รัฐตั้ง "ศูนย์ปฏิบัติการดับไฟใต้" 3 รองนายกฯบูรณาการ ปูดขบวนการแตกคอ
นายกฯถกเครียดหน่วยงานความมั่นคง คลอด "ศูนย์ปฏิบัติการดับไฟใต้" เป็นหน่วยถาวรคุมนโยบาย ให้ กอ.รมน.เป็นเจ้าภาพ ดึง "3 รองนายกฯ" ประสานมือบูรณาการ 17 กระทรวง ดีเดย์ 8 ส.ค.ถกขั้นตอนยุทธศาสตร์-จัดสรรงบประมาณ "เฉลิม" รับหนักใจ ยืนกรานไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่ อ้าง "โอบามา" ปราบ "บิน ลาเดน" ยังนั่งอยู่เพนตากอน
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงเป็นการด่วนเมื่อวันอังคารที่ 31 ก.ค.2555 ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปะทุรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่เริ่มเดือนรอมฎอน (20 ก.ค.) เป็นต้นมา
ทั้งนี้มีรัฐมนตรีและผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ อาทิ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เพิ่งได้รับมอบหมายจากนายกฯให้กำกับดูแลปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก (รองผบ.ทบ.) และ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นต้น
ภายหลังการประชุม พล.อ.ยุทธศักดิ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมยืนยันว่ายุทธศาสตร์ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาเดินมาถูกต้องแล้ว คงจะไม่มีการปรับปรุงอีก แต่จะเสริมให้ยุทธศาสตร์ดีขึ้นกว่าเดิม มีความเป็นเอกภาพมากขึ้น โดยรัฐบาลจะตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการถาวรจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยศูนย์ปฏิบัติการดังกล่าวนี้จะมีตนเป็นประธาน และมีรองนายกฯ อีก 2 คน คือ ร.ต.อ.เฉลิม กับ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันบูรณาการเพื่อให้เกิดการประสานงานจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
"ได้มอบหมายให้ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) เป็นฐานในการจัดตั้งศูนย์ และเป็นฝ่ายเลขานุการ ส่วนเจ้าหน้าที่ก็จะใช้ของกอ.รมน. รวมทั้งเจ้าหน้าที่จาก 17 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ส่วนสถานที่ตั้งของศูนย์ฯ ยังอยู่ระหว่างการหารือ โดยอาจใช้พื้นที่บริเวณสำนักงาน กอ.รมน. สวนรื่นฤดีไปก่อน สำหรับงบประมาณ เบื้องต้นจะใช้งบแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้"
ดีเดย์ 8 ส.ค.-ปูดแก๊งป่วนใต้แตกคอ
พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในวันที่ 8 ส.ค.นี้จะมีการประชุมขั้นตอนยุทธศาสตร์ และขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณปี 2555-2556 ถึงแม้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฯจะตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็เชื่อว่าการทำงานจะไม่ล่าช้า เพราะมีศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าอยู่ในพื้นที่ ซึ่งมี พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ดูแลอยู่แล้ว
"ขณะนี้พบว่ากลุ่มก่อความไม่สงบ 2 กลุ่มกำลังแย่งชิงความเป็นใหญ่ จึงต้องประเมินและหาช่องทางจากกลุ่มที่คิดว่าเราจะได้ประโยชน์ และขอยืนยันว่า สถานการณ์ความรุนแรงลดลง แต่ระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น" พล.อ.ยุทธศักดิ์ ระบุ
"เฉลิม"ปัดลงใต้อ้างโอบามายังอยู่เพนตากอน
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวก่อนเข้าประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานความมั่นคง ถึงกรณีได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลปัญหาภาคใต้ว่า รู้สึกหนักใจ เพราะไม่เคยรับผิดชอบงานในส่วนนี้มาก่อน แต่ก็เต็มใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ วันนี้ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ค่อนข้างรุนแรง ถือว่าเป็นงานยาก ยืนยันว่าตามหลักการรัฐบาลต้องเป็นผู้สั่งการ วางยุทธศาสตร์ ส่วนวิธีการต้องให้กองทัพเป็นเจ้าภาพ และหลังจากนี้จะเชิญตำรวจในภาคใต้ทั้งหมดมาหารือในฐานะที่คลุกคลีกับปัญหาว่ารัฐบาลควรสั่งการอย่างไร
ต่อข้อถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่นั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า คงไม่จำเป็น เพราะการรับรู้ปัญหาไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่ และในส่วนของกองทัพกับตำรวจก็มีศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าอยู่แล้ว สำหรับส่วนหลังก็ทำงานไป ระดับผู้บังคับบัญชาต้องให้นโยบาย อีกทั้งการลงพื้นที่จะเป็นการสร้างภาระให้กับเจ้าหน้าที่ จึงไม่มีความจำเป็นต้องลงพื้นที่อีก ขณะที่ขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ก็ยังดีอยู่
"ยกตัวอย่างโอบามา (นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ) ถล่ม บิน ลาเดน (หัวหน้ากลุ่มอัล กออิดะห์) นาทีสุดท้ายยังอยู่ที่เพนตากอน ถ้านายกฯมอบหมายให้ผมจริง ผมจะสร้างมาตรฐานเทียบเท่าเพนตากอน 2 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เครื่องมือเครื่องไม้พร้อม ชนิดที่กดปุ่มถามรู้เลยว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นอย่างไร สถานการณ์เป็นอย่างไร ผมว่าตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะผู้แทนต้องลงพื้นที่" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ (กลาง) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง (ขวา) พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา
ขอบคุณ : ภาพจากอินเทอร์เน็ต