สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯทรงเปิดงาน“การลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชน”ครั้งที่ 2
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จทรงเปิดงานสัมมนาวิชาการ “การลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชน” ครั้งที่ 2 เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาคนล้นคุก เน้นยุติธรรมสมานฉันท์ มุ่งนำคนดีคืนสู่สังคม
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2562 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโครงการสัมมนาวิชาการ “การลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชน” ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย โดยมีนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง และนางประกายรัตน์ ต้นธีระวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และผู้บริหารสำนักงาน กสม. เฝ้ารับเสด็จ
นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถวายรายงานว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนควบคู่กับการส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชน ในการจับกุมคุมขังบุคคลซึ่งในระหว่างการคุมขังนั้น บุคคลย่อมสูญเสียสิทธิในการเดินทางอย่างมีอิสระ อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่ง แม้ว่ารัฐจะมีเหตุผลในการทำให้บุคคลเสื่อมเสียอิสรภาพในรูปของโทษจำคุกก็ตาม แต่จำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน และมีกระบวนการปรับปรุงพฤติกรรมเพื่อเยียวยาแก้ไขให้เป็นการคืนคนดีสู่สังคม การสัมมนาในครั้งนี้จึงจัดขึ้นเพื่อผลักดันข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกรณีเกี่ยวกับการลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนให้หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายตระหนักถึงความสำคัญของหลักสิทธิมนุษยชน
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ทรงมีพระราชดำรัสเปิดงานสัมมนาว่า มีความยินดีที่ได้มาร่วมในพิธีเปิดสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ คำว่า “สิทธิมนุษยชน” มีความสำคัญและแสดงถึงสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงมีเพื่อทรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และพึงได้รับความคุ้มครอง รวมถึงผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ โดยต้นเหตุของการกระทำหลายครั้งมักเกิดขึ้นจากการขาดโอกาส ขาดความรู้ และทางเลือกที่ถูกต้องในชีวิต ดังนั้น นอกเหนือจากการลงโทษด้วยการจำกัดเสรีภาพแล้ว การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งการให้สิทธิในการแก้ไขตนเองและการเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีบทบาทนำในการผลักดันมาตรฐานสากลที่คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะผู้ต้องขังหญิง จนทำให้สหประชาชาติรับรองข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนเพราะ (ข้อกำหนดกรุงเทพฯ) ทำให้นานาประเทศหันมาสนใจเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขังและนำไปสู่การรับรองข้อกำหนดแมนเดลาในเวลาต่อมา
ส่วนศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง “ยุติธรรมเชิงสมาฉันท์” ว่า ปัจจุบัน จำนวนผู้ต้องขังในไทยที่เพิ่มสูงถึงเกือบสี่แสนคน ทำให้ไทยครองอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน จนเกิดภาวะที่เรียกว่า “คนล้นคุก” โดยสถิติผู้ต้องขัง 80% เป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับไปถึงสาเหตุของจำนวนผู้ต้องขังที่เพิ่มสูงขึ้น จะพบว่าเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระบวนการยุติธรรมเน้นไปที่การลงโทษผู้กระทำความผิด และการแก้แค้นทดแทนเป็นหลัก ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้เรื่อยไป มีความกังวลว่าจะกลายเป็นระเบิดเวลาที่จะสร้างผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมไทยและสังคมทั้งระบบ ดังนั้น จึงต้องปรับกระบวนทัศน์ในการแก้ไขปัญหาที่มุ่งเน้นการลงโทษผู้กระทำความผิด มาเป็นกระบวนการทำให้ผู้เสียหายได้รับการชดเชย เยียวยา ผู้กระทำผิดได้รับการฟื้นฟู แสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน สามารถกลับคืนสู่สังคมได้ และชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งการนำมาตรการทางเลือกอื่น ๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีกำกับติดตามเข้ามาใช้แทนการลงโทษทางอาญา ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับการลงโทษที่เหมาะสม และอยากที่จะกลับมาเป็นคนดีในสังคมได้
ในช่วงบ่ายมีการเสวนาเรื่อง “มาตรการด้านสิทธิมนุยชนเพื่อการลงโทษทางอาญา” โดย นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนนั้น มีฐานหลักที่สำคัญคือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ สำหรับเด็กจะมีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเพิ่มเข้ามา เพื่อให้การกระทำต่าง ๆ คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก ซึ่งอนุสัญญานี้ถือเป็นฐานสำคัญที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักคิดในการกำหนดมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีทางอาญา เช่น การใช้กระบวนการประชุมกลุ่มบำบัด ฟื้นฟู แก้ไข หรือการไกล่เกลี่ย หรือที่เรียกว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) เพื่อไม่ให้เด็กต้องถูกกักขังและได้มีโอกาสพัฒนาตนเอง
ส่วน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอการแก้ไขปัญหากระบวนการยุติธรรมไทยว่า จะต้องกลับมาพิจารณาตั้งแต่กระบวนการเรียนการสอนกฎหมายในระดับมหาวิทยาลัย การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ และผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหาคนล้นคุก รวมทั้งจะต้องเพิ่มทางเลือกในการลงโทษทางอาญา คือ การบำเพ็ญประโยชน์หรือบริการสาธารณะ สิ่งเหล่านี้เป็นมาตรการที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจและลดอคติของคนในสังคม เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถกลับมาเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติได้อีกครั้ง