ผู้ว่า สตง.คืนความมั่นใจท้องถิ่น ใช้งบกองทุนสุขภาพตำบล ชูบทบาทใหม่ให้คำปรึกษา
ผู้ว่าการ สตง. คืนความมั่นใจหน่วยงานท้องถิ่น ใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลเสริมสร้างประโยชน์ ชูบทบาทเพื่อนร่วมทาง ให้คำปรึกษา-ชี้แนะแนวทาง หมดกังวลความผิด
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยในการบรรยาย “สตง.ยุคใหม่เพื่อนคู่ใจท้องถิ่น” ภายใน มหกรรมกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น 12 ปี กปท. เดินหน้า พลังท้องถิ่นไทย รอบรู้ สร้างสุขภาพ อย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ตอนหนึ่งว่า บทบาทใหม่ของ สตง.ในปัจจุบันนอกจากเรื่องของการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณแล้ว ยังเป็นการให้คำปรึกษาและตอบคำถามกับหน่วยงานผู้ใช้จ่ายงบประมาณได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ช่วยให้หน่วยงานต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นไปแล้วพอสมควร
สำหรับบทบาทหน้าที่ใหม่ของ สตง. ได้เกิดขึ้นภายหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ ซึ่งได้มีการทบทวนบทบาทหน้าที่ รวมถึงปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญของหน่วยงานต่างๆ โดยพบว่าหน้าที่ของ สตง. คือการทำให้การใช้จ่ายเงินของแผ่นดินเกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้มีการปรับหรือลดทอนบทบาทต่างๆ เพื่อความคล่องตัวในการทำงานของหน่วยงานรัฐมากขึ้น
นายประจักษ์ กล่าวว่า เมื่อเงินแผ่นดินเป็นของทุกคนในชาติ จึงต้องช่วยกันทำอย่างไรให้ทุกบาททุกสตางค์ของเราถูกใช้จ่ายอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด และถูกต้องตามกฎหมาย โดยที่ไม่มีใครต้องมารับโทษจากการใช้จ่ายที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้นที่ผ่านมาบางหน่วยงานที่อาจมีความไม่มั่นใจ หรือลังเลว่าการใช้จ่ายจะถูกต้องหรือไม่ ทำแล้วจะเกิดปัญหาไหม จึงเกิดการชะงักชะงันไม่กล้าใช้จ่าย ปัจจุบันได้มีการกำหนดแนวทางและปรับเปลี่ยนวิธีการ จนพบว่าตัวเลขค้างท่อของ กปท. มีแนวโน้มใช้จ่ายที่ดีขึ้น
ผู้ว่าการ สตง. ขยายความว่าตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 มาตรา 57 ได้ระบุไว้ว่าในกรณีที่หน่วยรับตรวจมีการสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ว่าการหรือเจ้าหน้าที่จะต้องตอบข้อสอบถามโดยเร็ว และไม่ช้ากว่า 30 วัน และในกรณีที่หน่วยรับตรวจได้ปฏิบัติตามแล้ว ยังมิให้ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องอีกด้วย
“ถ้าหลายระเบียบเป็นอุปสรรคปัญหาของการทำงาน ทาง สตง. สปสช. หรือทุกภาคส่วนเองต่างพร้อมช่วยกันปรับปรุงเพื่อให้เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น จึงขอให้มั่นใจ ถ้าเรามีเจตนารมณ์เดียวกันในการทำให้เงินทุกบาทของประเทศเกิดประโยชน์สูงสุด ก็ต้องมาร่วมมือกัน ไม่อยากให้มองว่า สตง. อยู่ต่างฝ่าย ไม่สนประโยชน์ภาพรวมทำงาน คอยแต่จะจับผิด เพราะเราไม่ได้หยุดแค่นั้น” นายประจักษ์ กล่าว
นายประจักษ์ กล่าวว่า ทาง สตง.จะไม่ภูมิใจกับผลงานการตรวจพบตัวเลขการทุจริต หรือการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่จะดีใจเมื่อตัวเลขเหล่านั้นลดลงจนเป็นศูนย์ ดังนั้นหากทำหน้าที่ตรวจสอบเพียงอย่างเดียวก็จะเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องมากมาย จึงต้องมีบทบาทการให้คำปรึกษา ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตามกฎหมายและบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วย ไม่ว่าจะท้องถิ่น ราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ จึงขอให้มั่นใจว่า สตง.จะเดินทางไปด้วยกัน ไม่อยู่คนละฝั่งคอยแต่จับผิด แต่มีทัศนคติที่จะทำให้สิ่งผิดพลาดได้รับการแก้ไข
ขณะเดียวกัน บทบาทในภาพรวมตามกฎหมายนี้ เมื่อพบว่าในเรื่องใดมีการกระทำผิดกันมาก จำเป็นที่จะต้องดูว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากอะไร หากมีปัญหาในทางปฏิบัติหรือข้อกฎหมาย หน่วยงานผู้มีหน้าที่กำหนดกฎเกณ์จะต้องร่วมกันแก้ไขระเบียบต่างๆ เพื่อไม่ให้ต้องเกิดความลังเลในการปฏิบัติ เพราะเจตนารมณ์ที่แท้จริงคือผลสัมฤทธิ์ และประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินของรัฐเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงเป็นหน้าที่ผู้ตรวจสอบที่จะร่วมมือกับโครงการและงานต่างๆ เพื่อบอกว่าจะต้องทำอย่างไร หากติดปัญหาแล้วจะต้องแก้ไขอย่างไร เพื่อให้โครงการที่ถูกเสนอและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนสามารถเกิดขึ้นได้
นายประจักษ์ สรุปว่า ในการดำเนินงานของกองทุนต่างๆ ของท้องถิ่นต่างๆ นอกจากความถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือแบบแผนที่กำหนดไว้แล้ว ยังจะต้องดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นปลายทาง สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการทำโครงการ ไม่ให้มีอะไรที่ต้องสูญเปล่า ส่วน สตง.จะเป็นเพื่อนของทุกหน่วยงานในการช่วยตอบคำถาม ตอบข้อสงสัยว่าจะทำงานอย่างไร หรือมีทางเลือกอะไรที่สามารถทำได้บ้าง และจะดึงเวลาไม่ได้
“ให้มั่นใจว่าถ้าเจตนาดีอยากทำให้ถูกต้อง ถามมาได้เลย เราจะตอบแบบมีคำตอบให้ หรือถ้าบางเรื่องมาเป็นหนังสือแล้วสร้างความเข้าใจได้ไม่หมด ก็สามารถเข้ามาพบปะพูดคุยโดยตรง หรือหากต้องการหนังสือยืนยันคำตอบเพื่อสร้างความมั่นใจให้ก็ยินดีเช่นกัน ความไม่มั่นใจในการทำงานต่างๆ สตง.จะแก้ไขในทุกส่วน ให้ท้องถิ่นสามารถเดินหน้าได้อย่างมั่นใจ” นายประจักษ์ กล่าว