ชีวิตต้องอยู่ (เพื่อ) รอด ของคน (เคย) ติดคุก ขายตัวเลี้ยงชีพ
ตีแผ่ชีวิตต้องอยู่ (เพื่อ) รอด ของคน (เคย) ติดคุก ขายตัวเลี้ยงชีพ เมื่อมีความจำเป็น จึงยากจะปฏิเสธ
‘สถานีรถไฟกรุงเทพฯ’ หรือ ‘หัวลำโพง’ หมุดหมายปลายทางของผู้คนที่ต้องการโดยสารรถไฟเพื่อสัญจรไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ จอแจตลอดทั้งวัน
อีกด้านหนึ่งสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้กลายเป็นที่หลบฝนหลบร้อน พบปะพูดคุย ปฏิสัมพันธ์ ของกลุ่มคนเร่ร่อน ทั้งหญิง ชาย ลูกเด็กเล็กแดง และดูเหมือนจะมีจำนวนมากขึ้น เมื่อแสงสว่างจากดวงไฟประดิษฐ์เปล่งขึ้นแทนที่แสงธรรมชาติจากดวงตะวัน
ประเมินด้วยสายตาจากการลงพื้นที่สังเกตการณ์แล้ว คนเร่ร่อนกลุ่มดังกล่าวอายุต่ำสุด 2-3 ขวบ สูงสุดไม่น่าเกิน 50 ปี และมีบางคนใช้ชีวิตอยู่ที่หัวลำโพงแห่งนี้แบบครอบครัว รวมถึงมีคนเคยผ่านการใช้ชีวิตในเรือนจำ (คุก) ปะปนอยู่ด้วย
‘รอยสัก’ ลวดลายผ่านเนื้อหนังมังสาเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่า พวกเขาเคยอยู่ในกำแพงสีขาวสูง มีรั้วลวดหนามล้อมรอบ เงินรายได้เลี้ยงชีพส่วนหนึ่ง ยอมรับมาจากการขายเรือนร่าง
เข้ม (นามสมมติ) ชายวัย 40 ปี ตอนปลาย คนบางซื่อ กรุงเทพฯ บอกกับเรา น้ำเสียงของเขาฟังดูสนุก
เขาเคยถูกจองจำในคดียาเสพติด ใช้ชีวิตเร่ร่อนมาพักหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ออกจากเรือนจำ บางครั้งไปนั่งพูดคุยกับเพื่อนที่ตรอกสาเก แถว ถ.ราชดำเนิน แต่บางครั้งก็มาที่หัวลำโพงแห่งนี้
รองเท้าผ้าใบสีดำ เสื้อแขนสั้น กางเกงขายาว ดูสะอาดตา ขัดกันผิวพรรณดำทะมึน หากคนทั่วไปพบเจอคงหวาดกลัว ทว่า เมื่อพูดคุยกลับแลดูเป็นมิตร
เข้มเล่าต่อว่า ใช้ชีวิตเรื่อย ๆ วันนี้นอน ๆ นั่ง ๆ อยู่ที่หัวลำโพง ก่อนจะนิ่งเงียบเหมือนครุ่นคิด เมื่อเราถามว่า นำเงินใช้อยู่กินมาจากไหน
เขาตอบกลับดังกระซิบ “ขายตัว” ก่อนจะถามลองเชิงว่า “พี่จะซื้อมั้ย”
เข้มบอกเล่าว่า ปกติจะมีการซื้อขายบริการกันในราคา 300-500 บาท หรือใครใจดีจะให้มากกว่านี้ก็ได้ โดยผู้ซื้อบริการจะเป็นผู้จ่ายค่าโรงแรมเอง สามารถทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเดี่ยวหรือหมู่ ภายนอกหรือล้วงลึกภายใน
‘ไม่มีอาชีพ’ เป็นเหตุผลสำคัญทำให้เขาต้องยอมพลีตัวแลกเงินเช่นนี้ เขาระบุตั้งแต่ออกจากคุกมา ไม่มีอาชีพให้ทำเลย จึงต้องเร่ร่อนไปเรื่อย ๆ
บทสนทนาของเราสองคนจบสิ้นลงเพียงเท่านั้น
ใกล้เคียงกัน มีชายคนหนึ่งนั่งฝั่งตรงข้ามที่เราพูดคุยกับเข้ม เราเรียกเขาว่า เอ (นามสมมติ) สวมเสื้อสีขาว กางเกงขายาว ผิวดำ มีรอยสักตรงท่อนแขน นัยน์ตาค่อนข้างหมองเศร้า ผิดกับคนเมื่อสักครู่
สอบถามจึงทราบว่า เขาเป็นคน อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำหลายปี แต่ไม่ยอมให้รายละเอียดว่า เกี่ยวกับคดีเรื่องอะไร เพียงแต่ตอบรวม ๆ ว่า โดนหลายคดี!
เอ บอกว่าเพิ่งมาใช้ชีวิตอยู่ที่หัวลำโพงเมื่อไม่กี่วันมานี้ หลังจากลาออกจากการเป็นคนเฝ้าเล้าเป็ดที่ จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นอาชีพแรกหลังจากพ้นการจองจำ
“เหนื่อยมาก ทนไม่ไหว” คือประโยคบ่นแกมน้ำเสียงน้อยใจผ่านออกมา ตามมาด้วย “อยากกลับบ้าน แต่ไม่มีค่ารถ”
เอ เล่าต่อว่า เขาใช้ชีวิตไม่กี่วันที่หัวลำโพงด้วยเงินที่มาจากการขายตัว ราคา 500 บาท เเต่บางครั้ง 200-300 บาท เขาก็ยอมไปด้วย ก่อนจะพาเราขึ้นไปชมห้องที่คอยให้บริการเขาและผู้ซื้อบริการตามที่ร้องขอ
โรงแรมเล็ก ๆ ข้างหัวลำโพง ทรงโบราณ มีบันไดวนขึ้นไป เก่า หากดูสะอาด ค่าบริการชั่วคราว 150 บาท ค้างคืน 250 บาท มีเตียง ตู้ โต๊ะ โทรม ๆ ห้องน้ำเก่า กับผ้าเช็ดตัว และสบู่อาบน้ำ หลอดไฟขาวนวล สีผนังหลุดกร่อน ตัดกับความมืด ที่ลอดสะท้อนผ่านตาข่ายสีเขียวปกปิดแสงจากภายนอก
สุดท้าย เอยืนยัน คงใช้ชีวิตที่หัวลำโพงไม่นาน เพราะเขาก็อยากกลับบ้านและไปหาอาชีพอื่นทำ
อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ทำงานขับเคลื่อนเรื่องคนเร่ร่อนและการขายบริการทางเพศมาอย่างต่อเนื่อง ระบุเคยเจอกรณีคนเคยใช้ชีวิตในเรือนจำ ต้องออกมาขายตัว เพราะไม่มีงานทำเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การขายบริการกับผู้พ้นโทษ ต้องแยกประเด็น เราถึงใช้คำว่า “ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในการทำงาน”
เกิดจากผู้พ้นโทษเป็นหนึ่งในกลุ่มคนเร่ร่อน เพราะฉะนั้นต้องมาดูประเด็นปัญหาที่ว่า ผู้พ้นโทษ เมื่อพ้นจากเรือนจำมาแล้ว ไม่ได้รับโอกาสคืนสู่สังคมอย่างแท้จริง ถ้าไปสมัครงาน มีใบบริสุทธิ์ งานอื่นจะบอกเดี๋ยวติดต่อกลับไป แต่ในความเป็นจริง สังคมไทยยังไม่ได้ให้โอกาสคนเหล่านี้ ทำให้ต้องเลือกหนทางออกมาเร่ร่อน
“คนกลุ่มดังกล่าวหากอยู่บ้านเหมือนทำให้ครอบครัวในบ้านอับอายว่าเป็นปัญหา อยู่ในชุมชน ถูกกล่าวหาว่า ไอ้ขี้คุก จึงต้องออกมาเร่ร่อน แล้วบางครั้งวิถีชีวิตต้องอยู่ริมถนน ทำให้ต้องสู้ต้องดิ้นรนทำมาหากิน”
อัจฉรา อธิบายต่อถึงการไม่ได้รับโอกาสของคนกลุ่มนี้ว่า ให้กลับไปถามนโยบายของรัฐ เพราะวันนี้เกิดปัญหาในจุดใด เรามักวิ่งไปแก้ไขตรงจุดนั้น แต่ไม่ได้แก้ต้นเหตุ กลับเก้ปลายเหตุ โดยจะเห็นว่ามีการรณรงค์ฝึกอาชีพในคุกเพื่อเตรียมความพร้อม ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ดีมาก หากสิ่งที่พบ คือ เรายังขาดการเตรียมความพร้อมของครอบครัว ชุมชน และสังคม เท่าที่ควร
“คุณบอกว่า โรงงานบางแห่งให้โอกาส แต่ความจริงแล้ว คนที่ออกมา สังคมมีภาพไอ้ขี้คุกติดหลังอยู่แล้ว หรือแม้แต่หญิงขายบริการ คุณก็ประณามว่าเป็นโสเภณีแล้ว แต่ไม่ได้มองหรือยอมรับว่า เป็นอาชีพหนึ่งของเขา เป็นสิทธิทางเนื้อตัวร่างกายของเขา ที่จะหากิน โดยไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร และควรได้รัฐสวัสดิการอย่างเข้าถึง ทุกวันนี้กลายเป็นว่า คนด้อยโอกาสต่าง ๆ ไม่ได้รับอะไรเลย อย่างคนเร่ร่อน ถูกกล่าวหาไม่ทำมาหากิน มีมือมีเท้า ทั้งที่คนทั่วไปไม่รู้เลยว่า สาเหตุจริง ๆ ของการออกมาเร่ร่อนเกิดขึ้นจากสิ่งใด” เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน สะท้อนมุมมอง
******************************
กลายเป็นวงจรที่ยากจะหาจุดจบได้เจอ หากสังคมไม่หยิบยื่นโอกาสให้คน (เคย) ติดคุก ได้มีอาชีพ หาเลี้ยงตนเอง พวกเขาคงจำใจต้องเร่ร่อน ขายตัว ใช้ชีวิตบนความไม่สมบูรณ์เช่นนี้ต่อไป จนกว่าวันหนึ่งจะลืมตาอ้าปากได้ แต่กว่าจะถึงวันฝั่งฝันนั้น สภาพจิตใจและร่างกายคงอ่อนเเอเเละเหนื่อยล้าพอควร .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ httpแs://www.facebook.com/isranewsfanpage/