สนง.ศาลยุติธรรมลงนามเชื่อมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ -อัยการสูงสุด-สตช.
สำนักงานศาลยุติธรรมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมมือการเชื่อมโยงข้อมูลสารบบคดีกระบวนการยุติธรรมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 ที่ห้องประชุมใหญ่ชั้น 12 อาคารศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายเชิดศักดิ์ หิรัญสิริสมบัติ รองอัยการสูงสุด และ พลตำรวจโทปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเชื่อมโยงข้อมูลสารบบคดีกระบวนการยุติธรรมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้ในการยื่นฟ้องคดีและพิจารณาคดีอาญา ตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการและศาล ระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อลดระยะเวลาและความซ้ำซ้อนในการบันทึกข้อมูลของเจ้าหน้าที่และยังทำให้กระบวนการยื่นฟ้องและการพิจารณาคดี พิพากษาคดีแล้วเสร็จด้วยความรวดเร็ว ถูกต้องสมบูรณ์ มีประสิทธิภาพ
นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่าเริ่มจากเมื่อมีการฟ้องคดี กับศาลแขวงหรือศาลจังหวัดที่มีอำนาจพิจารณาคดีศาลแขวงในคดีอาญา โดยเฉพาะคดีฟ้องด้วยวาจา เจ้าหน้าที่จะต้องบันทึกข้อมูลตั้งต้นที่อัยการโดยตำรวจนำมาฟ้องต่อศาล เช่น ข้อมูลฟ้องทั่วไป ข้อมูลจำเลย บันทึกการจับกุม ฯลฯ ทำให้เจ้าหน้าที่เสียเวลาในการบันทึกข้อมูลเป็นจำนวนมากและทำให้ คดีที่ควรจะตัดสินได้อย่างรวดเร็วกลับต้องเสียเวลาในการรอการบันทึกข้อมูลเข้าระบบ มีผลทำให้จำเลย เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศาล และผู้พิพากษาเวรชี้ต้องรอนานทั้งที่ข้อมูลทั้งหมดมาจากอัยการเป็น ผู้บันทึกข้อมูลแล้วพิมพ์ออกจากระบบเพื่อนำมาฟ้องต่อศาล
สำนักงานศาลยุติธรรม จึงได้ร่วมมือกับ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติศึกษาการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้ในการยื่นฟ้องคดีและการพิจารณาคดีอาญา ตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการและศาล โดยการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศจากระบบ Crimes ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตำรวจสามารถบันทึกข้อมูลทางคดีเข้าสู่ระบบ และเชื่อมโยงข้อมูลไปยังระบบและฐานข้อมูลของสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อที่อัยการพิจารณาสั่งฟ้อง จากนั้นข้อมูลทางคดีจะถูกส่งต่อเข้ามายังระบบและฐานข้อมูลศาล ผ่านเทคโนโลยี Web Service และคำฟ้องของอัยการก็จะถูกส่งมายังศาล ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วย การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง 3 หน่วยงานนี้ นอกจากจะลดระยะเวลา และความซ้ำซ้อนในการบันทึกข้อมูลแล้ว ยังทำให้กระบวนการยื่นฟ้องคดีและการพิจารณา พิพากษาคดี แล้วเสร็จด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง มีประสิทธิภาพอันเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะคดีทางอาญาที่ฟ้องด้วยวาจาซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษไม่สูง
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่าการเชื่อมโยงข้อมูลสารบบคดีกระบวนการยุติธรรมโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ ในการยื่นฟ้องคดีและพิจารณาคดีอาญา จะดำเนินการพร้อมกันในศาลชั้นต้น ศาลจังหวัดและศาลแขวงทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประธานศาลฎีกาเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการคดีและเพื่อให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมรวดเร็วขึ้น เพื่อมุ่งสู่การบริการในลักษณะระบบศาลดิจิทัล (D-Court) ในปี พ.ศ.2563 นอกจากนี้สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังได้ร่วมหารือแนวทางด้านเทคนิคในการใช้ข้อมูลและพัฒนาปรับปรุงระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอีกด้วย