ซีพีเอฟ ปลื้ม "คอนแทร็คฟาร์มมิ่ง" สร้างสังคม-สิ่งแวดล้อมยั่งยืนตามแนวทางสากล
บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร เผยการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของโครงการคอนแทร็คฟาร์มมิ่ง พบเกษตรกรมีคุณภาพชีวิต รายได้และสังคมที่ดีขึ้น ตลอดจนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมโดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทได้ทำการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของโครงการคอนแทร็คฟาร์มมิ่งเพื่อให้เห็นผลลัพธ์อย่างชัดเจนตามหลักการสากล โดยใช้วิธี Impact Valuation ที่จะตีมูลค่าผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบของโครงการออกมาเป็นมูลค่าเงิน
ผลการประเมินผลกระทบด้านสังคมของโครงการคอนแทร็คฟาร์มมิ่งพบว่า 1.) เกษตรกรมีเวลาว่างอยู่กับลูกและครอบครัวมากขึ้น จากเดิม 1.9 ชม./วัน เพิ่มเป็น 4.3ชม./วัน ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปถึงการลดปัญหาสังคมอันเนื่องมาจากปัญหายาเสพติดในเยาวชน 2.) โครงการฯ สามารถลดสัดส่วนเกษตรกรที่มีค่าครองชีพต่ำกว่าเส้นความยากจนลงจากเดิม 38% เป็น 0% และ 3.) เกษตรกรถึง 85% มีความสามารถส่งเสียบุตรหลานให้ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สำหรับผลการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมพบว่าการใช้ไฟฟ้าและเชื้อเพลิงในการเลี้ยงสุกรนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านก๊าซเรือนกระจก แต่ฟาร์มเกือบทั้งหมดของเกษตรกรซีพีเอฟมีการทำระบบไบโอแก๊ส (Biogas) ซึ่งเมื่อนำมาคำนวณร่วมกันแล้วพบว่า ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงกว่า 92,000 ตัน CO2 /ปี
เมื่อนำผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทุกข้อมาตีค่าเป็นมูลค่าเงินตามหลักการสากลพบว่า Contract Farming’s Impact Valuation มีมูลค่าเป็นบวกและมีค่าสูงถึง 230,475,694 บาท/ปี
“ผลการประเมินในครั้งนี้ตอกย้ำว่าโครงการคอนแทร็คฟาร์มมิ่งของซีพีเอฟ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความยั่งยืนให้สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการทวนสอบตามแนวทางสากลจากผู้ทวนสอบด้านความยั่งยืนชั้นนำระดับโลกช่วยยืนยันความถูกต้องของการประเมินนี้ด้วย” นายวุฒิชัยกล่าว
ทั้งนี้ บริษัทฯใช้หลักการประเมินตามแนวทาง Natural Capital Protocol และ Social Capital Protocol ขององค์กร WBCSD (The World Business Council for Sustainable Development) ทำการประเมินเกษตรกรคอนแทร็คฟาร์มมิ่ง กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรขุนประเภทประกันรายได้ในประเทศไทย ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีนักศึกษาจาก 4 มหาวิทยาลัยเป็นผู้ลงพื้นที่ทำการสำรวจ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิยาลัยวลัยลักษณ์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (วิทยาเขตบางพระ) และสถาบันปัญญาภิวัฒน์ โดยเมื่อผลการประเมินแล้วเสร็จ ซีพีเอฟยังเป็นบริษัทแรกของไทยที่ได้รับการทวนสอบตามแนวทางสากล จาก LRQA หรือ บริษัท ลอยด์ส รีจิสเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ทวนสอบด้านความยั่งยืนชั้นนำระดับโลก
อนึ่ง Contract Farming’s Impact Valuation นี้จะเป็นอีกส่วนสำคัญในการเสนอบริษัทเข้ารับคัดเลือกเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ (DJSI) ในปีถัดไป หลังจากซีพีเอฟได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI ติดต่อกันมาแล้ว 4 ปีซ้อน