เบื้องหลัง‘แม้ว’รอด! คำให้การลับ ‘ชัยณรงค์’ถ้าบอร์ดลงมติไม่ครบกรุงไทยปล่อยกู้มิได้?
“...การให้ถ้อยคำของนายชัยณรงค์ต่อ คตส. ที่ระบุว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ น่าจะเป็นนายทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน น่าจะให้การขัดกันกับคำเบิกความต่อศาลที่ระบุว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ น่าจะเป็นนายทักษิณ นอกจากนี้ ในการให้ถ้อยคำลับต่อ คตส. นายชัยณรงค์ ระบุด้วยว่า การจะอนุมัติสินเชื่อให้กับเครือกฤษดามหานครได้ คณะกรรมการธนาคารกรุงไทยรวม 5 ราย ต้องเป็นผู้อนุมัติ โดยศาลเห็นว่า หากนายชัยณรงค์คัดค้าน หรือโต้แย้งการอนุมัติจริง ธนาคารกรุงไทยจะอนุมัติสินเชื่อให้แก่เครือกฤษดามหานครได้อย่างไร…”
“การเบิกความเกี่ยวกับคำว่า 'ซุปเปอร์บอส' หรือ 'บิ๊กบอส' ว่า หมายถึงจำเลยที่ 1 (นายทักษิณ ชินวัตร) เป็นเพียงการคาดเดา ไปตามความเข้าใจของนายชัยณรงค์ (อินทรมีทรัพย์ กรรมการอิสระ ธนาคารกรุงไทย ขณะนั้น) เอง นายชัยณรงค์ไม่เคยรู้จักนายทักษิณเป็นการส่วนตัว เพียงแต่อ้างว่า ร.ท.สุชาย (เชาว์วิศิษฐ์ กรรมการ ธนาคารกรุงไทย ขณะนั้น) โทรศัพท์มาบอกว่า 'ซุปเปอร์บอส' ตกลงแล้ว อย่าถามข้อมูลมากนักและขอให้พิจารณาไปโดยเร็ว จึงเป็นกรณีที่นายชัยณรงค์รับฟังมาจาก ร.ท.สุชาย อีกทีหนึ่ง ดังนั้นซุปเปอร์บอสจะเป็นผู้ใด คงมีเพียง ร.ท.สุชาย เท่านั้น ที่จะยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ หรืออาจเป็นข้อกล่าวหาอ้างของ ร.ท.สุชาย เองก็เป็นได้ พยานปากนายชัยณรงค์ จึงเป็นพยานที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว จึงควรรับฟังด้วยความระมัดระวัง”
เป็นคำถ้อยความที่เป็นสาระสำคัญจากคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณ จำเลยที่ 1 คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานครโดยทุจริต วงเงิน 9 พันล้านบาท โดยเมื่อปี 2558 ศาลฎีกาฯพิพากษาจำเลยที่ 2-27 ไปแล้ว (อ่านประกอบ : ‘ทักษิณ’รอดอีกคดี! ศาลฎีกายกฟ้องคดีกรุงไทย-หลักฐานไม่ชัดเป็น'ซุปเปอร์บอส')
ทั้งนี้ในคำพิพากษาตอนหนึ่ง ระบุถึงกรณีนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในทางลับไว้อย่างน่าสนใจ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org หยิบยกมาให้รับทราบกัน ดังนี้
ตามคำฟ้องของ อสส. ต่อนายทักษิณ สรุปได้ว่า ระหว่างปี 2546-2547 จำเลยทั้ง 27 ราย ร่วมกันสนับสนุนนายทักษิณ ชินวัตร (จำเลยที่ 1) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กล่าวหาว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มีส่วนได้ส่วนเสียในการสั่งการ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ์ (จำเลยที่ 2) กับพวกที่เป็นกรรมการธนาคารกรุงไทยขณะนั้น (จำเลยที่ 3-4) ให้อนุมัติสินเชื่อให้กับเครือกฤษดามหานคร (จำเลยที่ 18-27) โดยผ่านคณะกรรมการสินเชื่อ และเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย (จำเลยที่ 12-17) ที่ได้รับความไว้วางใจจากธนาคารกรุงไทย ให้ดูแลและครอบครองทรัพย์สินของธนาคาร ร่วมกันยักยอกปิดบังทรัพย์สิน ในการปล่อยกู้สินเชื่อให้แก่เครือกฤษดามหานครโดยทุจริต และการอนุมัติเงินสินเชื่อดังกล่าวเพื่อประโยชน์ส่วนตนของนายทักษิณ จนทำให้เกิดความเสียหายประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดย อสส. ขอให้จำเลยที่ 1-27 ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว
ในคำพิพากษาของศาล ได้พิเคราะห์พยานหลักฐาน มีมติเสียงข้างมากว่า ตามการไต่สวนข้อเท็จจริง อสส. เบิกความนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ (กรรมการอิสระ ธนาคารกรุงไทย ขณะนั้น) เป็นพยาน นายชัยณรงค์ เบิกความว่า คณะกรรมการธนาคารกรุงไทยในขณะนั้นมีตน นายอุตตม สาวนายน (กรรมการอิสระ ธนาคารกรุงไทย ขณะนั้น ปัจจุบันเป็น รมว.คลัง) ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ์ ร่วมกับกรรมการอื่นรวม 5 ราย โดยในการอนุมัติสินเชื่อวงเงินเกิน 2 พันล้านบาท แต่ไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท จะต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคารกรุงไทย
ต่อมาเครือกฤษดามหานคร ได้ขอกู้สินเชื่อเพื่อนำไปลงทุนพัฒนาที่ดิน ใกล้กับบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 4 พันไร่ อย่างไรก็ดีปรากฏข้อเท็จจริงว่า จากการตรวจสอบสถานะทางการเงินของเครือกฤษดามหานคร พบว่า มีการขาดทุนสะสมจำนวนมาก อาจไม่มีศักยภาพในการชำระหนี้คืนแก่ธนาคารได้
นายชัยณรงค์ เบิกความอีกว่า หลังจากนั้น ร.ท.สุชาย โทรศัพท์หาตน บอกว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ ตกลงแล้ว อย่าสอบถามข้อมูลมากนัก และขอให้พิจารณาไปโดยเร็ว มีลักษณะเป็นการสั่ง คำว่า 'ซุปเปอร์บอส' น่าจะหมายถึงนายทักษิณ (จำเลยที่ 1) ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะเกิดเหตุ เนื่องจากทราบนิสัยของ ร.ท.สุชาย เวลากล่าวถึงนายทักษิณ มักใช้คำพูดว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ จึงเชื่อว่านายทักษิณ น่าจะเป็นคนสั่งการให้อนุมัติสินเชื่อครั้งนี้
ปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวธนาคารมักไม่ค่อยอนุมัติเงินกู้รายใหญ่แก่ใคร เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อน้อย แม้ว่าหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 รัฐบาลมีนโยบายปล่อยสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม แต่ในรายของเครือกฤษดามหานคร ถือว่าเป็นการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ น่าจะมีความผิดปกติ และเชื่อว่าน่าจะต้องมีการสั่งการจากระดับสูง
คำพิพากษา ระบุอีกว่า ในวันประชุมกรรมการดังกล่าว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีกรรมการเข้าร่วมประชุม 5 ราย (รวมนายชัยณรงค์ และนายอุตตม ด้วย) โดยนายชัยณรงค์ เบิกความว่า ได้พยายามทักท้วง และแสดงความไม่เห็นด้วยที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับเครือกฤษดามหานคร เพราะเครือกฤษดามหานครขาดสภาพคล่องทางการเงิน และมีหนี้สินเยอะ จึงลงมติไม่ให้ความเห็นชอบ
นายชัยณรงค์ เคยให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในทางลับว่า อ้างว่า ร.ท.สุชาย มักพูดถึงนายทักษิณเป็นภาษาอังกฤษ เช่น บอสดูโครงการนี้แล้ว (หมายถึงโครงการปล่อยกู้สินเชื่อให้เครือกฤษดามหานคร) บอกว่าเป็นโครงการที่ดี ขณะที่คำว่า 'ซุปเปอร์บอส' หมายถึงนายทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน (ชินวัตร ภรรยานายทักษิณขณะนั้น)
นายชัยณรงค์ ให้ถ้อยคำอีกว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้ปรับใหม่ โดยมี ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ์ (พี่ชาย ร.ท.สุชาย) เป็น รมว.คลัง แทนนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พร้อมกับอ้างว่า นายทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน แทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการธนาคารกรุงไทย
อย่างไรก็ดีการให้ถ้อยคำของนายชัยณรงค์ต่อ คตส. ที่ระบุว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ น่าจะเป็นนายทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน น่าจะให้การขัดกันกับคำเบิกความต่อศาลที่ระบุว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ น่าจะเป็นนายทักษิณ
นอกจากนี้ ในการให้ถ้อยคำลับต่อ คตส. นายชัยณรงค์ ระบุด้วยว่า การจะอนุมัติสินเชื่อให้กับเครือกฤษดามหานครได้ คณะกรรมการธนาคารกรุงไทยรวม 5 ราย ต้องเป็นผู้อนุมัติ โดยศาลเห็นว่า หากนายชัยณรงค์คัดค้าน หรือโต้แย้งการอนุมัติจริง ธนาคารกรุงไทยจะอนุมัติสินเชื่อให้แก่เครือกฤษดามหานครได้อย่างไร
ส่วนพยานปากนายอุตตม (สาวนายน อดีตกรรมการอิสระ ธนาคารกรุงไทย ปัจจุบันเป็น รมว.คลัง) ได้ความเพียงว่าก่อนเข้าประชุม นายชัยณรงค์ สอบถามที่หน้าห้องประชุมเพียงว่า ร.ท.สุชาย ได้โทรศัพท์มาถึงนายอุตตมหรือไม่ นายอุตตม ตอบว่า ร.ท.สุชาย ไม่ได้โทรศัพท์มาหาตน การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้เครือกฤษดามหานคร ในส่วนของนายอุตตม จึงมิได้เกิดจากการโน้มน้าวให้อนุมัติเพราะได้รับคำสั่งจากนายทักษิณ
พยานหลักฐานของโจทก์ที่ไต่สวนมายังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า นายทักษิณ สั่งการผ่าน ร.ท.สุชาย และกรรมการธนาคารกรุงไทยในช่วงเวลาดังกล่าว ให้อนุมัติสินเชื่อดังกล่าว นายทักษิณไม่มีความผิดตามฟ้อง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ถอดรหัส 5 คำชี้แจง 'อุตตม' คดีกรุงไทย กับคำถามรักษาผลปย.ชาติ หรือไม่?
‘อุตตม’เล่าฉากหลัง-โชว์หลักฐานครบ! เคลียร์คดีกรุงไทยยันบริสุทธิ์-ปัดถูกกันเป็นพยาน
จ่อฟ้องฝ่ายค้าน-คนนอก 4-5 คนใช้หลักฐานเท็จ! ‘อุตตม’ ยันไม่มีเอี่ยวคดีกรุงไทย
เบื้องหลัง ธปท.ไม่เอาผิด! เปิดคำให้การลับ‘อุตตม’คดีกรุงไทย ‘สุชาย-วิโรจน์’คีย์แมน
อุตตม สาวนายน: “ผมไม่ผิด” อย่าบิดเบือน! กรณีการปล่อยสินเชื่อธนาคารกรุงไทย
'ปรีดิยาธร เทวกุล' เล่าเบื้องหลังทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย จ้องโค่นตำแหน่งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ