คำวินิจฉัยศาล รธน.กับการอภิปรายของฝ่ายค้านปมถวายสัตย์‘บิ๊กตู่’ในสภา?
“…แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ได้ ‘วินิจฉัย’ ในกรณีนี้ เพราะไม่ได้รับคำร้อง แต่ ‘เหตุผล’ ที่ไม่รับคำร้องนั้น อ่านแล้วอาจเข้าใจเสมือนว่าเป็นคำวินิจฉัย แม้เหตุผลดังกล่าวไม่มีผลผูกพันทุกองค์กรเพราะไม่ใช่คำวินิจฉัย แต่ประเด็นคือสภาผู้แทนราษฎร เป็นหนึ่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้นการที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ กรณีนี้ จะสามารถกระทำได้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 18 ก.ย. 2562 กันต่อไป…”
เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง กรณีกรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีนายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษา ม.รามคำแหง ร้องว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 อันเป็นการกระทำขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของนายภาณุพงศ์หรือไม่
เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุตอนหนึ่งว่า ว่า แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า นายภาณุพงศ์ ผู้ร้อง เห็นว่าการกระทำที่ถูกกล่าวอ้างว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (11) และมาตรา 46 ก็ตาม
แต่ พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 47 (1) บัญญัติว่า “การใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 46 ต้องเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิหรืเสรีภาพอันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ และต้องมิใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (1) การกระทำของรัฐบาล …” และมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติว่า “…ถ้าศาลเห็นว่าเป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา 47 ให้ศาลไม่รับคำร้องไว้พิจารณา” เห็นว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำทางการเมือง (Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล (Act of Government) ตาม พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 47 (1) ศาลรัฐธรรมนูญไม่อำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 46 วรรคสาม
ประกอบกับเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 เวลา 17.45 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต หลังจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน และต่อมาเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2562 เวลา 09.00 นาฬิกา นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีได้เข้ารับพระราชดำรัสในโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธยโดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ห้องรับรอง ชั้น 5 ตึกบัญชาการทำเนียบรัฐบาล การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องดังกล่าว (อ่านประกอบ : องค์กรใดก็ไม่มีอำนาจสอบ! ศาล รธน. มติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง‘บิ๊กตู่’ปมถวายสัตย์)
เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีนักกฎหมายหลายคนตั้งคำถามถึงเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญท่อนหนึ่งที่ว่า “การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด” นั้นกระทบถึงกรณีฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในประเด็นการถวายสัตย์ฯ ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 18 ก.ย. 2562 หรือไม่ ?
โดยตามญัตติที่ฝ่ายค้าน ลงนามโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภา ร่วมกับ ส.ส. จำนวน 205 ราย ยื่นญัตติอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ ระบุสาระสำคัญว่า การที่นายกรัฐมนตรีกล่าวนำการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนถูกต้อง ถือเป็นการจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอันเป็นเรื่องที่เป็นแบบแผนและขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ เป็นการกระทำต่อหน้าองค์พระมหากษัตริย์ผู้ใช้อำนาจแทนปวงชนชาวไทย ผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 161 การถวายสัตย์ปฏิญาณในครั้งนั้นจึงเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามมาตรา 5 วรรคแรก การกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนของนายกรัฐมนตรีเป็นข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัดต่อประชาชนทั่วไปและนายกรัฐมนตรีก็ยอมรับข้อเท็จจริงข้างต้น แต่ก็ยังไม่ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง กลับเดินหน้าบริหารราชการแผ่นดินต่อไป ซึ่งอาจเป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเข้ารับหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี จนส่งผลต่อเนื่องถึงความถูกต้องสมบูรณ์ในการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25-26 ก.ค. 2562 หรือไม่ (อ้างอิงข่าวจาก แนวหน้าออนไลน์)
หากพิจารณาจากญัตติอภิปรายของฝ่ายค้าน จะเห็นได้ว่า มีการตั้งคำถามถึง กรณีการถวายสัตย์ฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย ขณะที่เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว สาระสำคัญอยู่ในท่อนที่ว่า “การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด”
แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ได้ ‘วินิจฉัย’ ในกรณีนี้ เพราะไม่ได้รับคำร้อง แต่ ‘เหตุผล’ ที่ไม่รับคำร้องนั้น อ่านแล้วอาจเข้าใจเสมือนว่าเป็นคำวินิจฉัย แม้เหตุผลดังกล่าวไม่มีผลผูกพันทุกองค์กรเพราะไม่ใช่คำวินิจฉัย แต่ประเด็นคือสภาผู้แทนราษฎร เป็นหนึ่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้นการที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ กรณีนี้ จะสามารถกระทำได้หรือไม่นั้น
คงต้องรอดูในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 18 ก.ย. 2562 กันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/