อย.เตือนชาวบ้านระวังโฆษณาแฝงผ่านสื่อท้องถิ่น
ก.สาธารณสุข เผยทิศทางนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคปี 54 บังคับใช้กฎหมายเข้ม ขยายผล อย.น้อย 3 หมื่นโรงเรียน เตือนชาวบ้านระวังรถขายเร่-โฆษณาแฝงผ่านวิทยุชุมชนและเคเบิ้ลท้องถิ่น ชูบทบาท อสม.เป็นฐานรณรงค์คุ้มครองผู้บริโภค เชื่อมโยงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่าในปี 2554 จะเดินหน้านโยบายคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องอาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และวัตถุอันตราย โดยจะมุ่งเน้น 3 ด้านคือ 1.บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด 2.รณรงค์สร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคในการอ่านฉลากก่อนซื้อสินค้า และไม่ตกเป็นเหยื่อโฆษณา 3.เน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ อาทิ ขยายฐาน อย.น้อยเพิ่มขึ้น จาก 500,000 คนใน 6,000 โรงเรียน เป็น 30,000 โรงเรียน และให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) เป็นฐานในการรณรงค์คุ้มครองผู้บริโภคในหมู่บ้าน ชุมชน และตำบล
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่าบทบาทหลักของ อสม. คือเป็นหน้าด่านในการเฝ้าระวังอาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆตาเขตชนบท โดยเฉพาะรถขายเร่ที่มักจะแฝงตัวเข้าไปตามหมู่บ้าน พร้อมกันนี้ยังมีหน้าที่ดำเนินมาตรการเฉพาะด้าน อาทิ ตรวจสอบร้านค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าขัดต่อกฎหมายหรือกฎกระทรวงฯที่ประกาศไว้ เช่น การขายผลิตภัณฑ์ปรุงรสโดยไม่ผสมไอโอดีน ซึ่ง อสม.จะแนะนำตักเตือน แต่หากผู้ประกอบการยังไม่ปฏิบัติตามก็จะส่งเรื่องไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
“ที่น่าเป็นห่วงในต่างจังหวัดคือโฆษณาสินค้าและการขายตรง ด้วยการแทรกซึมผ่านสื่อท้องถิ่น วิทยุชุมชน เคเบิลทีวี โดย อสม.จะส่งข้อมูลมาให้ อย.ดำเนินการจัดการอย่างเข้มข้น” นพ.พิพัฒน์ กล่าว
นพ.พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ระหว่างวันที่ 23–24 ธ.ค. จะมีการจัดงานครบรอบ 36 ปี อย. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานขององค์กร ทั้งนี้ตลอด 36 ปีที่ผ่านมา อย.ได้พัฒนาองค์กร บุคลากร ปรับปรุงกฎหมาย และโครงสร้างระบบงาน เพื่อให้งานคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพ โดยมีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ(ศรร.) ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน เฝ้าระวังการโฆษณา และตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศปป.) ที่ดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) ในการทำงานเชิงรุกตรวจจับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพที่กระทำผิดกฎหมาย สำหรับปี 2553 สามารถจับได้กว่า 130 ราย มูลค่าหลักร้อยล้านบาท .
ภาพประกอบจาก : http://www.lifepitlok.com/images_news/1248742756.jpg