สธ.จี้ สปสช.ปรับงบโครงการรักษาฟรี แก้ขาดทุน-กระจายลง รพ.กันดาร
“จุรินทร์” จี้ สปสช.ควักกระเป๋าจ่ายชดเชยโรงพยาบาลขาดทุนจากโครงการรักษาฟรีกว่า 4 พันล้าน เตรียมปรับแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว จัดงบครอบคลุมค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ รพ. แก้ปัญหางบรายหัวกระจายไม่ถึงโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล คาดเริ่มใช้ปี 55
เมื่อเร็วๆนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่าปัจจุบันมีโรงพยาบาลในสังกัด สธ.304 แห่ง จำนวนนี้ขาดทุนรุนแรง 77 แห่ง ประมาณ 1,300 ล้านบาท ขาดทุนรองลงมา 227 แห่ง ประมาณ 2,700 ล้านบาท รวมขาดทุน 4691.63 ล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องวางแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริหารโรงพยาบาล โดยก่อนหน้านี้ได้มอบให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัด สธ.หารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เพื่อหาทางออกร่วมกัน
นายจุรินท์ กล่าวว่า เบื้องต้นได้สั่งการให้วิเคราะห์ต้นทุนขั้นต่ำของโรงพยาบาลทุกแห่ง ทั้งโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปรวมกว่า 900 แห่ง เพื่อเป็นฐานตัวเลขในการจัดงบประมาณของ สปสช.ให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายขั้นต่ำของโรงพยาบาลแต่ละแห่งก่อน ส่วนที่เกินจึงนำมาจัดสรรเป็นงบเหมาจ่ายรายหัว มิเช่นนั้นจะเป็นภาระงบประมาณแก่โรงพยาบาลตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งแนวทางนี้คาดว่าภายในเดือนมีนาคมจะแล้วเสร็จ โดยนำมาใช้จัดสรรงบประมาณในปี 2555 ต่อไป
“โรงพยาบาลบางแห่งมีจำนวนประชากรน้อย แต่ปิดไม่ได้เพราะอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ซึ่งหากรับจัดสรรรายหัว งบที่ได้ก็จะไม่เพียงพอต่อการบริหารและอาจกระทบต่อคุณภาพบริการได้”
รมว.สาธารณสุข กล่าวและว่า นอกจากนี้อาจต้องมีงบก้อนหนึ่งไว้ที่กระทรวงเพื่อเกลี่ยงบประมาณโรงพยาบาลระดับประเทศอีก ทั้งนี้สำหรับการแก้ไขปัญหาขาดทุนกว่า 4,000 ล้านบาทในปี 2553 เบื้องต้นได้ข้อสรุปให้ทาง สปสช.จัดสรรงบประมาณ 1,300 ล้านบาทให้กับโรงพยาบาลขาดทุนรุนแรง 77 แห่งก่อนในเดือน ม.ค. ส่วนอีก 227 แห่ง ให้หารือแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.โดยใช้งบประมาณคงเหลือจากกองทุนย่อย สปสช.ในปี 2553
ด้าน นพ.ณรงค์ กล่าวว่า การขาดทุนมาจาก 3 สาเหตุ คือ 1.ปัญหาการจัดสรรรายหัว โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีประชากรน้อย 2.ปัญหาการหักเงินเดือน ทำให้โรงพยาบาลที่มีข้าราชการมากเป็นปัญหา และ 3.ปัญหาการจัดสรรแยกรายก่อนทุนย่อย ส่วนที่มีการระบุว่ามาจากการเพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรนั้น เมื่อเปรียบก่อนมีการเพิ่มค่าตอบแทนปี 2551 และหลังเพิ่มค่าตอบปี 2553 สัดส่วนค่าตอบแทนในส่วนงบประมาณและเงินบำรุงไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยยังคงอยู่ในอัตราร้อยละ 38 ของงบประมาณทั้งหมด แต่มาจากอัตราการใช้บริการของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น การว่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวค่อนข้างมากประมาณ 30,000 ตำแหน่ง เนื่องจากนโยบายการจำกัดกำลังคนของรัฐบาล.