ทบ.ใช้งบกลาง 2.8 พันล้านซื้อ 'สไตรเกอร์'
ทบ.เปิดวงเงินซื้อ "สไตรเกอร์” ของบกลาง 2.8 พันล้าน ผนึกงบ ทบ.รวม 3.7 กว่าพันล้าน ชื่นมื่นทหารไทย-สหรัฐฯ “บิ๊กแดง” เปิดรั้วกองทัพบก ทำพิธีต้อนรับ
ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนิน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พร้อมด้วยพล.อ.โรเบิร์ต บี บราวน์ ผู้บัญชาการกองกำลังทางบกประจำภาคพื้นแปซิฟิก สหรัฐอเมริกา ร่วมกันเป็นประธานในพิธีรับมอบยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ โดยมีการจัดแถวทหารกองเกียรติยศต้อนรับอย่างสมเกียรติ จากนั้นกองทัพบกได้นำยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์จำนวน 4 คันออกมาเข้าร่วมโชว์ในพิธีด้วย โดยมีการจัดแถวทหารจากกองพลทหารราบที่ 11 (พล.ร.11) และกรมสรรพาวุธทหารบก จำนวน 100 นาย มีพ.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ รองผบ.พล.ร.11 เป็นผู้ควบคุมแถว โดยมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพบก ผู้ช่วยทูตทหารสหรัฐฯ ตัวแทนสถานทูตสหรัฐฯ ตัวแทนองค์กรทางการทหารสหรัฐฯประจำประเทศไทย (จัสเม็ก) และตัวแทนนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) จำนวน 61 นาย จากศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหารทั่วประเทศ เข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่กองทัพบกจัดพิธีรับมอบยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ภายในบก.ทบ.อย่างยิ่งใหญ่
ทั้งนี้พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวว่า กองทัพบกไทยไม่ได้จัดหายานเกราะล้อยางสไตรเกอร์แบบเดียว เนื่องจากมีหลายแบบที่เราต้องเร่งจัดหา ซึ่งอยู่ในกระบวนการจัดหาอยู่แล้วที่ทางสหรัฐฯได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ คือยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์แบบพยาบาลสามารถช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือดินถล่ม สามารถเข้าไปได้ทุกพื้นที่ในทุกภูมิประเทศ และภายในรถสามารถรักษาผู้ป่วยได้ทันที ซึ่งมีหลายคันที่กองทัพบกจัดหา นอกจากนี้ยังมียานเกราะล้อยางสไตรเกอร์แบบบังคับบัญชา และยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์แบบยิงสนับสนุน 120 มิลลิเมตร โดยเราได้นำงบประมาณไปใช้จ่ายส่วนหนึ่ง และทางสหรัฐฯให้ความช่วยเหลืออีกส่วนหนึ่ง
พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของรถหุ้มเกราะล้อยานบีทีอาร์ที่จัดซื้อมาก่อนหน้านี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง เราไม่ได้นำยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์มาทดแทน ซึ่งรถหุ้มเกราะล้อยานบีทีอาร์อยู่อีกหน่วยหนึ่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทย ในขณะที่ยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์จะตั้งเป็นหน่วยใหม่ของพล.ร.11 เนื่องจากเป็นคนละภารกิจกัน และการจัดกำลังก็เป็นคนละรูปแบบ เราจะต้องนำยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งประเทศไทยมียุทโธปกรณ์หลายประเภท แต่ที่สำคัญคือเราใช้หลักนิยมของประเทศสหรัฐฯมากว่า 50 ปีแล้ว และยังไม่เคยเปลี่ยน ถึงแม้ในความหลากหลาย แต่หลักนิยมในการรบหรือการดำเนินการต่างๆ เป็นไปตามที่เราได้เรียนมาตั้งแต่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าก็ใช้หลักนิยมของสหรัฐฯ และใช้หลักสูตรเดียวกัน เพราะฉะนั้นความช่วยเหลือระหว่างสองประเทศ เรารักษาความสัมพันธ์ที่เป็นไปด้วยดีมาตลอด จึงเป็นที่มาของยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ ซึ่งขณะนี้ก็ยังมีประจำการอยู่ในกองทัพสหรัฐฯ
ด้านพล.อ.โรเบิร์ต บี บราวน์ กล่าวว่า เป็นความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีในวันนี้ ถือเป็นการเฉลิมฉลองความร่วมมือของไทยและสหรัฐฯกว่า 200 ปีที่มีมายาวนาน การที่เป็นพันธมิตรกันเป็นสิ่งสำคัญในการที่เราจะมีภูมิภาคที่ปลอดภัย มั่นคง แล้วก็เจริญมั่งคั่ง ตนเองมีส่วนในการก่อตั้งหน่วยยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ที่สหรัฐอเมริกาและก็ได้ใช้งานจริงในการทำสงครามที่ประเทศอิรัก นอกจากนี้ยังเป็นความภาคภูมิใจที่ได้ส่งมอบยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ที่มีสมรรถนะดีเยี่ยม ทั้งในเรื่องของการปกป้องสามารถทำความเร็วได้ งานในวันนี้เป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้กองทัพไทยเสริมสร้างความทันสมัย ซึ่งจริงๆแล้วเป็นสิ่งที่ทุกประเทศควรที่จะต้องทำ ตนขอยืนยันเรื่องของสมรรถนะ และประสิทธิภาพของตัวรถว่าสามารถใช้ในหน่วยงานหลายรูปแบบ เช่น การช่วยเหลือกรณีที่เกิดวิกฤต หรือเรื่องของความมั่นคงทางชายแดน และที่สำคัญยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์สามารถใช้ระหว่างสหรัฐฯและไทยเป็นสิ่งที่จะทำให้ทั้งสองกองทัพทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น เพราะเป็นอุปกรณ์ที่เหมือนกัน สามารถทำงานร่วมกันในเรื่องของความมั่นคงได้ดี แม้แต่การฝึกซ้อมคอบร้าโกลด์ก็สามารถนำยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ไปใช้งานได้
พล.อ.โรเบิร์ต บี บราวน์ กล่าวต่อว่า สำหรับตัวถังของยานเกราะฯสามารถใช้งานได้หลายรูปแบบ ทั้งในเรื่องของการลำเลียงพล การดูแลคนที่เจ็บป่วยถ้าในกรณีที่เข้าไปช่วยทหารที่ได้รับบาดเจ็บหรือแม้แต่ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บในการต่อสู้ เพราะตัวถังรถมีความนิ่ม และยังสามารถใช้ในสถานการณ์เหล่านี้ ทำให้ประหยัด เพราะตัวถังที่เหมือนกันและสามารถใช้งานได้หลายแบบ ขณะที่ล้อยานเกราะฯ เป็นระบบขับเคลื่อน 8 ล้อ นอกจากนี้ตนยังมีความภาคภูมิใจในความสัมพันธ์ของไทยกับสหรัฐฯ ส่วนยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์เป็นสิ่งที่จะช่วยไทยที่จะมีหน่วยสไตรเกอร์ของตัวเอง เพื่อดูแลด้านความมั่นคงและการช่วยชีวิต ซึ่งในพิธีรับมอบวันนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ถึงความมุ่งมั่นในด้านความมั่นคงทางทหารของสหรัฐฯและไทยที่มีต่อกัน
“ไทยเป็นประเทศแรกที่ใช้ยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์นอกอาณาจักรสหรัฐฯ และมีความภูมิใจมาก ที่ยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ได้ใช้ในสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน ซึ่งผมก็ใช้ยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์มานาน สำหรับข้อห่วงใยที่อาจทำให้จีนเกิดความไม่พอใจได้นั้น ผมมองว่าประเทศจีนก็ได้มาร่วมประชุมกองทัพบกกลุ่มประเทศภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 9-11 ก.ย. 62 ที่ผ่านมา คิดว่าเข้าใจแล้ว เชื่อว่าไม่เป็นการทำให้เกิดความไม่พอใจใดๆเพราะเป็นความร่วมมือที่ดึงทุกประเทศมาเป็นส่วนร่วม ไม่ได้กันประเทศไหนออกจากการทำงานร่วมกันหรือความร่วมมือด้านการทหาร เพราะว่ากลุ่มประเทศภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก คือเสรีและเปิดกว้างให้กับทุกประเทศที่ยินยอมพร้อมใจที่จะอยู่ภายใต้กฎของนานาชาติ” พล.อ.โรเบิร์ต บี บราวน์ กล่าว
ทั้งนี้พล.อ.อภิรัชต์ ยังได้เดินมาถ่ายรูปร่วมกับนักศึกษาวิชาทหารพร้อมกับกล่าวว่า ขอให้ทุกคนตั้งใจเรียนและช่วยเหลือพ่อแม่ รวมทั้งอย่าไปเชื่อข่าวลืออะไรทั้งหลาย ขอให้ใช้วิจารณญาณในการรับฟังข้อมูลโดยเฉพาะทางโซเชียลออนไลน์ และขอให้ช่วยกันป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะลุงเคยพูดไปแล้วว่า ทุกคนก็มีบ้านเป็นของตัวเองและมีที่ดินกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ช่วยปกป้องประเทศไว้ เราต้องศึกษาประวัติศาสตร์กันให้ดี อย่างไรก็ตามขอให้ทุกคนห่างไกลยาเสพติด และตั้งใจเรียน ซึ่งเชื่อว่าทุกคนที่ผ่านหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหารต้องมีอนาคตที่ดี และขอให้ช่วยกันบำเพ็ญตน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม ถ้าไม่เริ่มต้นที่พวกเรา ที่บ้านและที่ครอบครัวของเราก็ไม่มีใครสามารถทำได้
จากนั้นพล.อ.อภิรัชต์ได้นำพล.อ.โรเบิร์ต บี บราวน์ พร้อมคณะ และตัวแทนนักศึกษาวิชาทหารที่มาร่วมพิธีขึ้นไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติกองทัพบก หลังจากปรับปรุงบูรณะใหม่ โดยมีการจัดแสดงประวัติศาสตร์ทางการทหาร และการแสดงออกถึงความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันหลักของชาติ
สำหรับความเป็นมาของยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์นั้น กองทัพบกมีแนวทางเสริมสร้างพล.ร.11 ให้มีโครงสร้างการจัดหน่วยแบบกะทัดรัดและทันสมัยสอดคล้องกับหลักนิยมของกองทัพสหรัฐฯ รวมทั้งเพื่อให้เป็นกองพลหน่วยกำลังรบต้นแบบของกองทัพ จึงมีความต้องการยานเกราะที่เหมาะสมกับการใช้งานแบบยานรบทหารราบ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และจากการเยือนสหรัฐ (ฮาวาย) อย่างเป็นทางการขอผบ.ทบ.และคณะ ระหว่างวันที่ 28 พ.ย.- 3 ธ.ค. 2561 ได้มีการหารือร่วมกับพล.อ.โรเบิร์ต บี บราวน์ เกี่ยวกับการจัดหายานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ ที่ประจำการอยู่ในกองทัพสหรัฐฯ โดยทางกองกำลังทางบกประจำภาคพื้นแปซิฟิกพร้อมสนับสนุนการจัดหาในราคาที่เหมาะสม ซึ่งกองทัพบกได้ประชุมเพื่อหารือแนวทางการจัดหายานเกราะล้อยางและได้พิจารณาเลือกยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ของกองทัพสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นยุทโธปกรณ์ที่อยู่ในสายการส่งกำลังบำรุงในปัจจุบัน จึงอยู่ในสภาพที่พร้อมต่อการใช้งาน รวมถึงมีแนวทางการสนับสนุนชิ้นส่วนซ่อมที่ชัดเจน
ต่อมาเดือนเม.ย. 2562 กองทัพบกได้เสนอความต้องการในการจัดหายานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ RTA ICV เพื่อสนับสนุนภารกิจปรับโอนหน่วยออกนอกกองทัพบก และภารกิจเสริมสร้างพล.ร.11 จากสหรัฐฯ รวมทั้งสิ้นจำนวน 70 คัน เป็นการจัดหาโดยใช้งบประมาณกลางของรัฐบาล วงเงิน 2,860,000,000 บาท จำนวน 37 คัน และจัดหาโดยใช้งบประมาณของกองทัพบก วงเงิน 850,000,000 บาท จำนวน 10 คัน รวมถึงจากการช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯ อีกจำนวน 23 คัน
การจัดหายุทโธปกรณ์ครั้งนี้ เป็นการดำเนินการจัดหายุทโธปกรณ์ โดยวิธีผ่านทางวิธี Foreign Military Sales หรือ FMS ในลักษณะการจัดหายุทโธปกรณ์แบบองค์รวม พร้อมระบบอาวุธ การบริการสนับสนุนระบบส่งกำลังบำรุงแบบบูรณาการชิ้นส่วนซ่อมควบคู่กับการฝึกศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ยานเกราะล้อยางที่ได้จัดหาในครั้งนี้ เป็นสิ่งอุปกรณ์คงคลังของสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ได้จ้างบริษัทผู้ผลิตทำการปรับปรุงให้อยู่ในสภาพใหม่พร้อมใช้งาน อย่างไรก็ตามจากการจัดหายานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ RTA ICV ทำให้กองทัพบกได้รับยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยสอดคล้องกับหลักนิยม และการปรับโครงสร้างการจัดหน่วย เพื่อให้เป็นกองพลหน่วยกำลังรบต้นแบบของกองทัพบกโดยเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถที่ได้จากยานเกราะกับการใช้งานเป็นยานรบของทหารราบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติของหน่วยกำลังรบของกองทัพบก เช่น ลดการสูญเสียกำลังพล และเป็นการออมกำลังจากการเคลื่อนที่ภายใต้เกราะกำบัง อีกทั้งการได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯ ยังคงเป็นผลดีในด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตามยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์สามารถใช้งานในภารกิจที่หลากหลาย เช่น หน่วยกึ่งพร้อมรบเคลื่อนที่เร็ว เพราะเป็นการเข้าพื้นที่เป้าหมาย มีความคล่องตัว อยู่ในสนามได้ 72 ชั่วโมง ระยะ 500 กิโลเมตรต่อน้ำมัน 1 ถัง มีการติดตั้งแอร์ในยานเกราะฯ สามารถเข้าลุยพื้นที่น้ำได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สามารถดำน้ำได้เหมือนกับยานเกราะรุ่นก่อนหน้านี้ อีกทั้งมีการติดปืน M2 Browning หรือปืนกล 93 และใช้กำลังพล 9 นาย รวมพลขับและพลควบคุมรถ (พลยิง) รวม 11 คน