ปักธงการค้า! "ปัตตานี บาซาร์" คอมมูนิตี้มอลล์ใหญ่สุดชายแดนใต้
เนื้อที่ 12 ไร่ เยื้อง "บิ๊กซี ปัตตานี" คือที่ตั้งของ "ปัตตานี บาซาร์" ว่าที่คอมมูนิตี้มอลล์ที่ใหญ่ที่สุดของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เจ้าของโครงการวาดหวังว่า "ปัตตานี บาซาร์" จะเป็นแลนด์มาร์คใหม่ที่เตรียมรองรับผู้คนได้นับหมื่น ด้วยสไตล์โมเดิร์นลอฟท์ รวมทุกบริการไว้พร้อมสรรพเพื่อความเป็นหนึ่งเดียว
"ปัตตานี บาซาร์" ปักหมุดเตรียมเปิดให้บริการช่วงต้นปี 2563 สวนทางภาวะเศรษฐกิจโลก ความไม่สงบในพื้นที่ และสถานการณ์ "ยางถูก" ที่สร้างความเดือดร้อนใหักับคนรากหญ้าในพื้นที่มาเนิ่นนาน
น่าแปลกที่ "กำลังซื้อ" ที่ชายแดนใต้ยังคงเย้ายวนนักลงทุน และโครงการ "ปัตตานี บาซาร์" ก็เช่นกัน แทนที่จะหยุดชะงักกลับเดินหน้าก่อสร้างต่อได้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว แถมยังเปิดจองร้านค้ากันอย่างคึกคัก พร้อมเปิดตัวแนะนำโครงการให้คนในพื้นที่รู้จักอย่างเป็นทางการไปเมื่อเร็วๆ นี้
โครงการนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ด้วยที่ตั้งในทำเลทองของปัตตานี มีการวิจัยความต้องการของคนในพื้นที่และลูกค้า บริหารโครงการโดย ไซนุดดีน นิมา ซึ่งเจ้าตัวได้บอกเล่าที่มาของการก่อเกิดโครงการนี้ว่า อยากให้มีตลาดที่เป็นจุดพักผ่อนที่ใหญ่ที่สุดของพื้นที่ชายแดนใต้
"ใครมาปัตตานีต้องมาที่นี่" คือประโยคสั้นๆ ง่ายๆ แต่กินความหมายและทรงพลังจากปากไซนุดดิน
"เราต้องการความเป็นหนึ่งและเป็นหนึ่งเดียวในความคิด ซื่อสัตย์ เชื่อถือได้ ความหวังของทุกคนที่ร่วมผลักดันโครงการเป็นไปในทางเดียวกันคือให้ที่นี่เป็นแลนด์มาร์คของปัตตานี เป็นตลาดที่แปลก มาแล้วต้องติดใจ มีร้านค้า ร้านอาหาร ทั้งด้านในด้านนอก เป็นแหล่งรวมตัวของวัยรุ่น นักท่องเที่ยวที่รองรับด้วยบรรยากาศที่ผ่อนคลาย" ไซนุดดิน กล่าว
โครงการ "ปัตตานี บาซาร์" ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างภายใต้หลักคิดที่ว่า ต้องการให้มีพื้นที่ที่ลูกค้าสามารถนั่งได้สบายๆ มี space หรือที่ว่างมากกว่าพื้นที่ขายของ ไม่ใช่แบ่งพื้นที่เพื่อให้ได้ล็อคจำหน่ายสินค้ามากที่สุด เป็นการทำพื้นที่ให้น่าสนใจด้วยการออกแบบภาพรวม คิดวิเคราะห์หาข้อมูลความเป็นไปได้ จากนั้นจึงจัดพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 20,000 ตารางเมตรให้ตรงตามคอนเซปท์มากที่สุด
สถาปนิกโครงการ เล่าว่า ออกแบบโดยใช้สัจจวัสดุ โชว์อิฐและเนื้อไม้ กระจก รวมถึงอลูมิเนียม คุมโทนด้วยสีดำและน้ำตาล ฉีกกฎเดิมๆ ของตลาดทั่วไป
ขณะที่วิศวกรควบคุมของโครงการ บอกว่า มีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่สาธารณะ ฉะนั้นจะไม่ก่อผลกระทบ และไม่ส่งกลิ่นภายในโครงการรวมถึงสิ่งแวดล้อม หากฝนตกหนักสามารถระบายน้ำได้ทัน ห้องน้ำสามารถรองรับลูกค้าและนักท่องเที่ยวได้เป็นพันคน มีกล้องวงจรปิดเพียงพอ และทุกคนจะปลอดภัยจากสายไฟฟ้า เพราะใช้ระบบฝังสายไฟไว้ใต้ดิน
"ปัตตานี บาซาร์" มี 5 โซนคือ โซนอาหารและเครื่องดื่ม โซนจำหน่ายสินค้า แบรนด์ชอป ซุ้มกลางแจ้ง และลานกิจกรรมรอบน้ำพุ
โครงการยังมีการวิจัยที่มั่นใจว่าจะสามารถเข้าถึงและบริการลูกค้าได้ทุกกลุ่มบนทำเลทองด้านเศรษฐกิจติดถนน 4 ช่องจราจรของเมืองปัตตานี มีที่จอดรถขนาด 5 ไร่ น้ำพุเต้นระบำกลางลานกิจกรรม จัดซุ้มเช็คอินกังหันฮอลแลนด์ ระบบคิวอาร์โค้ดในการชำระเงิน บริการไปรษณีย์เพื่อแม่ค้าออนไลน์ งดใช้โฟม และร้านอาหารทุกวัฒนธรรม รวมถึงมีกิจกรรมทุกสัปดาห์ นอกจากนั้นยังมีแอพพลิเคชั่นบริการรับส่งฟรีเข้ามาในโครงการ และบริการอื่นๆ อีกจำนวนมาก
ชัยยีดะห์บุซรอ อัลยุฟรี ที่ปรึกษาทางการตลาด บอกว่า อยากให้ร้านค้าที่เข้าร่วมในโครงการนำเสนอสินค้าหรือเอกลักษณ์ของร้านไม่ให้ซ้ำกัน เพื่อความเป็นหนึ่ง และจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ตั้งใจได้นำเสนอสินค้าและเอกลักษณ์ที่มีอยู่อย่างทั่วถึง โดยขอคำปรึกษาจากทางโครงการได้ตลอดเวลา
คาดการณ์กันว่าต้นปี 2563 "ปัตตานี บาซาร์" เปิดให้บริการอย่างแน่นอน
ตลาด "ศูนย์การค้า" สุดคึกที่ปลายขวาน
ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบและภาพลักษณ์ลบๆ จากข่าวสารรายวัน แทบไม่น่าเชื่อว่าที่ปัตตานี โดยเฉพาะอำเภอเมือง มีศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์รองรับวิถีชีวิตยุคใหม่ไม่ต่างอะไรกับเมืองใหญ่ๆ ในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศหลายแห่ง โดยที่ "ปัตตานี บาซาร์" ที่กำลังจะเปิดใหม่ต้นปีหน้า ไม่ใช่แห่งแรก
เริ่มจากห้างค้าปลีกสไตล์ซุปเปอร์มาร์เก็ตเก่าแก่ในปัตตานี คือ ซุปเปอร์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ ตามด้วยห้างสรรพสินค้าระดับท้องถิ่นอย่างห้างไดอาน่า สองห้างนี้เปิดมานานและดำรงอยู่ได้อย่างเข้มแข็งท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกันยังมีห้าง "บิ๊กซี ปัตตานี" ค้าปลีกยักษ์ทุนใหญ่ระดับชาติตั้งเด่นเป็นสง่าริมทางเข้าเมืองปัตตานี และเป็นแห่งเดียวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยอดขายสูงติดอันดับต้นๆ ของประเทศ
นอกจากนั้นยังมีห้างใหม่ๆ เปิดขึ้นเป็นระยะ ได้แก่ ห้าง G.Pa Supermart ถนนรามโกมุท, อาเชียนมอลล์ ที่ปัตตานีจายา ริมทางหลวงสายปัตตานี-นราธิวาส ซึ่งมีลักษณะเป็นคอมมูนิตี้มอลล์เช่นกัน ทุกแห่งยังเปิดให้บริการอยู่ ยกเว้น "ปัตตานีเพลส" บนถนนสาย ม.อ.ที่ร้างไปเพราะก่อสสร้างไม่แล้วเสร็จ
---------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : มหัศจรรย์ชายแดนใต้...สารพัดเหตุรุนแรง แต่แข่งกันเปิดห้าง!