สสส. ชี้เยาวชนไทยกลุ่มเปราะบาง 1.3 ล้านคน หลุดระบบการศึกษา-ไร้งานทำ
สสส.ห่วงเยาวชนไทยกลุ่มเปราะบาง 1.3 ล้านคน หลุดจากระบบการศึกษา-ไร้งานทำ เสี่ยงซึมเศร้าสูง 44% สสส. จัดกิจกรรม ThaiHealth Youth Solutions ครั้งแรก ฟังเสียง-โชว์พลังเด็กชายขอบเนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ หนุนสร้างศักยภาพให้พร้อมลุยแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ เพียงให้โอกาส สนับสนุน ปล่อยให้ลงมือทำ ขอสังคมช่วยเสริมพลังบวก
เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ มีการจัดงาน ThaiHealth Youth Solutions เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2562 ตอน “พลังของเด็กชายขอบ” ในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 20 ก.ย.นี้ โดยดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์สุขภาวะเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นในปัจจุบันที่น่าเป็นห่วงคือกรณีปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่น ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตพบว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10 – 19 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงร้อยละ 44 หรือมีประมาณ 3 ล้านกว่าคนจากวัยรุ่นทั้งหมดประมาณ 8 ล้านคน และมีอัตราป่วยเป็นโรคนี้ร้อยละ 18 นอกจากนี้ประเด็นการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน และการติดสารเสพติด ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงลำดับต้นๆ ของการสูญเสียปีสุขภาวะของวัยรุ่นไทยอีกด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนชายขอบ มีภาวะเปราะบางทั้งทางสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ มีโอกาสที่จะเผชิญปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ได้มากกว่าเด็กและเยาวชนในครอบครัวที่มีความพร้อม อยู่ในสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดี โดย สสส. ได้กำหนดจุดเน้นการทำงานในกลุ่มเด็กเยาวชนที่เผชิญกับภาวะเปราะบาง/เด็กชายขอบ ให้ครอบคลุมถึง การพัฒนาศักยภาพกลุ่มเยาวชน และการมุ่งจัดการกับปัจจัยที่มีผลต่อการมีสุขภาวะของเยาวชน สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับจาก ThaiHealth Youth Solutions ครั้งที่ 1 คือการที่เยาวชนได้ลงมือทำและเกิดแรงบันดาลใจให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
ด้าน น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในปี 2017 พบว่าประเทศไทยมีประชากรอายุ 15-24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ไม่ได้อยู่ในระบบแรงงาน ราวๆ 1 ล้าน 3 แสนคน ในจำนวนนี้เกือบ 8 แสนคนเป็นผู้หญิง ขณะที่องค์การ ยูนิเซฟระบุว่า กลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 15-17 ปี เป็นกลุ่มที่ประสบกับความยากจนหลายมิติในระดับที่รุนแรงที่สุด กว่า 51.06% เป็นวัยที่หลุดจากระบบการศึกษา และเมื่อจัดระดับความรุนแรงของค่าความยากจนหลายมิติของกลุ่มเด็กก็พบว่า 5 จังหวัดแรกที่มีปัญหาสูงสุดคือ ปัตตานี, กาฬสินธุ์, นครพนม, ตาก และ นราธิวาส
น.ส.ณัฐยา กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรม ThaiHealth Youth Solutions จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อสร้างพื้นที่สื่อสารให้คนรุ่นใหม่ได้พูดคุยสะท้อนไปยังสาธารณะ ทั้งในประเด็นสำคัญของการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ยังเป็นปัญหาและต้องการให้สังคมมีส่วนร่วมช่วยเหลือดูแล รวมถึงนำเสนอบทเรียนความสำเร็จจากการลงมือทำงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะให้แก่กลุ่มเด็กและเยาวชนที่พวกเขาลงมือทำเอง โดยปีนี้ มีจุดเน้นในประเด็น “พลังของเด็กชายขอบ” ซึ่งสสส. เล็งเห็นว่า เยาวชนกลุ่มเปราะบางและอยู่ชายขอบของสังคม เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพซ่อนอยู่ในตัว มีความเข้มแข็งอยู่ภายใน โดยเลือกจากกลุ่มเยาวชนชายขอบที่มีการรวมกลุ่มดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง 6 กลุ่ม ได้แก่ สหทัยมูลนิธิจากนครศรีธรรมราช สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ มูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย กลุ่มพลังโจ๋จากศูนย์สร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่ กลุ่มเยาวชนจากบ้านพิราบขาวชายแดนใต้ กลุ่มเยาวชนรักษ์ไทยพาวเวอร์ทีนจากเชียงใหม่ และได้เชิญสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยมาร่วมเรียนรู้และสร้างความร่วมมือกับเพื่อนๆกลุ่มชายขอบเหล่านี้ในการผลักดันให้เกิดนโยบายใหม่ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเยาวชนชายขอบในอนาคต
ด้าน นายณัฐพงษ์ ราหุรักษ์ อายุ 22 ปี ตัวแทนเยาวชนจากกลุ่มมูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย กล่าวว่า การร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เป็นเวทีที่ช่วยเปิดพื้นที่ให้พวกเราได้แสดงออกถึงสิ่งที่เราอยากพูด แต่ไม่เคยมีใครฟัง ซึ่งตนเองเป็นกลุ่มเยาวชนที่เคยพลาดต้องคดี ทุกคนมองเราเป็นคนขี้คุกแม้จะออกมาจากสถานพินิจแล้ว แต่เมื่อออกมาอยู่ในสังคมที่บอกว่าให้โอกาส เรากลับไม่เคยได้รับโอกาสจริงๆ ทุกครั้งสายตาของคนในชุมชนหรือในสังคมมองมามันคือสายตาที่ตีตรา จริงๆ เราแค่อยากได้ที่ยืนในสังคม ไม่เหยียดหยาม ยอมรับและให้โอกาสที่แท้จริง ทั้งการได้กลับเข้าไปในระบบการศึกษา หรือการทำงาน เพื่อให้พวกเราสามารถที่จะพึ่งพิงดูแลตัวเองและช่วยเหลือเพื่อนๆ ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกันได้