GCจัดงาน“Waste Runner: Final Round ก้าวที่ร้อย สู่อนาคตขยะไทย”
GC จัดงาน “Waste Runner: Final Round ก้าวที่ร้อย สู่อนาคตขยะไทย” บทสรุป 100 วันการแข่งขันการสร้างโมเดลการจัดการขยะในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2562 บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมมือกับโครงการ OUR Khung BangKachao จัดงาน Waste Runner Final Round: ก้าวที่ร้อย สู่อนาคตขยะไทย นับเป็นบทสรุปของการแข่งขัน Waste Runner 100 Days Challenge ที่จะนำไปสู่การเริ่มต้นใหม่ของวงการขยะในประเทศไทย
คุณวราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า “ทาง GC มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นพลังของคนรุ่นใหม่ ที่ได้ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจ เพื่อร่วมกันหาทางออกสำหรับปัญหาการจัดการขยะในประเทศ โดยเฉพาะ 3 ทีมสุดท้ายของการแข่งขัน Waste Runner 100 Days Challenge ที่มุ่งมั่นพัฒนาโมเดลการจัดการขยะให้สามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากจะได้เห็นศักยภาพ ความใส่ใจ และความมุ่งมั่นของแต่ละทีมในโครงการนี้แล้ว ความตั้งใจของทั้ง 3 ทีมยังได้สร้างแรงบันดาลใจให้ภาคส่วนต่างๆเกิดความตระหนักและเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการหาทางออกให้กับสังคมไทยอีกด้วย สำหรับดิฉัน ทั้ง 3 ทีมและผู้สมัครเข้าร่วมในโครงการนี้ทั้งหมดรวมประมาณ 80 ทีม เป็นพลังของคลื่นลูกใหม่ที่สะท้อนความหวังในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยอย่างแท้จริง
ตั้งแต่เริ่มการแข่งขัน Waste Runner 100 Days Challenge สิ่งที่ GC มุ่งเน้นที่จะให้เกิดขึ้นมาโดยตลอด คือการระดมความคิดในการจัดทำโมเดลการจัดการขยะที่สนับสนุนหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy อย่างครบวงจร รวมถึงการให้ความรู้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งแนวทางแก้ไขต้องเริ่มที่การปลูกฝังจิตสำนึก แต่ต้องเป็นวิธีการบางอย่างที่สามารถสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจัดการขยะ รวมถึงการนำขยะเหล่านั้นกลับมาเพิ่มมูลค่า โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความเข้าใจว่าขยะมีมูลค่าและต้องได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้ GC ไม่สามารถทำได้โดยลำพัง แต่จำเป็นต้องอาศัยพลังและความมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วน
วันนี้ ทั้ง 3 ทีมได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่จำเป็นต้องทำในฐานะหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือองค์กรใดๆ การแข่งขัน Waste Runner 100 Days Challenge เป็นการพิสูจน์ว่า คนตัวเล็กๆก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ และ GC ในฐานะภาคเอกชนที่เล็งเห็นความสำคัญของหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนก็พร้อมที่จะสนับสนุนความมุ่งมั่นเหล่านี้ต่อไป”
สำหรับ 3 ทีมสุดท้ายที่ผ่านการคัดเลือก และได้ดำเนินการจริงในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าในช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้แก่
1. ทีม TRASH สร้างโมเดลแพลตฟอร์มส่งเสริมการคัดแยกขยะและ บริการกำจัดขยะครบวงจรในชุมชน โดยนำขยะมาเพิ่มมูลค่าผ่านกระบวนการ Upcycling
2. ทีม Orgafeed สร้างโมเดลเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย เพื่อลดขยะอินทรีย์ รวมถึงค่าใช้จ่ายการในการให้อาหารสัตว์
3. ทีม Zero Journey สร้างโมเดลลดใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastics) และโฟมในแหล่งท่องเที่ยว โดยสร้างเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงเครือข่ายร้านค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน
โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 2 และ 3 จะได้รับเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท 50,000 บาท และ 30,000 บาทตามลำดับ เพื่อต่อยอดโครงการและพัฒนาต่อไป
นายชยุตม์ สกุลคู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แทคท์ โซเชียล คอนซัลติ้ง กล่าวว่า “100 วันที่เกิดขึ้นมาในโครงการจนมาถึงวันนี้ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะกระตุ้นให้หลายๆคนที่มีความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นเส้นทางของตนเอง วันนี้เราจึงได้เชิญ Speaker ที่ผ่านประสบการณ์ในการดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมมาอย่างโชกโชน รวมทั้งบุคคลที่ผ่านการล้มลุกคลุกคลาน และได้ใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย มาเป็นต้นแบบให้กับผู้ที่ต้องการจะริเริ่มการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง
Speaker ทั้ง 3 ท่านมีแง่มุมแนวคิดและช่วงอายุที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น คุณชนนทร์ ศรีสุมะ ผู้ก่อตั้ง Refill Station ร้านปั๊มน้ำยาแห่งแรกในประเทศไทย คุณรพีพัทธ์ รัตนเตมีย์ ผู้นำทีมคว้ารางวัลเหรียญทองเกียรติยศจากเวที “44th International Exhibition of Inventions of Geneva 2016” ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และคุณธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง CreativeMove และกลุ่ม Greenery Challenge Community สำหรับทุกคนที่ต้องการลงมือช่วยกันลดขยะในชีวิตประจำวัน
จากผลลัพธ์ของทั้ง 3 ทีมที่ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชนคุ้งบางกะเจ้า และเรื่องราวของ Speaker เหล่านั้น ล้วนเริ่มต้นมาจากวันที่ไม่มีอะไร แล้วค่อยๆ ทุ่มเทสร้างเส้นทางของตนเองขึ้นมา ทาง Tact จึงอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่บางกะเจ้า และอยากให้ผู้ที่มีความสนใจและมีความมุ่งมั่นด้านการจัดการขยะเหมือนกันได้ลองเริ่มต้นด้วยตัวเอง
จึงขอเชิญชวนทุกคนให้กล้าที่จะลองทำสิ่งใหม่ๆ โดยอาจเริ่มต้นจากตัวเอง ครอบครัว หรือที่ทำงาน ขอเพียงใส่ความเชื่อ และความพยายามลงไป ไม่ว่าใครก็สามารถสร้างเส้นทางที่แตกต่างที่เป็นของตนเองได้ ดังนั้นจึงอยากให้บุคคลเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจและสร้างความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้กับทุกคน”
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จะนำโมเดลจากการเริ่มต้นดำเนินการจริงในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ไปส่งเสริมเพื่อให้เกิดการพัฒนาและต่อยอด รวมทั้งวางแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนต่อไป