ประติมากรรมบนที่สาธารณะ :ฝาท่อริมคลองโอ่งอ่าง กำลังจะเปลี่ยนไป
ฝาท่อสาธารณูปโภค จากโครงการวิจัย “การออกแบบประติมากรรมบนที่สาธารณะกับการมีส่วนรวมของชุมชน” สำนักผังเมือง กทม. จะนำผลงานไปใช้ และเป็นแนวทางในการปรับปรุงภูมิทัศน์ ริมคลองโอ่งอ่าง
หลายคนคงเคยเห็น ศิลปะบนฝาท่อระบายน้ำของประเทศญี่ปุ่น เวลานักท่องเที่ยวไทยไปเยือนมักจะเก็บภาพลายพิมพ์บนฝาท่อในแต่ละเมืองมาอวด และหวังเล็กๆ อยากให้บ้านเรามีแบบนั้นบ้าง
วันนี้กรุงเทพมหานคร มีฝาท่อสวยๆ แล้ว โดยรองศาสตราจารย์จักรพันธ์ วิลาสินีกุล ภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และอาจารย์พิเชฐ เขียวประเสริฐ ร่วมกันออกแบบฝาท่อสาธารณูปโภค จากโครงการวิจัย “การออกแบบประติมากรรมบนที่สาธารณะกับการมีส่วนรวมของชุมชน” ซึ่งสำนักผังเมือง กทม. จะนำผลงานไปใช้ และเป็นแนวทางในการปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชนโครงการริมคลองโอ่งอ่างและกิจกรรมแต้มสี กรุงเทพฯ
โครงการวิจัย “การออกแบบประติมากรรมบนที่สาธารณะกับการมีส่วนรวมของชุมชน” ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ) งบประมาณปี 2559 ดำเนินงานในโครงการนี้ สืบเนื่องจากกรุงเทพมหานครมีโครงการปรับปรุงทางเดินริมคลองโอ่งอ่าง เพื่อพัฒนาทางเดินริมคลองให้มีภูมิทัศน์ที่งดงาม และได้ดำเนินการรื้อถอนตลาดสะพานเหล็กซึ่งรุกล้ำที่ดินสาธารณะในปลายปี 2559
เมื่อพิจารณาสภาพแวดล้อมของทางเดินริมคลองและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ทางผู้วิจัยเห็นว่า ในแต่ละช่วงทางเดินริมคลองสามารถติดตั้งงานศิลปะได้หลากหลายลักษณะ จึงเสนอแนวทางการออกแบบงานศิลปะประเภทต่าง ๆ ทั้งงานประติมากรรมและงานออกแบบศิลปะ 3 มิติ โดยเสนอให้ใช้รูปแบบงานศิลปะหลากหลายร่วมกัน เพื่อช่วยให้ทางเดินนี้มีองค์ประกอบทางศิลปะที่เป็นเอกภาพและเกิดทัศนียภาพที่งดงาม และเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดทางเดินริมน้ำสายวัฒนธรรม จึงแบ่งรูปแบบการออกแบบงานศิลปะออกเป็น 6 รูปแบบ ประกอบด้วย ประติมากรรมลอยตัว ประติมากรรมนูนต่ำ ม้านั่ง ฝาท่อระบายน้ำและสาธารณูปโภค ศิลปะกราฟฟิตี้ และรั้วกันทางเดินริมน้ำ
“กองจัดรูปที่ดินและปรับปรุงฟื้นฟูเมือง สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ได้นำผลการวิจัยไปใช้และเป็นแนวทางการออกแบบเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์โดยส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน “โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองโอ่งอ่าง” และโครงการศิลปะชุมชน “กิจกรรมแต้มสี กรุงเทพฯ” ปี 2561 ซึ่งสำนักผังเมืองได้ศึกษาปรับปรุงพื้นที่ริมคลองรอบกรุงตลอดเส้นทางจากแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศใต้จรดทิศเหนือ นอกจากนี้ในโครงการส่วนต่อจากคลองโอ่งอ่างที่กรุงเทพมหานครมีแผนในการดำเนินการต่อไปนั้น การใช้งานศิลปะโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมก็เป็นแนวทางหนึ่งในการแสวงหาความร่วมมือจากชุมชน” รศ.จักรพันธ์ระบุ
และนี่คือ "ฝาท่อระบายน้ำ" ผลงานชิคๆ เก๋ๆ มีเรื่องราว เชื่อว่า สวยไม่แพ้ฝาท่อระบายน้ำจากที่ต่างๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่นเลยทีเดียว
รั้วทางเดินริมน้ำ
ประติมากรรม
ประติมากรรมนูนต่ำ
รศ.จักรพันธ์ วิลาสินีกุล ผู้รังสรรค์ผลงาน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/