ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯครบ 14 ปี! สถิติไฟใต้ดูดีแต่ยังไม่สงบ
คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินอนุมัติขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ชายแดนใต้ต่อไปอีก 3 เดือน รวมแล้ว 14 ปีเต็ม 9 รัฐบาลแต่ไฟใต้ก็ยังไม่ดับ แม้สถิติเหตุรุนแรงจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม
การประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ส.ค. มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นประธาน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ทุกอำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกเว้น อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอสุไหงโก-ลก, อำเภอสุคิริน และอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.62 และสิ้นสุดในวันที่ 19 ธ.ค.62 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย และดูแลความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน
ทั้งนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้เสนอขอปรับลดพื้นที่ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ออกจากพื้นที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ"เพื่อนำมาตรการตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ "พ.ร.บ.ความมั่นคง" มาบังคับใช้แทน ซึ่งการปรับลดพื้นที่ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลที่จะบังคับใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็นกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี โดยจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
อนึ่ง พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีทั้งสิ้น 33 อำเภอ ตั้งแต่เกิดเหตุปล้นปืนครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 4 ม.ค.47 ที่กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ค่ายปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส มีการประกาศกฎอัยการศึกเพื่อให้ฝ่ายทหารเข้าควบคุมพื้นที่ ทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 33 อำเภอ และอีก 4 อำเภอรอยต่อของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี
ต่อมาเมื่อเดือน ก.ค.ปี 48 เกิดเหตุรุนแรงครั้งใหญ่ที่เรียกขานกันว่า "เหตุดับเมืองยะลา" โดยคนร้ายได้ใช้วิธียิงหม้อแปลงเสาไฟฟ้าแรงสูงเพื่อให้ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง จากนั้นก็เปิดฉากโจมตีเจ้าหน้าที่ ฐานปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคง สถานที่ราชการ และบ้านเรือนประชาชนพร้อมๆ กันหลายจุด โดยเหตุการณ์ลักษณะนี้มีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และสั่งบังคับใช้ควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 33 อำเภอ ควบคู่กับกฎอัยการศึกนับแต่นั้้นมา และขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ทุกๆ 3 เดือนตั้งแต่ปลายปี 48 มาจนถึงปัจจุบัน นับได้ 56 ครั้ง รวม 14 ปีเต็ม 9 รัฐบาล
ส่วนพื้นที่รอยต่อ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก และต่อมาในปี 51 เมื่อมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ก็มีการประกาศให้พื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เป็นพื้นที่ปรากฏสถานการณ์ความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และขยายเวลาต่ออายุทุกๆ 1 ปีนับจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 33 อำเภอ มีการปลด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้วที่ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี เป็นอำเภอแรก ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากนั้นในรัฐบาล คสช. มีการปลดเพิ่มอีก 3 อำเภอ คือ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส และเสนอปลดเพิ่มอีก 1 อำเภอ คือ อำเภอศรีสาคร ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วย ก็จะนับเป็นอำเภอที่ 5 ที่ปลด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คงเหลือประกาศใช้อยู่ 28 อำเภอ
สำหรับสถิติเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ตั้งแต่ปี 47 จนถึงล่าสุด เดือน ก.ค.ปีนี้ (ปี 62) มีเหตุรุนแรงทุกประเภท (ทั้งยิง เผา ระเบิด และโจมตีที่ตั้งของฝ่ายความมั่นคง) เกิดขึ้น 10,076 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 4,054 ราย บาดเจ็บ 10,765 ราย
ทั้งจำนวนเหตุรุนแรงและความสูญเสีย พุ่งสูงสุดในปี 50 หลังจากนั้นมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษอย่างเข้มงวด ฝ่ายความมั่นคงเปิดปฏิบัติการ "ปิดล้อม-ตรวจค้น-จับกุม" ปูพรมทุกพื้นที่ ทำให้เหตุรุนแรงและความสูญเสียลดลงต่อเนื่อง อย่างในปี 60 มีเหตุรุนแรงทุกประเภท 580 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 250 ราย บาดเจ็บ 374 ราย ขณะที่ปี 61 เหตุรุนแรงลดลงเหลือ 544 เหตุการณ์ เสียชีวิต 218 ราย และบาดเจ็บ 265 ราย
แต่สำหรับปี 62 มีรายงานจากหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ว่า ผ่านมายังไม่ถึง 8 เดือน แต่สถิติเหตุรุนแรงใกล้เคียงกับเมื่อปี 61 สะท้อนว่าสถานการณ์ในพื้นที่ส่อเค้าหวนกลับมาตึงเครียดอีกระลอก
---------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่เอื้อเฟื้อกราฟฟิกสถิติความสูญเสียตลอด 15 ปีไฟใต้