สทนช.เดินหน้าหนุน“คณะกรรมการลุ่มน้ำ”ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จัดการน้ำประเทศ
สทนช. เดินหน้าสร้างกลไกการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำ ทั่วประเทศ อย่างไร้รอยต่อ ตาม พ.ร.บ.น้ำ เพื่อการบริหารจัดการที่มั่นคง ยั่งยืน
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการบูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งในระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และองค์กรผู้ใช้น้ำ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ในอันที่จะบูรณาการ การจัดสรร การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และสิทธิในน้ำ ให้เกิดความเป็นเอกภาพ โดยเฉพาะในระดับลุ่มน้ำที่มี “คณะกรรมการลุ่มน้ำ” เป็นกลไกหลักในการเชื่อมโยงระหว่างนโยบาย แผนงาน ระดับปฏิบัติการ ประชาชน และองค์กรผู้ใช้น้ำ เข้าด้วยกัน ซึ่งโครงสร้างของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ประกอบด้วย กรรมการลุ่มน้ำโดยตำแหน่ง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ และผู้ทรงคุณวุฒิโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาคทำหน้าที่เป็น สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มน้ำ
กฎหมายได้กำหนดบทบาท หน้าที่และอำนาจของ “คณะกรรมการลุ่มน้ำ” ได้แก่ บริหารทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ จัดทำแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง แผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม เสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อให้ความเห็นชอบ พิจารณาปริมาณการใช้น้ำการจัดสรรน้ำและจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำในเขตลุ่มน้ำ ควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามกรอบหลักเกณฑ์และแนวทางที่ กนช. กำหนด เสนอความเห็นต่อ กนช. เกี่ยวกับแผนงานและโครงการ
ในการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ ซึ่งที่ผ่านมา สทนช. ได้จัดให้มีการประชุมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำ แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ตลอดจนพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และการจัดทำแผนปฏิบัติการรายลุ่มน้ำ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2562
ปัจจุบัน คณะกรรมการลุ่มน้ำในหลายพื้นที่ได้มีการประชุมเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในภาวะปกติ และในกรณี เกิดน้ำท่วมหรือภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำ และได้มีการนำข้อมูลน้ำในทุกมิติร่วมหารือและแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยเฉพาะพื้นที่ในโซนภาคเหนือ คณะกรรมการลุ่มน้ำได้มีการศึกษา วิเคราะห์บริบททางกายภาพของพื้นที่ เพื่อทำฝายขั้นบันไดชะลอและกักเก็บน้ำ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจรคือทั้งป้องกันน้ำท่วมและภัยแล้ง
“สทนช. มั่นใจว่าทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึง “คณะกรรมการลุ่มน้ำ” จะได้ร่วมกันบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างบูรณาการ เชื่อมโยงกันทุกภาคส่วนอย่างไร้รอยต่อ ตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับวางแผนงาน จนถึงระดับปฏิบัติการในพื้นที่ ที่จะมาร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างมั่นคงยั่งยืนไปด้วยกัน” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว