ภาครัฐ-ปชช.-วิชาการร่วมถกปัญหาเข้าถึง“กองทุนยุติธรรม”เผย4ปีบังคับใช้กม.ยังติดขัด
ภาครัฐ - ประชาชน - วิชาการร่วมถกปัญหาการเข้าถึง “กองทุนยุติธรรม” เผย 4 ปีการบังคับใช้กฎหมายยังติดขัด แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขกฎหมายกองทุนฯ ตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ให้กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2562 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดสัมมนาวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรื่อง “การระดมความเห็นเพื่อหาข้อเสนอทางนโยบายและแก้ไขกฎหมายในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ โรงแรมราชาวดี จังหวัดขอนแก่น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กิตติบดี ใยพูล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดการสัมมนาว่า แม้พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 จะมีเจตนารมณ์ที่ดีในการลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาคเท่าเทียม แต่ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เมื่อนำกฎหมายมาปฏิบัติ ได้พบปัญหาในการเข้าถึงของประชาชน ทั้งหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ออกมา รวมถึงการใช้ดุลพินิจที่เป็นอุปสรรคต่อการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย ที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรม เวทีวันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันทบทวนปัญหาและให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้กองทุนยุติธรรมสามารถเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนทุกคนได้อย่างเท่าเทียม
ในภาคเช้า ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับหลักการของกองทุนยุติธรรมและแนวปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รองศาสตราจารย์ ดร. ปกป้อง ศรีสนิท รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เจตนารมณ์ของการจัดตั้งกองทุนยุติธรรมเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหา “คุกมีไว้ขังคนจน” เพื่อให้คนที่ขาดทุนทรัพย์สามารถหาเงินมาเป็นหลักประกันในการประกันตัวและต่อสู้คดีได้โดยไม่ต้องถูกคุมขังในระหว่างที่ศาลยังไม่ตัดสินความผิด แต่ในทางปฏิบัติ คนยากไร้ที่ถูกฟ้องต้องพบกับอุปสรรคนานัปการในการเข้าถึงกองทุนฯ เช่น การที่คณะอนุกรรมการกองทุนฯ ไม่อนุมัติค่าใช้จ่ายจ้างทนายความที่ชาวบ้านจัดหา เนื่องจากมีหลักเกณฑ์พิจารณาว่าศาล หรือสภาทนายความ สามารถจัดหาทนายขอแรงให้ได้ ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้านที่ต้องการมีทนายความผู้เชี่ยวชาญในประเด็นที่ตนสู้คดี หรือการที่คณะอนุกรรมการกองทุนฯ มีเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติเงินประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยสันนิษฐานว่าผู้ต้องหากระทำความผิดหรือไม่ไว้ล่วงหน้า ทั้งที่ควรพิจารณาตามหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา นอกจากนี้ องค์ประกอบของคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัด ควรมีสัดส่วนของภาคประชาชนที่สมดุลกับภาครัฐ ร.ศ. ดร.ปกป้องฯ กล่าวด้วยว่า กรณีการกำหนดให้มีการวางหลักทรัพย์ประกันตัว หากมีการเปลี่ยนเป็นระบบประเมินความเสี่ยงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไม่แทน ซึ่งเป็นวิธีการที่หลายประเทศใช้ กองทุนยุติธรรมจะตัดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องเงินประกันและความยากลำบากของประชาชนไปได้ และว่าน่าจะถึงเวลาที่ได้มีการทบทวนกฎหมายหลังจากที่ใช้มากว่า 4 ปีแล้ว
ด้านนายทวีศักดิ์ สารทรัพย์ ยุติธรรมจังหวัดขอนแก่น แลกเปลี่ยนความเห็นว่า องค์ประกอบของคณะอนุกรรมการกองทุนฯ ที่หลากหลายมาก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระบวนการพิจารณาต้องมีรายละเอียด รอบคอบ และทำให้กระบวนการพิจารณาล่าช้า นอกจากนี้ การตีความและพิสูจน์ “ความยากจน” ของประชาชนที่มาขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากมีการตีความที่แตกต่างกัน เช่น ที่อยู่อาศัย ขนาดบ้าน หรือยานพาหนะที่มีไม่สอดคล้องกับฐานะที่ระบุ ทำให้คณะอนุกรรมการกองทุนฯ ไม่อนุมัติให้ความช่วยเหลือ โดยประเด็นดังกล่าว นางสาวณัฐวรรณ อารัมภ์วิโจน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณ์การพิจารณา “ความยากจน” โดยอ้างอิงจากรายได้สุทธิของผู้ร้องขอ ซึ่งอาจมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการวางเงินประกันหรือการจ้างทนายความ
นางสาวจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ข้อ 11 ระบุให้การพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลย ต้องคำนึงถึงลักษณะการกระทำความผิดที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยที่คดีส่วนใหญ่ที่ประชาชนถูกฟ้องโดยรัฐ เช่น คดีป่าไม้ที่ดิน จึงมักถูกตีความว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อย ดังนั้น การตั้งเงื่อนไขในการพิจารณาเช่นนี้จึงเป็นการสร้างเงื่อนไขเกินความจำเป็น นอกจากนี้ ตนเห็นว่า เมื่อศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาแล้ว คณะอนุกรรมการกองทุนฯ ควรอนุมัติให้ความช่วยเหลือเงินประกันตัวทันที โดยมิต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะอนุมัติความช่วยเหลือเงินหรือไม่ เนื่องจากหลายกรณีแม้ศาลจะมีคำสั่งให้ปล่อยตัว แต่คณะอนุกรรมการกองทุนฯ ไม่อนุมัติเงินช่วยเหลือ เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
ในช่วงบ่าย ประชาชนจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ทนายความ องค์การเอกชนที่ช่วยเหลือประชาชน รวมถึงนักศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความเห็น ตลอดจนข้อจำกัดในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม เช่น ขั้นตอนและความซับซ้อนของเอกสาร การได้รับคำแนะนำความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ไม่ชัดเจน ปัญหาการใช้ดุลพินิจ โดยเฉพาะในประเด็นเร่งด่วน ปัญหาการปล่อยตัวชั่วคราวแก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ลุกมาปกป้องสิทธิชุมชนและประโยชน์สาธารณะซึ่งมีความขัดแย้งกับหน่วยงานรัฐ ความไม่ชัดเจนของกำหนดระยะเวลาในการให้ความช่วยเหลือ รวมถึงข้อจำกัดด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้เป็นเจ้าของปัญหาในคณะอนุกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือของกองทุน เป็นต้น
ช่วงท้าย นางสาวอัจฉรา ฉายากุล รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวสรุปว่า การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเป็นหลักการพื้นฐานของหลักนิติธรรมที่ทำให้เสียงของประชาชนคนเล็กคนน้อยได้รับการรับฟังและมีความหมาย อันจะทำให้ประชาชนสามารถปกป้องสิทธิของตนเองและชุมชนได้ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พบว่ามีแผนแม่บทที่ระบุชัดเจนในประเด็นกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมซึ่งมีเป้าหมายในการอำนวยความยุติธรรมให้เป็นไปอย่างเสมอภาค โปร่งใส เป็นธรรม ทั่วถึง และปราศจากการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น ปัญหาการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายควรขับเคลื่อนและแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป
อนึ่ง เวทีครั้งนี้เป็นกิจกรรมสืบเนื่องจากการสัมมนาวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดโดย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับภาคประชาชนเมื่อปี 2561 โดยมีความมุ่งหมายให้ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนต่อการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ