หมอแนะไม่ควรใช้ “ทำหมันถาวร” ทางการแพทย์ไม่มีการคุมกำเนิดได้ 100%
อนุกรรมการมาตรฐานบริการสาธารณสุขเขต 7 ขอนแก่น แนะนำสูติแพทย์ให้ยืนยันการส่งตรวจชิ้นเนื้อหรือถ่ายภาพหลอดมดลูกที่มีไหมร้อยแสดงไว้ในเวชระเบียนหลังการทำหมันหญิงทุกครั้ง ตามมาตรฐานการผ่าตัดทำหมัน ป้องกันปัญหาทำหมันแล้วตั้งครรภ์ พร้อมระบุไม่ควรใช้คำว่า ทำหมันถาวร เพราะทางการแพทย์ไม่มีวิธีการใดคุมกำเนิดได้ 100% แต่ขอให้บอกผู้ที่มาคุมกำเนิดตามวิธีการคุมกำเนิดที่ใช้
รศ.นพ.ยุทธพงศ์ วีระวัฒนตระกูล ผู้ทรงคุณวุฒิจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ในฐานะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (อคม.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น บรรยายพิเศษเรื่องแผนส่งเสริมการดำเนินงานและสร้างการรับรู้ เพื่อลดอัตราการทำหมันแล้วท้องในพื้นที่ ในการประชุมติดตามกำกับผลการดำเนินงานด้านคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข และชี้แจงแนวทางการป้องกันการเกิดซ้ำด้านคุณภาพบริการของหน่วยบริการในพื้นที่ สปสช.เขต 7 ขอนแก่น เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ส.ค. 2562 ณ โรงแรมเจริญธานีขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ว่า การตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการทำหมันหญิง พบไม่บ่อย แต่เกิดขึ้นได้ จากการศึกษาพบว่าการทำหมันหลังคลอด มีประสิทธิภาพดีกว่าทำหมันหลังจากที่คลอดแล้วเป็นเวลานาน (หมันแห้ง)
รศ.นพ.ยุทธพงศ์ กล่าวว่า จากรายงานการศึกษาของตนและคณะ ในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2548 จากการติดตามผู้รับการทำหมันหญิงของ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2521-2545 เป็นเวลา 25 ปี จำนวน 35,094 ราย พบอัตราการตั้งครรภ์สะสม 74 ราย หรือร้อยละ 0.21 โดยแบ่งเป็นการตั้งครรภ์หลังการทำหมันหลังคลอด ร้อยละ 0.136 และการตั้งครรภ์หลังจากทำหมันแห้ง ร้อยละ 0.723 ส่วนการทำหมันพร้อมผ่าตัดคลอด พบร้อยละ 0.141
รศ.นพ.ยุทธพงศ์ กล่าวว่า การตั้งครรภ์หลังทำหมันหลังคลอด มีสาเหตุ 2 ปัจจัยหลักคือ ความผิดพลาดของการผ่าตัด ซึ่งเป็นเป็นสาเหตุที่พบบ่อย และการเกิดท่อเชื่อมระหว่างหลอดมดลูกที่ถูกตัดหรือเกิดการเชื่อมกันเองของหลอดมดลูก ส่วนการตั้งครรภ์หลังทำหมันแห้ง มีสาเหตุ 3 ปัจจัยหลักคือ 1. ความผิดพลาดของอุปกรณ์ 2. การเกิดท่อเชื่อมระหว่างหลอดมดลูก (fistula formation) และ 3. สตรีที่มาทำหมันแห้งอาจตั้งครรภ์ระยะแรกขณะเมื่อมารับการทำหมันแห้ง (Luteal phase pregnancy) ในบางรายอาจไม่พบสาเหตุ แต่อย่างไรก็ตามพบว่าส่วนใหญ่ของความล้มเหลวในการทำหมันไม่สามารถป้องกันได้
“ขอฝากไปยังแพทย์ พยาบาล ว่าในการให้คำแนะนำผู้ที่มาคุมกำเนิดหลังการคลอดนั้น ไม่ควรใช้คำว่า ทำหมันถาวร เพราะทางการแพทย์ไม่มีวิธีการใดคุมกำเนิดได้ 100% แต่ขอให้บอกผู้ที่มาคุมกำเนิดตามวิธีการคุมกำเนิดที่ใช้ เช่น การคุมกำเนิดด้วยการผ่าตัดท่อนำไข่ การกินยาคุมกำเนิด การใส่ห่วงคุมกำเนิด และขอให้มีการยืนยันการส่งตรวจชิ้นเนื้อหรือถ่ายภาพหลอดมดลูกที่มีไหมร้อยแสดงไว้ในเวชระเบียนหลังการทำหมันหญิงทุกครั้ง เพราะหากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นภายหลัง ก็ถือว่าไม่ใช่ความผิดพลาดของการผ่าตัด แต่เป็นการรักษาที่ได้คุณภาพและมาตรฐานแล้ว หากไม่มีการยืนยันหลอดมดลูกหากมีการร้องเรียนจะเป็นปัญหาเรื่องการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐานในภายหลัง” รศ.นพ.ยุทธพงศ์ กล่าว
รศ.นพ.ยุทธพงศ์ กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ออกหนังสือเวียน ที่ สปสช. 4.03 / ว. 1156 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 เรื่องแนวทางการพิจารณาคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีทำหมันแล้วตั้งครรภ์ นั้น แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.หากมีการยืนยันหลอดมดลูกหลังการทำหมันหญิง ไม่ว่าจะเป็นการส่งตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา หรือการใช้ไหมร้อยชิ้นเนื้อที่ตัดออกเหนือรอยผูกของหลอดมดลูก ว่าเป็นท่อหรือหลอดมดลูก พร้อมกับถ่ายภาพยืนยันในเวชระเบียนหรือบันทึกการผ่าตัด ถือว่าเป็นการทำตามมาตรฐานการผ่าตัด ไม่เข้าเกณฑ์การได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 2. หากไม่มีการยืนยันหลอดมดลูกหลังการทำหมันหญิง ให้ถือเป็นเหตุสุดวิสัย เข้าเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ตามมาตรา 41
ทั้งนี้ ในพื้นที่ สปสช. เขต 7 ขอนแก่น มีจำนวนผู้ขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการเข้ารับบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กรณีทำหมันหญิงแล้วตั้งครรภ์แต่ละปีประมาณ 20 – 25 ราย ทั้งนี้การช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 นั้น ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ใช่ความผิดพลาด จากการรับบริการสาธารณสุข แต่เรื่องดังกล่าวนี้มีความเห็นที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยกลุ่มของแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ เห็นว่าเป็นความจริงทางการแพทย์ที่มีอัตราการล้มเหลวได้ทั้งทางทฤษฎี และทางปฏิบัติ ในขณะที่กลุ่มองค์กรคุ้มครองผู้รับการรักษาเห็นว่าวิธีถาวรต้องไม่มีผิดพลาด