สทนช. ชี้กระบวนการ SEA ช่วยแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำชีอย่างยั่งยืน
สทนช. นำกระบวนการ SEA การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ใช้วางแผนงาน เพื่อแก้ปัญหาน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำชีในทุกมิติ ช่วยสร้างความสมดุลในการพัฒนาเศรษฐกิจและรักษาสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์พื้นที่ลุ่มน้ำชี ณ เขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ว่า “ลุ่มน้ำชี” เป็นลุ่มน้ำที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ 49,130 ตารางกิโลเมตร รวม 13 จังหวัด มีประชากรราว 5,953,334 คน มีปริมาณฝนรายปีเฉลี่ย 1,188 มิลลิเมตร และปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 11,994 ล้าน ลบ.ม. สามารถเก็บกักน้ำได้เพียง 5,687 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่ความต้องการน้ำทุกภาคส่วนอยู่ที่ 5,849 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลกระทบด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ที่เกิดขึ้นซ้ำซาก เนื่องจากลุ่มน้ำชีมีพื้นที่การเกษตร 20.44 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ของประเทศ แต่ปริมาณน้ำกลับไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก อีกทั้ง ลำน้ำมีขนาดเล็ก ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ที่มักเกิดน้ำหลาก ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่มากเกินความจุลำน้ำ ไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนของประชาชน นอกจากนี้ พื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำชีมากกว่าร้อยละ 50 เป็นพื้นที่ดอนที่อยู่ในเขตดินแห้งและมีฝนตกน้อย รวมถึงพื้นที่บางแห่งเป็นดินเค็ม ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้
ในส่วนของคุณภาพน้ำของลำน้ำสาขาของลุ่มน้ำชี มีปริมาณน้ำเสียในระดับสูง ได้แก่ ลำน้ำปาวตอนบน ลำน้ำยัง และลำน้ำเชิญ เนื่องจากมีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีจำนวนมาก รวมทั้งน้ำเสียจากพื้นที่ชุมชน น้ำเสียจากการเลี้ยงปลากระชัง น้ำเสียจากน้ำทิ้งของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่อำเภออุบลรัตน์และอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น นอกจากนี้ พื้นที่ป่าไม้ที่มีเพียงร้อยละ 16.58 ซึ่งเป็นสัดส่วนค่อนข้างน้อย มักมีการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำจากกิจกรรมท่องเที่ยวและทำการเกษตรด้วย
สำหรับแนวคิดของการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment หรือ SEA) เป็นกระบวนการที่หน่วยงานด้านนโยบายใช้การคาดการณ์ผลกระทบอันเกิดจากแผนงานต่างๆ โดยคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และปัจจัยอื่นๆ รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาแผนงานให้เหมาะสมกับการพัฒนาในพื้นที่ของตนเอง เพื่อร่วมหาทางเลือกที่ดีที่สุด เกิดการพัฒนาร่วมกันในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน
“สทนช. ได้เดินหน้าตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ซึ่งเป็นกรอบใหญ่และแผนงานตามแนวทางพัฒนาลุ่มน้ำแบบบูรณาการระดับยุทธศาสตร์ (SIDP) พื้นที่ลุ่มน้ำชี ที่จะสอดรับกับ SEA หรือกระบวนการที่ใช้สําหรับการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สามารถช่วยสนับสนุนการตัดสินใจที่เหมาะสมจากมุมมองทางด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของการพัฒนาในทุกมิติ ทำให้สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาระดับพื้นที่ได้ชัดเจน ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และที่สำคัญมีรูปแบบทางเลือกการพัฒนาและแผนงาน เพื่อประกอบการตัดสินใจของหน่วยงานระดับนโยบายได้” เลขาธิการ สทนช. กล่าว