ก่อนถูกยกโทษ! ย้อนผลสอบปลด‘วีระพันธ์’พ้นรองเลขาสภาฯ ปมขนดินสร้างสภาใหม่?
“…การบริหารจัดการดิน รวมถึงการดำเนินการขนย้ายดินออกจากพื้นที่ก่อสร้างตามสัญญามีความล่าช้า และมีปัญหา อุปสรรคมาโดยตลอด แสดงให้เห็นถึงแผนการบริหารจัดการและแนวทางการขนย้ายดินของนายวีระพันธ์ ที่ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยเฉพาะปัญหาการบริจาคดินให้กับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ที่มิได้ตรวจสอบความถูกต้องของพื้นที่ปลายทางที่บริจาคอย่างรอบคอบ จนเป็นเหตุให้นำดินที่เป็นทรัพย์สินของทางราชการไปถมที่ดินของบริษัท โกลเด้นแลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นพื้นที่ของเอกชนมิใช่ที่ดินของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ซึ่งเกิดจากความบกพร่องและความไม่เอาใจใส่…”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่องให้ข้าราชการพ้นจากราชการ ระบุสาระสำคัญคือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยกเลิกการพ้นจากตำแหน่ง รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรของนายวีระพันธ์ มุกสมบัติ จากกรณีถูกลงโทษปลดออกจากราชการ กรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2559 เนื่องจากคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภามีมติเสียงข้างมากเห็นชอบกับความเห็นของคณะอนุกรรมการข้าราชการรัฐสภาอุทธรณ์และร้องทุกข์ที่ให้ยกโทษแก่นายวีระพันธ์ และให้นายวีระพันธ์ พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากเกษียณอายุราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2559 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 ตามเดิม ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีคำสั่งยกโทษแล้ว
ประเด็นที่น่าสนใจในการพิจารณาเรื่องนี้ มีรายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภามีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เห็นชอบด้วยกับความเห็นของคณะอนุกรรมการข้าราชการรัฐศภาอุทธรณ์และร้องทุกข์ ที่ให้ยกโทษแก่นายวีระพันธ์ ในคดีเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (อ่านประกอบ : โปรดเกล้าฯ ยกเลิกโทษผิดวินัยร้ายแรง 'วีระพันธ์' รองเลขาฯ สภา-มติรอดหวุดหวิด 5:4)
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจที่มาที่ไปมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำสั่ง สนช. ที่ 5/2560 เรื่อง ลงโทษปลดนายวีระพันธ์ออกจากราชการ ลงนามโดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. (ขณะนั้น) สรุปรายละเอียดให้ทราบ ดังนี้
สำหรับนายวีระพันธ์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ในฐานะประธานกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ ทั้งนี้นายวีระพันธ์มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมถึงมีอำนาจในการบริหารจัดการดินในพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ด้วย
การที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ มีแผนงานและแนวทางในการจัดการมูลดินที่เกิดจากการก่อสร้างเป็น 2 แนวทาง คือ ให้ผู้รับจ้างขนย้ายมูลดินไปยังสถานที่พักดินที่สำนักงานเลขาสภาฯ เป็นผู้กำหนดในระยะทาง 10 กิโลเมตร และการบริหารจัดการมูลดินโดยจำหน่ายมูลดินที่ได้จากที่ราชพัสดุ ซึ่งอยู่ในความรู้เห็นของนายวีระพันธ์
แต่เมื่อพิจารณาจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาที่นายวีระพันธ์ เป็นประธานกรรมการตรวจการจ้างฯ เห็นได้ว่า การบริหารจัดการดิน รวมถึงการดำเนินการขนย้ายดินออกจากพื้นที่ก่อสร้างตามสัญญามีความล่าช้า และมีปัญหา อุปสรรคมาโดยตลอด แสดงให้เห็นถึงแผนการบริหารจัดการและแนวทางการขนย้ายดินของนายวีระพันธ์ ที่ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยเฉพาะปัญหาการบริจาคดินให้กับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ที่มิได้ตรวจสอบความถูกต้องของพื้นที่ปลายทางที่บริจาคอย่างรอบคอบ จนเป็นเหตุให้นำดินที่เป็นทรัพย์สินของทางราชการไปถมที่ดินของบริษัท โกลเด้นแลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นพื้นที่ของเอกชนมิใช่ที่ดินของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ซึ่งเกิดจากความบกพร่องและความไม่เอาใจใส่ของนายวีระพันธ์
เมื่อพิจารณาจากระยะเวลานับตั้งแต่นายวีระพันธ์ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการตรวจการจ้างฯ ได้ทราบเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น และได้ทราบมาโดยตลอดจากการรายงานให้ที่ประชุมรับทราบในทุกครั้งที่มีการประชุม นายวีระพันธ์ จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ไม่ทราบปัญหาเกี่ยวกับการขนย้ายมูลดินที่ล่าช้า และมีปริมาณดินตกค้างอยู่ในพื้นที่จำนวนมากได้ แม้ว่านายวีระพันธ์ จะมีการสั่งการโดยมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องไปดำเนินการก็ตาม แต่ไม่ปรากฎว่าปัญหาดังกล่าวจะลดลงแต่อย่างใด แต่ในทางตรงกันข้ามกลับพบปัญหาเรื่องการบริหารจัดการดินที่เกิดจากการก่อสร้างมากขึ้น
จากการที่นายวีระพันธ์ ไม่สามารถบริหารจัดการดินให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพประสิทธิผลทำให้ปริมาณดินที่เกิดจากการก่อสร้างสะสมอยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้าง เป็นเหตุให้สำนักงานเลขาฯ ต้องมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการดินในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการดินให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย นายวีระพันธ์ ในฐานะประธานกรรมการตรวจการจ้างฯ มิอาจปฏิเสธความรับผิดชอบ ที่ต้องดูแลรับผิดชอบให้การตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยได้ และจากการที่นายวีระพันธ์ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการจัดหาพื้นที่ทิ้งดินให้กับผู้รับจ้างได้ภายในระยะเวลาอันควร ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ล่าช้าออกไป และทำให้ไม่เสร็จตามแผนงานที่กำหนด
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว นายวีระพันธ์ ในฐานะประธานกรรมการตรวจการจ้างฯ ไม่มีแผนการบริหารจัดการดินที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล ปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่ในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้การขนย้ายดินออกจากพื้นที่เป็นไปด้วยความล่าช้า ทำให้การก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ล่าช้าออกไปจนเกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
การที่นายวีระพันธ์ ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดที่ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นประธานกรรมการตรวจการจ้างฯ โดยคำสั่งดังกล่าวกำหนดอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบให้ต้องดำเนินการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เมื่อพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ดังกล่าว จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการมอบหมายดังกล่าวรวมถึงการบริหารจัดการดินที่เกิดจากการก่อสร้างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมถึงการจัดหาพื้นที่ทิ้งดินเพื่อใช้ในการขนย้ายที่ดินที่เกิดจากโครงการก่อสร้างออกนอกพื้นที่ด้วย
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏพบว่า นายวีระพันธ์ มีพฤติการณ์ที่บกพร่อง ผิดพลาด ไม่เอาใจใส่ หรือปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง เนื่องจากการได้รับมอบหมายให้เป็นประธานกรรมกาตรวจการจ้างฯ ที่ต้องดูแลรับผิดชอบในงานสำคัญของสำนักงานเลขาฯ นายวีระพันธ์ จึงต้องตั้งใจอุตสาหะ เอาใจใส่ เร่งรัด และติดตามในเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด จนเต็มความสามารถเพื่องานลุล่วงไปด้วยดีมิให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ
ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงการปฏิบัติหน้าที่ของนายวีระพันธ์ ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามคำสั่งของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ 1218/2557 เมื่อพิจารณาหน้าที่ความรับผิดชอบของนายวีระพันธ์ ซึ่งโดยสภาพต้องเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในทางบริหารในการตัดสินใจ และการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้การบริหารจัดการดินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แล้วพบข้อเท็จจริงว่า มีดินที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่สะสมอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างจำนวนมาก ที่เกิดจากปัญหาการขนย้ายดินล่าช้า และมีปัญหาอุปสรรคตลอดตั้งแต่นายวีระพันธ์ เป็นประธานกรรมการตรวจการจ้างฯ ระหว่างวันที่ 25 มิ.ย. 2557 ถึงคราวประชุมนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2558 รวมเวลาประมาณ 17 เดือน ปัญหาและอุปสรรคการขนย้ายดินยังคงมีอยู่มาก แม้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการดินขึ้นมาช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าวแล้วก็ตาม แสดงให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลในการบริหารจัดการเรื่องดินที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ ไม่อุตสาหะ ไม่เอาใจใส่ และปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ของนายวีระพันธ์
จากสภาพปัญหาและอุปสรรคในการขนย้ายดินที่มีความล่าช้า ทำให้มีดินสะสมพื้นที่ก่อสร้างจำนวนมาก เป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่โดยตรง ทำให้การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามแผน และกรณีการขนย้ายดินดังกล่าวแสดงให้เห็นแล้วว่านายวีระพันธ์ บริหารจัดการดินไม่มีประสิทธิภาพ ปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นจึงต้องถือว่าการก่อสร้างอาคารัฐสภาใหม่ล่าช้า เป็นผลมาจากการกระทำของนายวีระพันธ์โดยตรง จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากประสิทธิภาพในการบริหารจัดการหรือความก้าวหน้าแก่ราชการที่เกิดขึ้น ถือได้ว่า นายวีระพันธ์ บริหารจัดการดินที่เกิดจากการก่อสร้างไม่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล เกิดจากการบกพร่องไม่เอาใจใส่ ปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องการขนย้ายมูลดินทำให้เกิดความล่าช้า เป็นผลให้การก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ล่าช้าไปกว่าแผนงานที่กำหนด ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อราชการ อันเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลดีหรือคามก้าวหน้าแก่ราชการ ตามกฎ ก.ร.ว่าด้วยวินัยข้าราชการรัฐสภาสามัญ พ.ศ. 2555 ข้อ 2 (5) และข้อ 5 และข้อ 6 (7) สมควรได้รับโทษปลดออก
ฉะนั้นอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554 ประกอบกับมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 จึงให้ลงโทษปลดออก ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2559 เป็นต้นไป สั่งเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2560 ลงนามโดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภาผู้แทนราฎร (ขณะนั้น)
นี่คือเบื้องหลังกรณีคำสั่งลงโทษนายวีระพันธ์ ปลดออกจากราชการตั้งแต่ปี 2560 มีผลย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2559 กระทั่งเวลาล่วงเลยมาในปี 2562 ไม่ทราบด้วยเหตุผลอะไรทำให้คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภามีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ยกโทษแก่นายวีระพันธ์ และเปลี่ยนจากถูกปลดออกเป็นเกษียณอายุราชการแทน ?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/