ข้อมูลลับ ปค.จัดซื้อ ‘ALPHA 6’ 328 ล.- ผู้ชนะซื้อของคู่เทียบ–ต้นทุน 1 พัน ขายต่อ 5 แสน
เปิดข้อมูลลับผลสอบ ปค. จัดซื้อ ‘ALPHA 6’ 328 ล. 2 สัญญา ปี 52 -ผู้ชนะซื้อของจากคู่เทียบขายต่อให้ราชการ เผยเส้นทางนำเข้าใช้ถุงเมล์ด่วนส่งของมาประกอบในไทย ต้นทุนจริง 1 พัน ขายต่อเครื่องละ 5 แสน ผลการทดสอบชี้ชัดไร้ประสิทธิภาพ
หากสาธารณชนยังจำกันได้ ในช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยนำเสนอข่าวกรณี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึง อธิบดีกรมการปกครอง เพื่อแจ้งติดตามความคืบหน้าผลตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องตรวจหาระเบิดหรือยาเสพติดแบบมือถือ ALPHA 6 ของ กรมการปกครอง จำนวน 2 สัญญา วงเงินกว่า 328 ล้าน
ระบุสาระสำคัญว่า ก่อนหน้านี้ สตง. ได้ตรวจสอบการจัดซื้อเครื่อง ALPHA 6 ของกรมการปกครอง และได้แจ้งผลการตรวจสอบให้ดำเนินการร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับผู้บริหารบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง พร้อมดำเนินการทางวินัยแก่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ รวมถึงหาผู้รับผิดชอบทางแพ่งแล้ว
เบื้องต้น กรมการปกครอง แจ้งตอบกลับว่า ได้ดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหา โดยได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแล้ว รวมไปถึงการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงกับข้าราชการจำนวน 4 ราย
แต่ระยะเวลาล่วงเลยมาพอสมควรแล้ว สตง.ยังไม่ได้รับแจ้งผลการดำเนินการทางวินัยและการดำเนินการทางละเมิดแต่อย่างใด
จึงขอให้กรมการปกครองพิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวให้สตง.ทราบโดยเร็ว หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร อธิบดีกรมการปกครอง อาจถูกลงโทษทางปกครอง ตามมาตรา 96 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 ด้วย (อ่านประกอบ : ขู่ใช้อำนาจกม.ลงโทษอธิบดีปค.! สตง.จี้รายงานผลสอบวินัย 4ขรก.- จัดซื้อเครื่อง ALPHA 6)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบข้อมูลว่า ในรายงานผลการตรวจสอบกรณีจัดซื้อเครื่อง ALPHA 6 ของ กรมการปกครอง ทั้ง 2 สัญญา ที่ สตง. ส่งเรื่องให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงกับข้าราชการจำนวน 4 ราย ดังกล่าว
มีการระบุถึงข้อมูลความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมการประกวดราคาพร้อมกัน ข้อมูลเส้นทางการนำเข้าเครื่อง ALPHA 6 มาประกอบในประเทศไทย รวมไปผลการตรวจสอบการวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง ALPHA 6 ที่ไม่พบว่ามีการแผ่สนามไฟฟ้า ไม่พบประจุไฟฟ้าสถิตสะสม และไม่พบการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเครื่อง ALPHA 6 ในทุกสภาวะการทดสอบ ชี้ให้เห็นว่า เครื่อง ALPHA 6 ไม่มีการทำงานโดยใช้ไฟฟ้าสถิตจากมนุษย์ตามคุณสมบัติของเครื่องที่ผู้ขายแสดงไว้และที่เป็นข้อกำหนดเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญในการจัดซื้อ ซึ่งนับเป็นข้อมูลใหม่ที่ยังไม่เคยถูกเปิดเผยที่ไหนมาก่อน
ภาพประกอบจาก ผู้จัดการ /จนท.กรมปกครอง ลงพื้นที่ให้ความรู้และสาธิตวิธีการใช้เครื่อง “อัลฟาซิก” หรือ “ALPHA 6”ตรวจหาสารเสพติด
ให้กับ อส. 8 จังหวัดอีสานกว่า 1,000 คนที่ จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2553
@ ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมการประกวดราคา
|“ซื้อของจากคู่แข่งประกวดราคามาขายต่อกรมการปกครอง ”|
ในรายงานผลการตรวจสอบ สตง. ระบุว่า กรมการปกครอง ได้ดำเนินการจัดซื้อเครื่องตรวจหาทิศทางระเบิดหรือยาเสพติดแบบมือถือ ALPHA 6 จำนวน 2 ครั้ง ปรากฏข้อเท็จจริงโดยสรุป ดังนี้
ครั้งแรก จัดซื้อในปี 2551 จำนวน 63 เครื่อง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายในวงเงิน 33.56 ล้านบาท มีผู้เข้าเสนอราคา 2 ราย โดยบริษัทผู้เสนอราคาต่ำสุดได้สั่งซื้อเครื่อง ALPHA 6 จากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้ไปสั่งซื้อต่อจากบริษัทเอกชนอีกแห่งหนึ่งที่เข้าร่วมในการเสนอราคาครั้งนี้ มาขายให้กรมการปกครอง ซึ่งมีพยานหลักฐานการนำเข้าสินค้าและใบเสร็จรับเงินจากกรมศุลกากรและใบเสร็จรับเงินระหว่างผู้เสนอราคาด้วยกัน
ครั้งที่สอง จัดซื้อในปี 2552 จำนวน 479 เครื่อง ภายในวงเงิน 369.02 ล้านบาท โดยวิธีพิเศษมีผู้เข้าเสนอราคา 2 ราย โดยบริษัทผู้เสนอราคาต่ำสุด ได้สั่งซื้อเครื่อง ALPHA 6 จากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้ไปซื้อต่อจากบริษัทเอกชนอีกแห่งหนึ่งที่เข้าร่วมในการเสนอราคาครั้งนี้มาขายให้กรมการปกครอง ซึ่งมีพยานหลักฐานการนำเข้าสินค้าและใบเสร็จรับเงินจากกรมศุลกากรและใบเสร็จรับเงินระหว่างผู้เสนอราคาเช่นกัน
@ เส้นทางการนำเข้าเครื่อง ALPHA 6
|“นำเข้ามาเป็นถุงเมล์ด่วน ประกอบในไทย..ต้นทุนจริงเครื่องละ 1 พันบาท ”|
สตง.ยังระบุด้วยว่า จากการตรวจสอบรายละเอียดการนำเข้าสินค้าจากกรมศุลกากรพบว่า เป็นการนำเข้าชิ้นส่วนของเครื่อง ALPHA 6 มาจากต่างประเทศ โดยนำเข้ามาเป็นถุงเมล์ด่วน ซึ่งเป็นการนำเข้าของเร่งด่วนประเภทที่ 3 ที่ต้องชำระอากรแต่ละใบตราส่งมีราคา F.O.B. ไม่เกิน 40,000 บาท แล้วมาประกอบเป็นตัวเครื่อง ALPHA 6 ในประเทศไทย โดยกรรมการผู้จัดการบริษัท รับว่าเป็นผู้ประกอบเอง ซึ่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และตามมติคณะรัฐมนตรีในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 เรื่อง การปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเรื่องหลักเกณฑ์การใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศกรณีการจัดซื้อเครื่อง ALPHA 6ดังกล่าวถือว่าเป็นพัสดุที่ผลิตในประเทศไทยและเมื่อนำราคาของที่นำเข้าที่สำแดงต่อกรมศุลกากรมาคำนวณเป็นตัวเครื่อง 1 ชุด หรือ 1 เครื่อง
น่าจะมีราคาเป็นต้นทุนทางวัตถุดิบแต่ไม่รวมค่าดำเนินการอื่น ๆ ประมาณ 1,000 บาท ต่อ 1 เครื่อง
ข้อมูลเกี่ยวกับ เครื่อง ALPHA 6 ที่มีการเผยแพร่ในโลกออนไลน์
@ ผลการตรวจสอบการวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง
|“ไม่มีการทำงานโดยใช้ไฟฟ้าสถิตจากมนุษย์ตามคุณสมบัติของเครื่อง
ที่ผู้ขายแสดงไว้และที่เป็นข้อกำหนดเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญในการจัดซื้อ”|
ในด้านประสิทธิภาพของเครื่อง ALPHA 6 นั้น สตง.ระบุว่า ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 82/2553 ลงวันที่ 1 เมษายน 2553 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจพิสูจน์เครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด GT 200 โดยคณะกรรมการฯ ได้ตรวจสอบและทำรายงานผลการตรวจสอบการวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง GT 200 และเครื่อง ALPHA 6 ด้วย
ผลปรากฏว่า ไม่พบว่ามีการแผ่สนามไฟฟ้า ไม่พบประจุไฟฟ้าสถิตสะสม และไม่พบการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเครื่อง ALPHA 6 ในทุกสภาวะการทดสอบ
ดังนั้น จึงรับฟังได้ว่าเครื่องตรวจหาทิศทางระเบิดหรือยาเสพติดแบบมือถือ หรือ ALPHA 6 ไม่มีการทำงานโดยใช้ไฟฟ้าสถิตจากมนุษย์ตามคุณสมบัติของเครื่องที่ผู้ขายแสดงไว้และที่เป็นข้อกำหนดเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญในการจัดซื้อ (ดูรายละเอียดสรุปข้อมูลทั้ง 3 ประเด็น ในอินโฟกราฟฟิก ประกอบ)
เบื้องต้น สตง. ได้ชี้มูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในความผิดฐานฉ้อโกงเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการทางวินัยแก่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุและดำเนินการหาผู้รับผิดชอบทางแพ่งตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ในความเสียหายจากการจัดซื้อทั้งสองครั้ง และแจ้งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผลการดำเนินการทางแพ่ง และทางวินัยอยู่ในระหว่างการดำเนินการของกรมการปกครอง สำหรับการดำเนินการทางอาญา กรมการปกครองได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงต่อดีเอสไอ และ ดีเอสไอ ได้รับเป็นคดีพิเศษไว้แล้ว
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อ เครื่อง ALPHA 6 ของ กรมการปกครอง ทั้ง 2 สัญญา ในช่วงปี 2551และ2552 นั้น
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างพบว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2552 กรมการปกครอง ได้ทำสัญญาเลขที่ 118/2552 ซื้อเครื่องตรวจหาเครื่องตรวจหาทิศทางระเบิดหรือยาเสพติด พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 63 เครื่องจาก บ.ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด วงเงิน 33,450,000 บาท
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2552 กรมการปกครอง ได้ทำสัญญาเลขที่ 6/2552 จัดซื้อเครืองตรวจหาทิศทางระเบิดหรือยากเสพติดแบบมือถือ(พร้อมอุปกรณ์บอกชนิดการตรวจของยาเสพติด จำนวน 3 สาร) ผลิตภัณฑ์จากสหราชอาณาจักร(อังกฤษ)จำนวน 479 เครื่อง จาก บ.เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด วงเงิน 349,430,500.00 บาท
ขณะที่ ดีเอสไอ รับเรื่องการจัดซื้อเครื่อง ALPHA 6 ทั้ง 2 สัญญา ไว้เป็นคดีพิเศษแล้ว ตามหมายเลข 221/2555 นับรวมจำนวนเครื่องที่จัดซื้อ 542 เครื่อง สัญญาจัดซื้อจาก บ.ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เฉลี่ยอยู่ที่เครื่องละ 530,952 บาท สัญญาจัดซื้อจาก บ.เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด อยู่ที่ 729,500 บาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 328,880,500 บาท
ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1
ขณะที่ การจัดซื้อเครื่อง ALPHA 6 ของกรมการปกครอง ทั้ง 2 สัญญา ดังกล่าว ถูกระบุว่า เป็นจัดซื้อที่มากที่สุดในบรรดารายชื่อหน่วยงานราชการที่ทำการจัดซื้อเครื่องมือชนิดนี้
ส่วนข้อมูลบริษัทเอกชนนั้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า บริษัท เปโตร กรุงเทพ จำกัด พบว่า ได้แจ้งจดทะเบียนเลิกบริษัท ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 และยังไม่ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแต่อย่างใด
ทั้งหมดนี้ คือ รายละเอียดสำคัญที่ปรากฎในรายงานผลการตรวจสอบกรณีจัดซื้อเครื่อง ALPHA 6 ของ กรมการปกครอง วงเงิน 328 ล้านบาท ที่ สตง. ตรวจสอบพบและนับเป็นข้อมูลใหม่ที่ยังไม่เคยถูกเปิดเผยที่ไหนมาก่อน ตามที่ระบุไปก่อนหน้านี้
อ่านประกอบ :
ขู่ใช้อำนาจกม.ลงโทษอธิบดีปค.! สตง.จี้รายงานผลสอบวินัย 4ขรก.- จัดซื้อเครื่อง ALPHA 6
ตามไปดูบ.เอวิเอ หลังแพ้คดีขายจีที200 -รปภ.ปัดไม่รู้จักผู้บริหารโดนโทษจำคุกคนเดียว19 ปี
ผู้บริหารเอวิเอ โดนคุกอีก10 ปี! DSI เผยคำพิพากษาคดีขายจีที200 กรมสรรพาวุธทหารบก
จำคุก 9 ปี!ผู้บริหาร บ.เอวิเอฯขาย GT200 ให้กรมราชองครักษ์-ยื่น 9 แสนประกันตัวสู้ต่อ
ย้อนข้อมูล บ.เอวิเอฯ คู่ค้ากองทัพอื้อ1.3 พันล. ก่อนกรมราชองครักษ์ฟ้องชนะคดีซื้อจีที 200
เช็คท่าที 'กองทัพบก-กองทัพเรือ-2อบจ.' หลังกรมราชองครักษ์ฟ้องชนะคดีซื้อจีที 200
สัญญาโมฆะ-ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้!ชนวน บ.เอวิเอฯแพ้คดีGT200 ชดใช้9ล.
ไม่รับฎีกา! หลังศาลแพ่งสั่งเอวีเอฯ ชดใช้กรมราชองครักษ์9 ล. ซื้อเครื่องจีที200
19 สัญญา 688 ล.!เจาะข้อมูล7 หน่วยงานรัฐซื้อจีที200 ก่อนผู้ผลิตโดนยึดทรัพย์
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/