ความปลอดภัยของระบบนิเวศน์ใต้ท้องทะเลอ่าวไทยกับการผลิตปิโตรเลียม
ภาพแท่นผลิตปิโตรเลียมที่ตั้งตระหง่านกลางท้องทะเลอ่าวไทย เชื่อว่าหลายๆ คน อาจจะสงสัยว่าในแต่ละวันที่มีการผลิตปิโตรเลียมนั้น จะส่งผลอะไรต่อระบบนิเวศน์ในท้องทะเลบ้างหรือไม่ อย่างไร??? เพราะห่วงโซ่อาหารในท้องทะเลอ่าวไทย ไม่ได้จำกัดแค่สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน์ใต้ท้องทะเลเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวเนื่องไปถึงคนด้วยเช่นกัน
แต่ในการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทยนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในฐานะหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลการประกอบกิจการปิโตรเลียมในประเทศ ก็มีมาตรการกำกับดูแลเพื่อป้องกันความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ในท้องทะเลในพื้นที่ที่มีการดำเนินงานอย่างเข้มงวด โดยในทุก ๆ ปี จะมีการตรวจเฝ้าระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมในอ่าวไทย ร่วมกับสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล
เพราะตระหนักอยู่เสมอว่า มีความเป็นไปได้ที่สารปนเปื้อนที่ปะปนอยู่ในแหล่งปิโตรเลียมตามธรรมชาติ อาจปนเปื้อนลงสู่ทะเล และสะสมตัวในสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น แพลงก์ตอน และปลาทะเลหน้าดินชนิดต่างๆ ซึ่งอาจจะส่งผลถึงคนที่เป็นผู้บริโภคปลาทะเลได้เช่นกันหากปริมาณสะสมของสารปนเปื้อนสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน
สำหรับการตรวจเฝ้าระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมในอ่าวไทยนั้น จะตรวจทั้งสภาพน้ำทะเลและเนื้อเยื่อปลาทะเลหน้าดินชนิดต่างๆ เช่น ปลาเก๋า ปลากะพง ปลาหมูสี ปลาสร้อยนกเขา ที่อาศัยบริเวณรอบแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย เพื่อหาความเข้มข้นของปรอท โดยนำหลักเกณฑ์และวิธีการวัดค่าตามมาตรฐาน US EPA ซึ่งเป็นมาตรฐานหน่วยงานกลางของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ยอมรับในระดับสากลเข้ามาใช้ในการตรวจวัดผล เพื่อให้ได้ผลการตรวจสอบที่ได้มาตรฐานเชื่อถือได้ โดยในรายงานการตรวจทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาปรอทปนเปื้อนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ค่าเฉลี่ยทั้งในส่วนของน้ำทะเลและเนื้อเยื่อปลาทะเลหน้าดินนั้นไม่เกินค่ามาตรฐานแต่อย่างใด
แม้ว่าการประกอบกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย จะมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ แต่การให้ความสำคัญในเรื่องการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้น้อยไปกว่ากัน ซึ่งไม่เพียงแต่ผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ข้างต้นที่แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ยังมีอีกภาพที่สื่อให้เห็นว่าการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงคำกล่าวอ้าง ก็คือภาพฝูงปลาจำนวนมากที่ว่ายวนอยู่บริเวณขาแท่นปิโตรเลียมที่เปรียบเสมือนแหล่งอนุบาลและแหล่งพักพิงที่ดีของสัตว์น้ำในท้องทะเล ที่หากเป็นคนที่ทำงานอยู่บนแท่นกลางทะเลคงจะเห็นจนชินตา และน่าจะยืนยันได้ว่าอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมก็สามารถอยู่กับธรรมชาติได้อย่างสมดุล