กสม.ประชุมร่วมภาคประชาสังคมกรณีแก้ปัญหาผลกระทบ “เขตเศรษฐกิจทวาย”
กสม. ประกายรัตน์ ประชุมร่วมภาคประชาสังคม กรณีการแก้ปัญหาผลกระทบ “เขตเศรษฐกิจทวาย” ตามมติ ครม.ชง รบ. บรรจุประเด็นผลกระทบการลงทุนข้ามพรมแดนในแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิฯ เน้นแก้ปัญหาให้ประชาชนมีส่วนร่วม
วันที่ 23 สิงหาคม 2562 นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะกำกับดูแลงานด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ประชุมรับฟังความเห็นจากคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (ETO Watch Coalition) และองค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องในไทยและเมียนมา เรื่อง ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ติดตามกรณีโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) เป็นการเฉพาะ ณ ห้องประชุม 606 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ผู้แทนคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบข้ามพรมแดนและผู้แทนชาวบ้านเมียนมาที่ได้รับผลกระทบ นำเสนอปัญหาและความคืบหน้าสรุปว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา มาตั้งแต่ปี 2551 ปัจจุบันมีการร่วมลงทุนโดยบริษัทสัญชาติไทย เมียนมา และญี่ปุ่น ขนาดโครงการครอบคลุมพื้นที่ 196 ตารางกิโลโมตร หรือราว 8 – 9 เท่า ของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ประกอบด้วยพื้นที่สามส่วนหลัก ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก เขื่อน และถนนเชื่อมต่อพรมแดนไทย-เมียนมา โดยที่ผ่านมาระหว่างที่มีการดำเนินโครงการได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมแก่ชุมชนในหลายมิติ เช่น ปัญหาการขาดแคลนน้ำ การขาดที่ดินทำกิน และสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมถึงการอพยพย้ายที่อยู่อาศัย โดยที่การดำเนินโครงการขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้ปัญหาของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไขและยังคงได้รับความเดือดร้อนมาต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี เมื่อปี 2558 กสม. ได้ตรวจสอบมีรายงานผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามที่ภาคประชาสังคมได้ยื่นเรื่องร้องเรียนกรณีโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจทวาย กระทั่ง ครม. มีมติเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 รับทราบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของ กสม. ในเรื่องดังกล่าว โดยสรุปสาระสำคัญได้ว่า ควรมีการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนในโครงการ และสนับสนุนให้มีกลไกกำกับดูแลและส่งเสริมให้ผู้ลงทุนสัญชาติไทยเคารพต่อหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งจากการติดตามการดำเนินการตามมติ ครม. นี้ ภาคประชาสังคมพบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบางส่วน ยังไม่ทราบและไม่ได้นำมติ ครม. ไปปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ จึงร้องมายัง กสม. เพื่อขอให้ติดตามการปฏิบัติตามมติ ครม. ของหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งติดตามการดำเนินการของบริษัทผู้พัฒนาโครงการซึ่งเป็นผู้กระทำการละเมิดให้ปฏิบัติตามมติ ครม. ดังกล่าวด้วย
นางประกายรัตน์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าว กสม. ได้มีรายงานผลการตรวจสอบไปเมื่อปี 2558 โดยมีข้อเสนอให้บริษัทไทยผู้พัฒนาโครงการดำเนินการชดเชยและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมด้วยกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วม และเสนอให้ ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งกลไกในการกำกับดูแลการลงทุนในต่างประเทศของผู้ลงทุนสัญชาติไทยและนำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (The United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs) มาเป็นกรอบในการดำเนินการ ซึ่ง ครม. ตอบรับข้อเสนอแนะดังกล่าวของ กสม.
อย่างไรก็ดี นับแต่ปี 2560 กสม. ได้ผลักดันให้ หน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจไทยลงนามในปฏิญญาขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนฯ ร่วมกัน เพื่อให้การเคารพ คุ้มครอง และเยียวยาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอันเกิดจากภาคธุรกิจเกิดผลปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม แม้ปัจจุบัน การตรวจสอบเรื่องผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจข้ามพรมแดนจะเกินขอบเขตอำนาจของ กสม. แต่ กสม. ได้ดำเนินการผลักดันให้รัฐบาลมีกลไกหรือมาตรการในการกำกับดูแลและส่งเสริมให้ผู้ลงทุนสัญชาติไทยที่ไปลงทุนในต่างแดนเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน และบรรจุมาตรการดังกล่าวไว้ในร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights : NAP) ซึ่งรัฐบาลไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำและนำไปปฏิบัติใช้ อันนับเป็นความก้าวหน้าของไทยในด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน
“ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจเริ่มตอบรับและเข้าใจประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมากขึ้น โดย กสม. ได้ให้ความสำคัญและดำเนินงานขับเคลื่อนประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตนหวังว่าประชาชนในพื้นที่โครงการพัฒนาต่าง ๆ จะได้รับการคุ้มครองและการเยียวยาผลกระทบอย่างเสมอหน้า แม้ว่าหลายรายอาจต้องเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เช่น สละที่ดินทำกิน แต่สมควรต้องได้รับการชดเชยความเสียหายอย่างเป็นธรรม เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขร่วมไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืนได้” นางประกายรัตน์ กล่าว
นายโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวปิดท้ายว่า สำนักงาน กสม. จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือติดตามเรื่องการดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 กรณีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และจะหารือประเด็นผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจข้ามพรมแดนจากโครงการดังกล่าวในเวทีระดับสากลผ่านกลไกสถาบันสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคและคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ต่อไป