โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปาล์ม
วันที่ 27 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี หนึ่งในนั้นมีเรื่อง โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ วงเงินรวมทั้งสิ้น 21,495.74 ล้านบาท โดยให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณหารือในรายละเอียดเรื่องอัตราค่าชดเชยและค่าบริหารจัดการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
สาระสำคัญ
กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และ ธ.ก.ส. ได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 เพื่อจัดทำรายละเอียดโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 สรุปรายละเอียดได้ ดังนี้
1. ชนิดข้าวและพื้นที่ดำเนินการ ประกันรายได้ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ
2. ราคาและปริมาณประกันรายได้ กำหนดราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63 ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15% ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ โดยชดเชยเป็นจำนวนตัน ในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้
ชนิดข้าว ราคาประกันรายได้ (บาท/ตัน) ครัวเรือนละไม่เกิน (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 16
ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 25
ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 16
กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ใช้สิทธิ์ได้ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิดและเมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุด
3. ข้าวอายุสั้น (คุณภาพต่ำ) ที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ จำนวน 18 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ 75 พันธุ์ซี – 75 พันธุ์ราชินี พันธุ์พวงทอง พันธุ์พวงเงิน พันธุ์พวงเงินพวงทอง พันธุ์พวงแก้ว พันธุ์ขาวปทุม พันธุ์สามพราน 1 พันธุ์ 039 (อีกชื่อหนึ่งว่าพันธุ์เจ้าพระยา และพันธุ์ PSLC02001 – 240) พันธุ์โพธิ์ทอง พันธุ์ขาวคลองหลวง พันธุ์มาเลเซีย พันธุ์เตี้ยมาเล พันธุ์ขาวมาเล พันธุ์มาเลแดง พันธุ์เบตง และพันธุ์อีเล็ป รวมทั้งสายพันธุ์อื่นซึ่งพบว่ามีคุณลักษณะเช่นเดียวกับข้าวอายุสั้นที่ระบุนี้
4. เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 – 28 กุมภาพันธ์ 2563 ทั้งนี้ กรอบระยะเวลาการขึ้นทะเบียนในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
5. การคำนวณปริมาณผลผลิตของเกษตรกรที่จะได้รับสิทธิในการชดเชย ให้ใช้ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ตามที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวกำหนด
6. การกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิง รายละเอียด วิธีการกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงและระยะเวลาที่จะใช้สิทธิขอชดเชยระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 – 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เริ่มโครงการ ทั้งนี้ มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็นผู้พิจารณากำหนดรายละเอียดการดำเนินการนำเสนอ นบข. ต่อไป
7. การทำสัญญาและชดเชยส่วนต่าง
1) เกษตรกรต้องจัดทำสัญญาประกันราคากับ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่ภูมิลำเนา (ตามทะเบียนบ้าน) ของเกษตรกร สำหรับเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกข้าวคนละจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาและมีความจำเป็นไม่สามารถเดินทางไปทำสัญญาประกันราคาที่จังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาได้ อนุโลมให้เกษตรกรทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่เพาะปลูกได้ตามความจำเป็นเป็นราย ๆ ไป
2) ธ.ก.ส. ชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง
เรื่อง โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นวงเงินไม่เกิน 25,482.06 ล้านบาทตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ หารือในรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการคลังเสนอโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 มีรายละเอียดดังนี้
1. วัตถุประสงค์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้และลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว
2. กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวนประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่
3. วิธีดำเนินโครงการ กรมส่งเสริมการเกษตรนำข้อมูลรายชื่อเกษตรกรที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ส่งให้ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกร โดยผู้มีสิทธิ์ต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 (รอบที่ 1) กับกรมส่งเสริมการเกษตร
4. งบประมาณ วงเงินงบประมาณรวม 25,482.06 ล้านบาท
เรื่อง ขออนุมัติดำเนินการตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562 – 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562 -2563
2. อนุมัติวงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันปี 2562 – 2563 จำนวน 13,378,990,000 บาท โดยให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ หารือในรายละเอียดเรื่องอัตราค่าชดเชยและค่าบริหารจัดการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
3. มอบหมายกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ดำเนินโครงการตามอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ เป้าหมายของโครงการ และเจตนารมณ์ของรัฐบาลต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562 – 2563 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรอันเนื่องจากปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาผลผลิตตกต่ำ โดยกำหนดกรอบรายละเอียดโครงการตามสถานการณ์ข้อเท็จจริงรวมทั้งบทบาทหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้
1. วัตถุประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านรายได้ของเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาผลผลิตตกต่ำ
2. เป้าหมาย เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรทุกครัวเรือน โดยให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ และเป็นพื้นที่ปลูกต้นปาล์มที่ให้ผลผลิตแล้ว (อายุไม่น้อยกว่า 3 ปี)
3. อัตราการช่วยเหลือ
3.1 กำหนดรายได้ที่เหมาะสมที่เกษตรกรควรได้รับจากการขายผลปาล์มทะลาย (คุณภาพน้ำมัน 18%) ที่กิโลกรัมละ 4.00 บาท ณ หน้าโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม (ใช้เกณฑ์ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 3.00 บาท บวกค่าขนส่ง กิโลกรัมละ 0.25 บาท และผลตอบแทนให้เกษตรกรร้อยละ 23 หรือกิโลกรัมละ 0.75 บาท)
3.2 รัฐจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างอัตราประกันรายได้กับราคาตลาดอ้างอิงให้แก่เกษตรกร
3.3 ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่อปี ที่ใช้คำนวณวงเงินช่วยเหลือที่เกษตรกรแต่ละรายจะได้รับใช้ข้อมูลผลผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2559 - 2561) ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเผยแพร่
4. การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ และราคาตลาดอ้างอิง
คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562 – 2563 เพื่อทำหน้าที่พิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการการดำเนินโครงการประกันรายได้ ระยะเวลาการจ่ายเงิน รวมทั้งการกำหนดราคาตลาดอ้างอิง เพื่อใช้ในการคำนวณเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างอัตราประกันรายได้กับราคาตลาดอ้างอิงที่จะให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร โดยให้กำหนดราคาตลาดอ้างอิงเท่ากันสำหรับทุกจังหวัดแหล่งผลิตตามที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนด ทั้งนี้ ข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่จะใช้เป็นฐานการช่วยเหลือตามโครงการเป็นภารกิจตามหน้าที่และอำนาจของกรมส่งเสริมการเกษตรโดยตรง ขอให้คำนึงถึงความสะดวกและประโยชน์ที่เกษตรกรพึงได้รับการช่วยเหลือโดยเร็ว
5. การจ่ายเงินประกันรายได้
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างอัตราประกันรายได้กับราคาตลาดอ้างอิงให้แก่เกษตรกร ผ่านบัญชีของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและยื่นคำขอไว้แล้วเท่านั้น ตามระยะเวลาการจ่ายเงินที่คณะอนุกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562 – 2563 กำหนดตามความเหมาะสมและประโยชน์ที่เกษตรกรพึงได้รับ
6. การประชาสัมพันธ์
กรมส่งเสริมการเกษตร ธ.ก.ส. กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ประชาสัมพันธ์โครงการ รวมทั้งชี้แจงให้เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรับทราบเกี่ยวกับนโยบาย/โครงการประกันรายได้ คุณสมบัติของเกษตรกรผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ การขึ้นทะเบียนเกษตรกร การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างรายได้ ตลอดจนรายละเอียดอื่น
7. ระยะเวลา
7.1 ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 – กันยายน 2563
7.2 ระยะเวลาโครงการ เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 ระยะเวลาสิ้นสุดจนกว่า ธ.ก.ส. จะได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าชดเชยส่วนต่างรายได้ที่จ่ายให้แก่เกษตรกรและค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการของ ธ.ก.ส. ตามที่เกิดขึ้นจริง
8. ผลกระทบ
การดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562 – 2563 จะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร และช่วยให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันมีรายได้จากการขายผลผลิตเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงกว่าต้นทุนการผลิต ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการดำรงอาชีพเกษตรกรรมเพื่อเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบต้นน้ำให้แก่อุตสาหกรรมอาหารและพลังงานของประเทศต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินโครงการฯ ไม่มีผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค