สปสช.รุกทำฐานทะเบียนสิทธิรักษาเชื่อมโยงแล้ว115 กองทุน ลดซ้ำซ้อน-คุ้มครองสิทธิ
สปสช.เผย ผลรวมทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลภาครัฐ หลัง ครม.มอบ สปสช.เป็นหน่วยงานกลาง เชื่อมโยงข้อมูลแล้ว 115 จาก 128 กองทุน จัดทำฐานทะเบียนสิทธิรักษาคนไทยทั้งประเทศ ช่วยลดความซ้ำซ้อน คุ้มครองสิทธิคนไทยรักษาต่อเนื่อง เดินหน้าต่อประสานข้อมูลครบทุกกองทุน
นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2558 ได้มอบให้ สปสช.ทำหน้าที่เป็น “หน่วยงานกลางบริหารจัดการทะเบียนสิทธิการรักษาพยาบาล” (National Beneficiary Registration Center) เพื่อจัดฐานข้อมูลทะเบียนผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลคนไทยทั้งประเทศ เนื่องจากปัจจุบันมี 128 หน่วยงานรัฐ ที่จัดสวัสดิการสิทธิรักษาพยาบาลให้กับบุคลากรในสังกัดและประชาชนตามสิทธิ หลายหน่วยงานได้ให้สวัสดิการรวมถึงบุคคลในครอบครัวด้วย ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน เกิดปัญหาการจัดลำดับสิทธิและการจัดสรรงบประมาณเพื่อการดูแล จำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางดำเนินการเรื่องนี้ ประกอบกับมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ระบุว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ จึงเป็นบทบาทหน้าที่ ที่สปสช.ต้องจัดบริการสาธารณสุขให้กับบุคคลที่ยังไม่มีสวัสดิการรัฐดูแล ทำให้ต้องทราบข้อมูลสิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทยทั้ง 68 ล้านคน การดำเนินการได้มีการจัดตั้ง “คณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบทะเบียนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล” ตามมติ ครม.ข้างต้น โดย สปสช.เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้แทน 128 หน่วยงานประชุม เพื่อจัดทำฐานทะเบียนข้อมูลสวัสดิการที่รัฐจัดให้ พร้อมทั้งจัดทำโปรแกรมรองรับในการส่งข้อมูล
นพ.การุณย์ กล่าวว่า ช่วงแรกหลายหน่วยงานมีความห่วงใยเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล บางหน่วยงานสวัสดิการการรักษาพยาบาลที่จัดให้บุคลากรและบุคคลในครอบครัวมีขอบเขตจำกัด ไม่ครอบคลุม และเกรงว่า จะไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้เมื่อเกินวงเงินของหน่อยงาน ซึ่งก็สามารถทำความเข้าใจและดำเนินการร่วมกันได้เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ การบูรณาการฐานทะเบียนสิทธิสวัสดิการที่รัฐจัดให้ ทำให้ลดความซ้ำซ้อน ลดภาระงบประมาณประเทศได้ถึง 750 ล้านบาทต่อปี เกิดประโยชน์อย่างมากในการตรวจสอบสิทธิและการใช้สิทธิรักษาพยาบาล เป็นการคุ้มครองประชาชนทุกคนให้เข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง ทั้งนี้จากจำนวน 128 หน่วยงาน ขณะนี้มีเพียง 13 หน่วยงานที่ดูแลผู้มีสิทธิประมาณ 1 ถึง 2 แสนคนเท่านั้นที่อยู่ระหว่างประสานความร่วมมือ และวางแผนดำเนินการต่อไป
“ก้าวต่อไปของการจัดการทะเบียนสิทธิการรักษาพยาบาลโดย สปสช.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง ได้พัฒนาข้อมูลทะเบียนสิทธิการรักษาให้อยู่ในรูปโมบายแอป เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตในยุคปัจจุบัน เพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการรับบริการ ขณะที่หน่วยบริการในอนาคตจะเน้นระบบเทเลเมดิซีน ให้คำปรึกษาทางออนไลน์ ดังนั้นทั้งหมดจึงต้องก้าวไปพร้อมกันเพื่อให้ระบบมีความสมบูรณ์” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว