เครือข่ายลุ่มน้ำปิง เสนอ 9 แนวทางการจัดการน้ำลุ่มน้ำปิง
ภาคประชาชนลุ่มน้ำปิง เสนอการจัดการน้ำภายใต้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ต้องถอดบทเรียนการจัดการลุ่มน้ำที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้นำงบประมาณไปแก้ไขปัญหาจากโครงการเดิมที่ผิดพลาด
ในเวทีสัมมนาการจัดการลุ่มน้ำปิงอย่างยั่งยืน วันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ณ โรงแรมนวรัตน์ จ.กำแพงเพชร มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ และเครือข่ายลุ่มน้ำปิง โดยการสนับสนุนจาก Oxfam (ประเทศไทย) ได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาในลุ่มน้ำปิงตั้งแต่ต้นน้ำในอำเภอเชียงดาว ถึงปลายน้ำ ในจังหวัดนครสวรรค์ โดย นายสุนทร เทียนแก้ว ลุ่มน้ำปิงตอนบน ได้กล่าวว่าพื้นที่ป่าในลุ่มน้ำปิงตอนบนถูกคุกคามด้วยข้าวโพด ยางพารา ไม้เศรษฐกิจต่างๆอีกทั้งมีโครงการพัฒนาที่จะเข้ามาในลุ่มน้ำปิงตอนบหลายโครงการ เช่น กระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวง อ่างเก็บน้ำปิงตอนบน โครงการผันน้ำกก ปิง จากความไม่เปิดเผยข้อมูลของโครงการที่ชัดเจน ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนา ซึ่งเกิดจากความรู้สึกมากกว่าความรู้
ส่วนในพื้นที่ตอนล่างตั้งแต่จังหวัดตากถึงจังหวัดนครสวรรค์ สภาพปัญหาที่พบคือ น้ำหลาก น้ำแล้ง อุทกภัย และภัยแล้งในชุมชนบริเวณเขื่อนภูมิพล ดินโคลนถล่มจากน้ำป่าไหลหลาก พื้นที่ป่าลดลง กลายเป็นพื้นที่ทำกินถึงร้อยละ 90 (ไร่ข้าวโพด กะหล่ำปลี) ทำให้ไม่มีต้นไม้ดูดซับน้ำ มีโครงการก่อสร้างเขื่อน มีการบุกรุก สร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็นถนน โรงงานอุตสาหกรรม การสร้างฝายกั้นน้ำปิง เป็นเขื่อนหิน ทำให้เกิดปัญหาการใช้น้ำของชาวบ้าน ซึ่งไม่สอดคล้องกับลักษณะภูมินิเวศของแม่น้ำ
ในเวทีมีข้อเสนอในการจัดการลุ่มน้ำปิง ภายใต้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ดังนี้
1. สร้างป่าให้ซับน้ำ เป็นเขื่อนที่มีชีวิต เพื่อดำรงวิถีชีวิตของผู้คน และการพัฒนาที่ยั่งยืน
2. การแก้ไขปัญหาในลุ่มน้ำปิง ควรมีความสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และความหลากหลายทางชีวภาพในลุ่มน้ำ
3. ให้มีกรรมการลุ่มน้ำสาขา และลุ่มน้ำย่อยที่มาจากภาคประชาชน โดยราชการเป็นฝ่ายหนุนเสริม
4. ให้หน่วยงานราชการ เรียนรู้ระบบลุ่มน้ำ วิถีชีวิต การประกอบอาชีพ การใช้น้ำ ฯลฯ เพื่อให้มีการจัดการน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในแต่ละลุ่มน้ำ
5. ลดพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ และทบทวนนโยบายการปลูกพืชเศรษฐกิจ
6. สนับสนุนชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการป่า และการจัดตั้งกองทุนจัดการป่า
7. อนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำที่ถูกทำลาย เพื่อให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำ และแหล่งอาหารของชุมชน
8. ประยุกต์รูปแบบการจัดการน้ำแบบเหมืองฝาย กับการจัดการน้ำแบบสมัยใหม่ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
9.รัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชน ทบทวนบทเรียนการจัดการน้ำที่ผ่านมา ไม่ทำลายระบบนิเวศตามธรรมชาติ วิถีชีวิตผู้คน และไม่เดินซ้ำทางเดิม