ไทยพาณิชย์จับมือNIAจัดหลักสูตรติวเข้มเสริมแกร่งเชิงธุรกิจผู้พัฒนาเทคโนโลยีไทย
ไทยพาณิชย์เดินหน้าเร่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยพร้อมขยายกลุ่มใหม่พันธมิตรใหม่ต่อเนื่อง จับมือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA เปิดหลักสูตร “NIA-SCB Innovation-Based Enterprise (IBE)” ติวเข้มบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล (Tech Company) ด้วยความรู้เชิงผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) เสริมแกร่งทักษะทางธุรกิจและการตลาดให้สามารถขยายธุรกิจได้ พร้อมเป็นตัวเชื่อมทางด้านเครือข่ายธุรกิจด้วยโอกาสการเข้าถึง และนำเทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนการทำธุรกิจร่วมกับลูกค้าเอสเอ็มอีจากหลากหลายอุตสาหกรรม ผลักดันทั้งเอสเอ็มอีไทยและผู้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลให้เติบโตคู่กันแบบวิน-วิน
นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ธนาคารมีแนวนโยบายทางด้านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าพัฒนากระบวนการทำงานทั้งของธนาคาร และรวมไปถึงการมอบเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการพัฒนากระบวนการทำงานของลูกค้าเอสเอ็มอีของเราด้วย ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้ทำงานร่วมกับบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีทางด้านต่างๆ ที่มีศักยภาพมากมาย ทำให้เข้าใจถึงบริบททางด้านขีดความสามารถและข้อจำกัดบางประการ โดยเฉพาะทางด้านการตลาดและขยายธุรกิจ ที่เห็นว่าธนาคารสามารถช่วยพัฒนาต่อได้ จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA จัดหลักสูตรอบรม “NIA-SCB Innovation-Based Enterprise (IBE)” โดยเน้นการเสริมความรู้เชิงผู้ประกอบการให้กับกลุ่มนี้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีอย่างเข้มข้น ด้วยการเสริมแนวความคิดและประสบการณ์ทางด้านการตลาดและธุรกิจ เพื่อการนำเสนอและพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ทางธุรกิจได้อย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเตรียมโครงสร้างทางการเงินเพื่อดึงดูดนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนกับบริษัทด้วย ซึ่งนับเป็นระยะสำคัญที่จะส่งผลต่อการขยายธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน”
นอกจากนี้ เรายังต้องการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับการเสริมประสิทธิภาพการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีในปัจจุบัน และด้วยจุดยืนของธนาคารที่ต้องการเป็นผู้มอบแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการเติบโตให้แก่ลูกค้าทุกกลุ่ม ผู้ที่เข้าร่วมหลักสูตรนี้จะมีโอกาสเข้าร่วม Business Matching พบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของธนาคารฯ จากหลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอและพัฒนาเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ทางด้านกระบวนการทำงานต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มยอดขาย และลดต้นทุนให้กับเอสเอ็มอี ทั้งยังเป็นการขยายฐานลูกค้าของบริษัทอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่ายแบบวิน-วิน
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า "ระบบนิเวศในไทยเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้ปัจจุบันมีนักลงทุนในประเทศไทยเองและนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพไทยมากขึ้น สตาร์ทอัพในช่วง Early Stage สามารถหาแหล่งเงินทุนลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยได้ และหากเข้าสู่ช่วง Growth Stage แล้ว บริษัทมีทางเลือกที่จะจัดรูปแบบโครงสร้างบริษัทใหม่ โดยอาจจัดตั้งนิติบุคคลในต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาภายหลังได้ และในอนาคตมีแนวโน้มที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในบริษัทไทยมากขึ้น จากความพยายามทั้งจากภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันผลักดันการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย หุ้นส่วนบริษัทเพื่อยกระดับให้เป็นสากล”
NIA ได้จัดตั้งสถาบันวิทยาการนวัตกรรม หรือ NIA Academy ขึ้น โดยเป็นสถาบันเฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการนวัตกรรม เพื่อยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมของประเทศ ให้ก้าวสู่ระดับสากล สนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งความร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ในครั้ง จะช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดของสตาร์ทอัพไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งโอกาสเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงขององค์กรธุรกิจ ความรู้และมุมมองแบบนักธุรกิจ และแหล่งเงินทุนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการนวัตกรรมแบบเปิด โครงการนวัตกรรมดีไม่มีดอกเบี้ย และ NIA venture เป็นรูปแบบการสนับสนุนที่เหมาะสำหรับ Startup โดยจะเน้นการพิจารณาจากรูปแบบธุรกิจของโครงการ ซึ่งจะต้องมีลักษณะเติบโตอย่างก้าวกระโดด อีกทั้ง NIA ยังมีความร่วมมือกับประเทศต่างๆ และส่งเสริมให้สตาร์ทอัพสร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญาและใช้ประโยชน์ทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโต มี market innovation เพื่อให้ธุรกิจนวัตกรรมให้เติบโตไปตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย
ทั้งนี้ หลักสูตร “NIA-SCB Innovation-Based Enterprise (IBE)” เป็นหลักสูตรการอบรมที่เน้นไปในทางการทำ Business Matching, Testing Ground และการช่วยหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อติดอาวุธและบ่มเพาะชั้นเชิงทางธุรกิจให้กับบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีที่อยู่ในระยะ Growth Stage พร้อมเดินหน้าแข่งขันและเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด นอกจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์พร้อมจะผลักดันธุรกิจกลุ่มนี้ให้สามารถติบโตอย่างก้าวกระโดดผ่าน 4 องค์ประกอบในการทำธุรกิจ ได้แก่ องค์ความรู้ (Academy) ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน (Banking product and service) เครือข่ายธุรกิจ (Connection) และ ดิจิทัลโซลูชั่น (Digital solution) โดยใช้ระยะเวลาอบรม 26 สัปดาห์ จำนวนผู้เข้าอบรม 30 บริษัท