ป.ป.ส.ชี้แก้ยาเสพติดยั่งยืน ต้องใช้พลังชุมชน
ป.ป.ส.ภาคตะวันออก ชี้มาตรการปราบปรามได้ผลกับผู้ค้ารายใหญ่ แต่การแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชนต้องกระตุ้นให้ชาวบ้านดูแลกันเองได้ผลกว่ารัฐ ชูต้นแบบหมู่บ้านคลองจรเข้น้อยทำประชาคมเข้มแข็งแก้ปัญหายาเสพติดไปสู่การพัฒนาชุมชน
จากกรณีการเสียชีวิตของน้องโตมี่ ที่มีการจับกุมคนร้ายจนนำไปสู่การเปิดประเด็นขบวนการค้ายาเสพติด และรัฐบาลออกมาตอกย้ำนโยบายการแก้ปัญหาภายใต้เป็นปฏิบัติการไทยเข้มแข็งเอาชนะยาเสพติดยั่งยืน และเร่งรัดตรวจสอบ 2,000 ชุมชนทั่วประเทศที่ ป.ป.ส.ขึ้นแบล็คลิสต์ โดยเฉพาะ 120 ชุมชนแหล่งเสี่ยงภัยยาเสพติดใน กทม.
ดาบตำรวจวิทยา จันทร์ศิริ วิทยากรกระบวนการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ดีเด่น กล่าวกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวสถาบันอิศราถึงนโยบายการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลในช่วงปีที่ผ่านมาว่า ดำเนินการไปถูกทิศทางแล้ว เพราะปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในชุมชน โดยต้นเหตุอยู่ที่ผู้เสพ แผนปฏิบัติการประเทศไทยเข้มแข็งชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืนที่เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้มีโอกาสเข้าถึงเป้าหมายและแก้ไขได้ตรงจุด เท่ากับให้ชาวบ้านแก้ปัญหาของชาวบ้านกันเอง ชุมชนเข้ามามีบทบาทดูแลลูกหลานตัวเองได้มากขึ้น เพราะจากบทเรียนที่ผ่านมาหากใช้เพียงกฎหมายและอำนาจของราชการไม่สามารถจัดการยาเสพติดในชุมชนได้เด็ดขาดถ้าชุมชนไม่มีส่วนร่วมแก้ปัญหาตนเอง ส่วนรายใหญ่ๆที่มีอิทธิพลและเกินกำลังชาวบ้านก็ควรเป็นหน้าที่ของภาครัฐ
สำหรับการกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่อยู่ในบัญชีรายชื่อต้องดำเนินการ ดาบตำรวจวิทยา กล่าวว่า เป็นการโฟกัสพื้นที่ให้แคบลง โดยเฉพาะหมู่บ้านที่มีปัญหาหนักคือ 2,000 กว่าหมู่บ้านตามเป้าหมาย ควรได้รับการแก้ไขก่อน ซึ่งจะทำให้ชัดเจนขึ้นว่าหมู่บ้านที่ถูกขึ้นบัญชีอาจต้องมีมาตรการที่แตกต่างจากหมู่บ้านอื่น ทั้งนี้สถานการณ์ยาเสพติดในชุมชนปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลพวงจากพฤติกรรมการใช้ยารักษาโรคในทางที่ผิดหรือการใช้ยานอกบัญชียาเสพติด(แต่มีฤทธิ์เหมือนสารเสพติด)มากขึ้น เช่น ใช้ยาแก้ปวดลดไข้หรือยาแก้ไอบางชนิดแทนสารเสพติด
วิทยากรกระบวนการ ป.ป.ส. ยกตัวอย่างการป้องกันแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชน เช่น หมู่บ้านคลองจรเข้น้อย จ.ฉะเชิงเทรา เดิมตำรวจเข้ามาจับกุมดำเนินคดีกับลูกหลานชาวบ้านที่ติดยาเสพติด หรือราชการนำไปบำบัดรักษา แต่ก็กลับออกมามีพฤติกรรมซ้ำอีกทั้งเสพทั้งขายยา แสดงว่าปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริงด้วยวิธีการดังกล่าว ชาวบ้านจึงร่วมมือกับราชการจัดตั้งกลไกแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชนของตนเอง เน้นการใช้สันติวิธี ความเอื้ออาทร ไม่ควบคุมตัว แต่ควบคุมพฤติกรรม ให้โอกาสกลับตัวกลับใจ และมีการทำประชาคมเฝ้าระวังยาเสพติดที่เชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น การสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ หากไม่ได้ผลจึงค่อยส่งตัวให้ราชการดำเนินการขั้นเด็ดขาด
ดาบตำรวจวิทยา กล่าวถึงต้นแบบการแก้ปัญหายาเสพติดของ ป.ป.ส.ภาคตะวันออกว่าขณะนี้มีประมาณ 200 หมู่บ้านที่เป็นชุมชนพึ่งพาตนเองในการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ยึดพื้นที่ได้สำเร็จแล้ว ส่วนอีก 200 หมู่บ้านเกิดกระแสมีส่วนร่วมแล้ว ทั้งนี้รวมคิดเป็นร้อยละ 10 จาก 5,000 หมู่บ้าน ซึ่งหากสามารถทำได้ถึงร้อยละ 15 ก็น่าจะกระตุ้นให้หมู่บ้านรอบๆทำตามได้ นอกจากนี้ยังขยายผลไปยังภาคตะวันตกซึ่งเกิดชุมชนในลักษณะนี้ครบทุกจังหวัดแล้ว
“ชาวบ้านแก้ปัญหาเองได้ ถ้าราชการเปิดโอกาสและช่วยคุ้มครอง นโยบายการปราบปรามที่ทำอยู่ดีในส่วนของรายใหญ่ ขณะเดียวกันการสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชนจะช่วยรายย่อยได้”
ด้านนายศุขเกษม คงถาวร ประธานชุมชนเข้มแข็งบ้านคลองจรเข้น้อย กล่าวว่า เดิมปัญหาในชุมชนรุนแรงขนาดหลังคาเว้นหลังคามีผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ตามมาด้วยการลักขโมย ทะเลาะวิวาท ตำรวจเข้ามาก็จับคนผิดไม่ได้เพราะชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือเพราะกลัวบาดหมางกันและกลัวอันตราย จนกระทั่ง ป.ป.ส.ภาคตะวันออกเข้ามาส่งเสริมให้ใช้กลไกชุมชนจัดการปัญหายาเสพติด ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง และนำไปสู่การรวมพลังพัฒนาชุมชนในด้านอื่นๆ
“การแก้ปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน ไม่ได้อยู่ที่ทำให้ชุมชนปลอดยาโดยเร็ว แต่ต้องทำให้ชุมชนปลอดยาอย่างยั่งยืน และจะยั่งยืนได้ก็ต้องมีกลไกที่เข้มแข็ง และเหมาะที่สุดไม่ใช่ภาครัฐ แต่ต้องเป็นพลังชุมชนดูแลกันเอง ด้วยหลักสันติวิธี-ให้อภัย-ให้โอกาส” นายศุขเกษม กล่าว .