31 มี.ค.
ปัตตานีหนักสุด – เปิดชื่อ 11 อำเภอไร้ป่วน
เมื่อแยกพิจารณาตัวเลขเป็นรายจังหวัด พบว่า จ.ยะลา มีเหตุรุนแรงทุกประเภททั้งสิ้น 23 ครั้ง จ.ปัตตานี 29 ครั้ง จ.นราธิวาส 22 ครั้ง และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา 2 ครั้ง
ข้อมูลในระดับอำเภอ พบว่า อำเภอที่มีสถิติเหตุรุนแรงติดกลุ่มอยู่ในระดับสูง ได้แก่ อ.เมือง กับ อ.รามัน จ.ยะลา อำเภอละ 5 เหตุการณ์ อ.บันนังสตา จ.ยะลา 5 เหตุการณ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี 6 เหตุการณ์ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี 5 เหตุการณ์ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส 5 เหตุการณ์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส 4 เหตุการณ์
ส่วนอำเภอที่ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเลยตลอดเดือน ก.ค.ประกอบด้วย อ.กาบัง กับ อ.เบตง จ.ยะลา อ.ปะนาเระ กับ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี อ.สุไหงปาดี อ.ยี่งอ อ.แว้ง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส และ อ.จะนะ อ.สะบ้าย้อย กับ อ.นาทวี จ.สงขลา
"ชาวบ้าน-ทหาร-ตำรวจ" เป้าความรุนแรง
สำหรับยอดความสูญเสียทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรง แยกตามกลุ่มอาชีพ พบว่า
ทหาร เสียชีวิต 7 นาย บาดเจ็บ 26 นาย
ตำรวจ เสียชีวิต 6 นาย บาดเจ็บ 10 นาย
ประชาชน เสียชีวิต 26 ราย บาดเจ็บ 52 ราย
อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) เสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 7 นาย
อาสารักษาดินแดน (อส.) บาดเจ็บ 1 นาย
ผู้นำท้องถิ่น เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 1 ราย
ผู้ก่อความไม่สงบ เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 ราย
รวมยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 145 ราย แยกเป็น เสียชีวิต 47 ราย บาดเจ็บ 98 ราย
ยอดความสูญเสียรวมของสถานการณ์ไฟใต้ นับตั้งแต่เดือน ม.ค.2547 (เหตุการณ์ปล้นปืนจำนวน 413 กระบอกจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ต.ปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส) จนถึงสิ้นเดือน ก.ค.2555 มีผู้เสียชีวิตรวม 4,817 ราย แยกเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ 2,031 ราย ศาสนาอิสลาม 2,655 ราย ไม่ระบุศาสนา 131 ราย
ผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 8,708 ราย แยกเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ 5,477 ราย ศาสนาอิสลาม 2,729 ราย ไม่ระบุศาสนา 502 ราย รวมความสูญเสียทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งสิ้น 13,525 ราย
ศอ.บต.ระดมสมองกำหนดตัวชี้วัด-ประเมินสถิติไฟใต้ทุกด้าน
หลังจากสถิติการเกิดเหตุรุนแรงได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อแขนงต่างๆ มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างตึงเครียดร้อนแรง ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ถึงความแม่นยำของสถิติ เพราะบางครั้งตัวเลขมักสวนทางกับความรู้สึก
เช่น สถิติเปรียบเทียบเหตุรุนแรงในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2554 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ซึ่งเป็นข้อมูลของหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ และ "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" ได้นำเสนอสู่สาธารณะ ปรากฏว่าถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวาง เนื่องจากสถานการณ์ในช่วงที่รายงานตัวเลขสถิติ คือเดือน ก.ค.2555 มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก แต่หน่วยปฏิบัติกลับรายงานว่าสถานการณ์ในภาพรวมยังคงดีขึ้น
ประเด็นนี้ทำให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ทำโครงการกำหนดตัวชี้วัดใหม่สำหรับสถานการณ์ไฟใต้ โดยเชิญนักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งทั้งจากในและนอกพื้นที่มาระดมสมองกัน และได้จัดประชุมกันไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า การประเมินสถานการณ์ภาคใต้มีความตั้งใจให้ประเมินทุกด้าน ไม่ใช่เฉพาะแค่สถิติเหตุรุนแรงอย่างเดียว จึงต้องกำหนด "ตัวชี้วัด" และ "ให้น้ำหนัก" อย่างถูกต้อง ตรงตามหลักวิชาการ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้สถิติที่ออกมาสวนทางความรู้สึกของพี่น้องประชาชน และเป็นสถิติที่อ้างอิงได้จริง ไม่มุ่งเฉพาะประเด็นความรุนแรงเท่านั้น แต่รวมไปถึงข้อมูลด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การศึกษา ยอดการช่วยเหลือเยียวยา ซึ่งเป็นงานที่ทุกหน่วยในพื้นที่ร่วมกันทำเช่นเดียวกัน
"ยกตัวอย่างยอดการช่วยเหลือเยียวยา หากลดลงก็อนุมานได้ว่าสถานการณ์ในพื้นที่น่าจะดีขึ้น คือมีความสูญเสียน้อยลง ขณะเดียวกันก็ยังสามารถตรวจสอบการเข้าถึงการเยียวยาของประชาชน และประสิทธิผลของการเยียวยาได้อีกด้วย นี่คือความจำเป็นที่ต้องระดมสมองกัน เนื่องจากต้องใช้หลักวิชาการอ้างอิง เพื่อนำตัวเลขสถิติต่างๆ ไปประกอบการพิจารณาปรับแนวทางการแก้ไขปัญหาให้แม่นตรงกับสถานการณ์และแนวโน้มที่เกิดขึ้นจริง" พ.ต.อ.ทวี ระบุ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : "ตะปูเรือใบ" ที่คนร้ายใช้โปรยตามท้องถนนเพื่อสกัดการเข้าพื้นที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง หรือสกัดการติดตามไล่ล่าจับกุม ยังคงพบแทบทุกครั้งเมื่อมีการก่อเหตุรุนแรง (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)