สรพ.จับมือ สสส.สร้างบริการสุขภาพด้วยมิติจิตใจ เชื่อมโยงท้องถิ่น
สรพ.เผยผลสำเร็จโครงการสร้างสุขภาพอย่างยั่งยืน บริการด้วยมิติจิตใจ ทำให้โรงพยาบาลมีทั้งมาตรฐานความปลอดภัย ลดช่องว่างผู้ให้-ผู้รับบริการ ป้องกันคนไข้ฟ้องหมอ เชื่อมระบบสุขภาพท้องถิ่นพึ่งตนเอง
วันที่ 15-17 ธ.ค. ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ ปาร์ค กรุงเทพฯ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(สรพ.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดการประชุม SHA Conference&Contest ภายใต้แนวคิดความงามและความหมาย นิยามใหม่ของงานคุณภาพ โดย นพ.มงคล ณ สงขลา กรรมการบริหาร สรพ. นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการ(ผอ.)สรพ. นางดวงสมร บุญผดุง ผู้จัดการโครงการสร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการคุณภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน(SHA) นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ.สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ผอ.โรงพยาบาลรามาธิบดี และ พญ.ชนิกา ตู้จินดา กรรมการกำกับทิศในโครงการ SHA ร่วมแถลงข่าว “HA และ SHA จะลดช่องว่างระหว่างผู้ให้บริการทางการแพทย์กับผู้รับบริการอย่างไร”
นพ.อนุวัฒน์ กล่าวว่า SHA เป็นการต่อยอดการพัฒนาคุณภาพในกระบวนการมาตรฐาน(HA) โดยใช้มิติทางจิตวิญญาณและศิลปะการทำงานเข้ามาเสริม สามารถแก้ปัญหากรณีร้องเรียนทางการแพทย์ได้ เริ่มจากเปลี่ยนมุมมองที่ไม่อยากพูดถึงความผิดพลาดเพราะคิดว่าเป็นการขุดคุ้ยกล่าวโทษกัน มามองเชิงบวกว่าพูดคุยเรียนรู้จากความผิดพลาดไปสู่การออกแบบระบบที่อุดช่องโหว่ด้วยวิธีทำงานที่รัดกุมขึ้น ทำให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ป่วยก็จะได้รับบริการที่ปลอดภัย ผู้ให้บริการก็มีความสุขเพราะอยู่ในระบบที่ไม่สร้างปัญหา เป็นการผสมผสานระหว่างการวางระบบ กับการทำงานด้วยมิติจิตใจ
“เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย มักเกิดจากระบบงานที่วางไม่เหมาะสม เราเรียนรู้และนำกลับมาป้องกันได้ อยู่ที่วิธีการมองและความคิดสร้างสรรค์ สามารถอุดช่องโหว่ได้” นพ.อนุวัฒน์ กล่าว
นางดวงสมร กล่าวว่าโครงการ SHA ดำเนินการมาเป็นปีที่ 2 มีโรงพยาบาลเข้าร่วมทั้งหมด 124 แห่ง ความสำเร็จคือคนทำงานมีความสุข และทำให้ระบบบริการมีคุณค่ามีความหมายต่อคนที่มารับบริการ นอกจากนี้ยังดึงวัฒนธรรมเอื้ออาทรที่เป็นพื้นฐานสังคมไทยและภูมิปัญญาชาวบ้านมาเชื่อมต่อกับระบบบริการสุขภาพ ซึ่งมีรูปธรรมในโรงพยาบาลหลายแห่ง
“เช่นในภาคใต้ รพ.กะพ้อ เป็น รพ.เล็กๆแต่เข้าใจและสามารถวางระบบบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน สามารถทำให้คนทำงานมีความสุข ใช้เรื่องเล่าคนที่อุทิศตนเพื่อประชาชนมาหล่อเลี้ยงคนในองค์กรให้อยากทำความดี ส่วน รพ.หนองจิก เรียนรู้วิธีคิดความเชื่อของพี่น้องมุสลิมนำมาเชื่อมต่อกับระบบบริการ ทำให้โรงพยาบาลกับชุมชนพัฒนาไปด้วยกันได้ หรือโรงพยาบาลใหญ่ๆอย่างรามาธิบดีที่เทคโนโลยีชั้นสูงแบบตะวันตกสามารถผสมผสานกับความเป็นไทยได้” นางดวงสมร กล่าว
นพ.โกมาตร กล่าวว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในระบบบริการสุขภาพได้แก่ 1.กฎเกณฑ์มากมาย โรคภัยไข้เจ็บซับซ้อนขึ้น คนป่วยมากขึ้น ทำให้คนทำงานมีภาระหนักขึ้น จึงต้องสร้างแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ด้วย 2.ปัจจุบันระบบการแพทย์มุ่งสร้างความชำนาญและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ลืมมิติความเป็นมนุษย์ คนที่เข้ามาในโรงพยาบาลมีความทุกข์จากความเจ็บป่วยอยู่แล้ว ระบบงานที่มองเฉพาะเรื่องโรค จึงซ้ำเติมความทุกข์คนป่วย ข้อสรุปที่ชัดเจนคือโรงพยาบาลรักษาแต่โรคไม่พอต้องรักษาคนด้วย 3.จุดอ่อนการประเมินคุณภาพคือเน้นเชิงปริมาณ ละเลยมิติเชิงคุณภาพ
“SHA เอามิติหลายเรื่องเข้ามาช่วย เช่น เจ้าหน้าที่ ฝึกที่จะฟังคนไข้มากขึ้น คนเป็นโรคเดียวกัน ยาอาจให้เหมือนกัน แต่รักษาไม่เหมือนกัน การแพทย์เป็นศิลปะการเยียวยา หรือเรื่องเล่าสร้างแรงบันดาลใจคนทำงาน ล้วนแต่ย้อนกลับมาทำให้มีมิติที่อ่อนโยนขึ้นในระบบบริการสุขภาพ” นพ.โกมาตร กล่าว .