ถอดบทเรียนกฎหมาย คดี ‘แพรวา 9 ศพ’ อุบัติเหตุบนทางด่วนโทลล์เวย์
ศูนย์นิติศาสตร์ มธ. ถอดบทเรียนทาง กม. คดี ‘แพรวา 9 ศพ’ อุบัติเหตุบนทางด่วนโทลล์เวย์ หลังรอนาน 9 ปี เหยื่อได้รับเยียวยา
กรณีเหตุการณ์เมื่อ 27 ธ.ค. 2553 น.ส.แพรวาหรืออรชร (จำเลย) ขับรถยนต์พุ่งเข้าชนท้ายรถตู้สาธารณะบนทางยกระดับอุตราภิมุข ซึ่งบรรทุกผู้โดยสาร 14 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและบุคลากรของม.ธรรมศาสตร์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นเหตุให้รถตู้คันดังกล่าวชนขอบทางยกระดับอย่างแรง ส่งผลให้ผู้โดยสารบาดเจ็บ 5 คน และเสียชีวิต 9 คน
คดีนี้ ม.ธรรมศาสตร์ มีคำสั่งให้ศูนย์นิติศาสตร์เข้าช่วยเหลือผู้เสียหาย โดยจัดทนายความดำเนินการยื่นฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย รวม 13 คดี และเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีอาญา
สำหรับในคดีอาญานั้นถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี ให้รอลงโทษเป็นเวลา 4 ปี กับให้ทำงานบริการสังคมดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุและห้ามขับรถยนต์จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์
ขณะที่ในคดีแพ่ง ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในแต่ละคดี และให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่อโจทก์ที่ 5 และที่ 11 ด้วย ซึ่งรวมค่าสินไหมทดแทนทุกคดีเป็นเงินทั้งสิ้น 25,261,164 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ทำละเมิด
โดยปัจจุบันครอบครัวของ น.ส.แพรวา ได้รวบรวมเงินมอบชดเชยให้แก่ผู้เสียหายแล้วตามที่ปรากฎเป็นข่าว ซึ่งใช้เวลายาวนานร่วม 9 ปี กว่าเหยื่อจะได้รับการเยียวยาอย่างสมบูรณ์
เรียกได้ว่า เป็นมหากาพย์ทางคดีตัวอย่างของไทย ศูนย์นิติศาสตร์และศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จึงร่วมกัน “ถอดบทเรียนทางกฎหมายจากคดีอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลล์เวย์” โดยจัดขึ้นไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องศาลจำลอง มารุต บุนนาค คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
ศ.ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญา ย้อนถึงเหตุผลในการช่วยเหลือทางคดีว่า ม.ธรรมศาสตร์ให้ความสนใจในคดีนี้มากและการที่ศูนย์นิติศาสตร์เข้าไปช่วยเหลือ แสดงว่าต้องมีเงื่อนไขสำคัญหลายเรื่อง เช่น ไม่สามารถดำเนินคดีได้ ไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่กรณีพิเศษ คือ มีบุคลากรของมหาวิทยาลัย ดังนั้น จึงต้องเข้าไปช่วยกัน โดยการตั้งคณะพิเศษขึ้นมา
ทั้งนี้ กระบวนการยากที่สุด คือ การกำหนดค่าสินไหมทดแทน ซึ่งมีการระดมอาจารย์ ทนายความ นักศึกษาที่ช่วยงานศูนย์นิติศาสตร์ทั้งหมดในช่วงนั้น ประมาณ 20-30 คน เข้ามาช่วยกันค้นแนวคิดพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวเนื่องกับค่าสินไหมทดแทน เพื่อศึกษาว่า แนวของศาลให้ประเด็นอะไรบ้าง
ฉะนั้นจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง จึงเป็นไปตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญา มธ. อธิบายว่า เรื่องที่เกี่ยวพันกันระหว่างคดีอาญาและคดีแพ่ง ที่สำคัญมาก คือ “การดำเนินคดีแพ่งที่กระทำต่อเยาวชน” วิธีพิจารณาความจึงมีความแตกต่างกันจากการดำเนินคดีอาญาของบุคคลทั่วไป แล้วแตกต่างกันมาก คือ ในคดีที่เยาวชนกระทำความผิด จะไม่ตีกฎหมายอาญาเหมือนกฎหมายแพ่ง ซึ่งกฎหมายแพ่ง ผู้เยาว์อายุไม่เกิน 20 ปี แต่คดีอาญา ผู้เยาว์อายุไม่เกิน 18 ปี ในวันกระทำความผิด หลังจากที่มีการแก้ไข ท้ายสุดยังต้องกำหนดว่า อายุเกินความผิดทางอาญา 10 ขวบไม่ได้ ต้องเป็น 10 ขวบขึ้นไป ภายหลังมีการขยับเป็น 15 ปี ฉะนั้นกรณีนี้ยังถือว่าเป็นเยาวชน
“ถ้าเป็นคดีอาญา การฟ้องคดีจะทำได้สองแบบ คือ ให้อัยการฟ้อง ซึ่งเริ่มจากการสอบสวนคดีอาญา ส่งเรื่องไปให้พนักงานอัยการเป็นคนฟ้อง แต่สำหรับคดีเยาวชน กฎหมายศาลเยาวชนและครอบครัว มีตัวล็อกไว้ว่า ถ้าผู้เสียหายจะฟ้องคดีทำไม่ได้ ยกเว้นได้ขออนุญาตฟ้องจากผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน”
ในขั้นตอนที่ดำเนินการ ศ.ณรงค์ ชี้ว่า เราจึงไปขออนุญาต เพื่อให้เป็นไปตามครรลอง โดยให้อัยการฟ้อง ขณะเดียวกันศูนย์นิติศาสตร์จะฟ้องในนามผู้เสียหาย เพื่อมาเสริมการสืบพยานคดีอาญาของอัยการ โดยขอเข้าร่วมเฉย ๆ เรียกว่า เป็นการเชื่อมเข้าไป ซึ่งถือว่าเป็นการฟ้องเช่นกัน แล้วในที่สุดผู้อำนวยการสถานพินิจฯ ได้อนุญาต
“ทีมงานตระหนักเสมอว่า วิธีการดำเนินการของเยาวชนในคดีอาญา เป้าหมายสำคัญ คือ ไม่ต้องการลงโทษ ฉะนั้นในกระบวนการพิจารณาของศาลเยาวชนฯ ศูนย์นิติศาสตร์จะไม่เข้าไปแตะว่า การดำเนินคดีต้องลงโทษถึงขั้นจำคุกหรือดำเนินการให้เต็มที่ แต่เราต้องการเข้าไป เพื่อนำเสนอพยานหลักฐานร่วมกับพนักงานอัยการว่า กลไกที่เป็นประเด็นสำคัญในคดีนี้ จำเลยกระทำโดยประมาทหรือไม่ และประมาทอย่างไร”
ทั้งนี้ ในคดีอาญา วิธีพิจารณาคดีเด็กเป็นประเด็นที่สำคัญ กฎหมายเขียนล็อกไว้ว่า ไม่ฟ้องได้หรือไม่ แต่ให้นำไปคุมประพฤติ หรือถึงแม้ฟ้องแล้ว ไม่ตัดสินได้หรือไม่ แต่ให้นำไปคุมประพฤติ และถึงแม้ศาลจะพิพากษาเสร็จเรียบร้อย ศาลตัดสินว่าผิดแล้ว ไม่ต้องจำคุกได้หรือไม่ แต่ให้นำไปคุมประพฤติ
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญา ชี้ให้เห็นว่า 3 ขั้นตอนนี้ สามารถทำให้เด็กหลุดพ้นจากกระบวนพิจารณาไปได้เสมอ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญ ไม่ต้องการเอาผิดกับเด็กหรือพิสูจน์อะไรมาก ขออย่างเดียว หากผิดพลาดพลั้งไป ให้เป็นเรื่องการไปป้องกันไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีกแต่คดีนี้มีกลไกที่ทางทีมทนายความของศูนย์นิติศาสตร์หรือผู้เสียหายได้รับเชิญไปศาลเยาวชนฯ มีการไกล่เกลี่ยคู่เสียหาย ทุกขั้นตอน ก่อนฟ้อง หลังฟ้อง จนถึงก่อนที่จะพิพากษา
อย่างไรก็ตาม ก่อนฟ้องไม่ประสบความสำเร็จ กระบวนการจึงเลยผ่านไปถึงศาลตัดสินและมีคำพิพากษาให้มีความผิดฐานประมาท ไม่ได้กำหนดโทษ โดยให้คุมประพฤติ เพราะเป้าหมายการดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวกับเด็ก เน้นปรับพฤติกรรม เพราะเชื่อว่าเด็กจะเป็นอนาคตของประเทศ
แล้วคดีอาญาสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้หรือไม่ ศ.ณรงค์ อธิบายตอนหนึ่งว่า ในทางปฏิบัติ ศาลแพ่งจะรอคำพิพากษาส่วนอาญา ซึ่งใช้เวลานานพอสมควร ประมาณ 4 ปี อย่างไรก็ตาม ศาลแพ่งบอกว่า การรออาจเสียเวลา เลยให้หน้าที่นำสืบ ซึ่งเป็นของโจทก์ให้สืบค่าเสียหายเลย ซึ่งเป็นกระบวนการของทนายความ เราจึงสืบค่าเสียหายทั้งหมด และข้อเท็จจริงรอไว้ ถือเป็นจุดที่ทนายความและทีมดำเนินการ ฉะนั้นเมื่อสืบเสร็จ ออกมาเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เมื่อผูกพันคดีอาญาเรียบร้อย สามารถกำหนดเป็นค่าสินไหมทดแทนได้
ด้าน นายวีระศักดิ์ ทัพขวา หัวหน้าสำนักงานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นวิธีการของศาลในการกำหนดเรียกค่าเสียหาย ระบุค่าอุปการะ สำหรับครอบครัวผู้เสียชีวิต ส่วนมากฟ้องเรียกค่าเสียหายอยู่ในระหว่าง 10-12 ล้านบาท แต่บางรายเรียกค่าเสียหายเกิน 12 ล้านบาท เนื่องจากคิดจากฐานเงินเดือนของผู้เสียชีวิต ซึ่งมีรายได้แน่นอน
ส่วนศาลจะกำหนดอย่างไรนั้น เดาใจยากมาก เพราะเวลาศาลกำหนดค่าอุปการะ จะให้ประมาณ 1 ใน 4 ของค่าเสียหายที่มีการเรียกไป เช่น เรียกค่าเสียหาย 10 ล้าน ศาลอาจกำหนดให้ 2.5 ล้านบาท
สำหรับค่าเสียหายส่วนอื่น ได้แก่ ค่าปลงศพ ค่าจัดการงานศพ นายวีระศักดิ์ บอกว่า ศาลจะวินิจฉัยให้ตามที่จ่ายจริง แต่ในคำพิพากษา ส่วนที่เป็นค่าปลงศพ การจัดการงานศพ ค่าเสียหายที่ได้รับบาดเจ็บ ค่าทรัพย์สินได้รับความเสียหาย ส่วนใหญ่จะวินิจฉัยในศาลชั้นต้น ค่ารักษาพยาบาล วินิจฉัยให้ตามที่จ่ายจริง แต่ว่าส่วนหนึ่งตามที่เรียกไปไม่ได้เต็ม เพราะค่ารักษาพยาบาลตามที่เสนอต่อศาล ค่าเสียหาย ค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่ประกันภัยจ่าย ศาลจะให้จ่ายในส่วนที่ผู้เสียหายออกค่าใช้จ่าย ถือเป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าเสียหายในส่วนของค่ารักษาพยาบาล
ด้านค่าเสียหายในส่วนต้องทนทุกข์ทรมาน คนบาดเจ็บบางคนเรียกไปหลักล้านหรือสองล้านบ้าง แต่ศาลกำหนดให้ไม่เต็ม โดยศาลจะวินิจฉัยจากอาการบาดเจ็บที่ได้รับ ระยะเวลาพักฟื้นรวม และดูประกอบพฤติการณ์ความร้ายแรงทางละเมิด
นายเสกสรร สุขแสง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม กรมบังคับคดี กล่าวว่า กระบวนการดำเนินคดีนี้มีระยะเวลายาวนานมากและมีความสลับซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว การที่จะได้รับชำระหนี้ เงินถึงมือผู้เสียหาย เป็นหน้าที่ของกรมบังคับคดี ซึ่งในกระทรวงยุติธรรมมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในคดีอาญา คือ กรมราชทัณฑ์ และในคดีแพ่ง คือ กรมบังคับคดี
กรณีคดีของ น.ส.แพรวานั้น ถือเป็นคดีแพ่ง กรมบังคับคดีจึงมีหน้าที่ด้านการคดีล้มละลายและคดีชำระบัญชี ซึ่งอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะเริ่มขึ้น เมื่อวันที่ศาลมีหมายบังคับคดี โดยในทางปฏิบัติศาลพิพากษา ครบกำหนดระยะเวลาการบังคับ หรือคำบังคับส่งโดยชอบ ศาลจะออกหมายบังคับคดี หมายจะถูกส่งมายังกรมบังคับคดี
“เริ่มแรกคดีแพรวา ได้มีการตรวจสอบคดี ปรากฎว่าในชั้นศาลมีการส่งคำบังคับให้ลูกหนี้รายหนึ่งหรือสองราย คนที่ไม่ไปศาล และมีการอายัดพิจารณา ฉะนั้นระยะเวลาคำบังคับไม่ครบกำหนด เพราะฉะนั้นศาลจึงออกหมายบังคับคดีไม่ได้ ช่วงนั้นเราจึงไม่สามารถดำเนินกระบวนการอย่างไรได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและปลัดกระทรวงยุติธรรม จึงมีข้อสั่งการให้หน่วยงานช่วยกันบูรณาการดูแลและให้ข้อมูล ซึ่งก่อนที่จะมาคุยกับม.ธรรมศาสตร์ ได้มีการประชุมหารือกันแล้วว่า มีการนำเสนอข่าว มีโฉนดที่ดิน 2-3 แปลง เราได้รายละเอียดเท่าที่ได้ และให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบว่า โฉนดที่ดินมีกี่ชุด อยู่ตรงไหน และตรวจสอบถึงขนาดว่า ถูกต้องหรือไม่ และเข้าข่ายถูกเพิกถอนหรือไม่ เรียกว่า ต้องดูอย่างละเอียด”
กรณีที่หมายบังคับคดีมาถึงกรมบังคับคดีแล้ว จะดำเนินการอย่างไรนั้น หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม ให้คำตอบว่า ยังยึดอะไรไม่ได้ แต่ต้องให้ผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ตั้งเรื่อง จากนั้นจะส่งเอกสารเกี่ยวกับโฉนดที่ดินและต้องการวางค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ การบังคับคดีไม่สามารถยึดได้เลย เพราะเป็นการบังคับคดีข้ามเขต แต่จะต้องรายงานเอกสารขออนุญาตข้ามเขต จากนั้นจะส่งเรื่องไปเพื่อขอยึดทรัพย์กับสำนักงานบังคับคดีที่ทรัพย์นั้นตั้งอยู่ เมื่อมีการรับทราบเรื่องจึงจะยึดทรัพย์ นำมาประเมินราคา และขายทอดตลาด
"ขั้นตอนการบังคับคดีมีความซับซ้อนมาก โดยประเมินว่า ใช้เวลาถึง 6 เดือน กรณีที่ไม่มีการคัดค้านหรือโต้แย้ง ซึ่งกรณีคดีนี้ถือว่า โชคดีมาก เพราะไม่มีการยึดทรัพย์"
ทั้งนี้ ปกติจะมีระยะเวลาการบังคับคดี 10 ปี ในการทยอยยึดทรัพย์ จนกว่าจะคุ้มหนี้ และหากใกล้ครบระยะเวลาที่กำหนดยังไม่สามารถยึดทรัพย์ใด ๆ ได้ จะนำไปสู่การฟ้องล้มละลายในที่สุด
ทั้งหมดนี้ คือ เนื้อหาบางช่วงบางตอนจากเวทีถอดบทเรียนทางกฎหมายของคดีดังเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ‘แพรวา 9 ศพ’ .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/