ธกส.ตุน 4 หมื่นล้านดูแล 2 ล้านใบ ตั้งเป้าบัตรเครดิตเกษตรกร3 ปี 4 ล้านใบ
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธิเปิดตัวโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงสีสหกรณ์เกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ.ร้อยเอ็ด และมอบให้เกษตรกรทั้งหมด 19 จังหวัด ในโอกาสที่มีภาระกิจ
ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า โครงการนี้ช่วยให้ชาวนาได้เข้าถึงแหล่งกองทุนได้คล่องตัว ได้รับส่วนลดเมื่อชี้ปัจจัยการผลิต และปลอดดอกเบี้ย 5 เดือน ทั้งนี้ยทนยันว่า นโยบายดังกล่าวไม่ทำให้เสียวินัยด้านการเงินการคลังแต่อย่างใด
"ในปีการผลิตแรกนี้ ชาวนาที่ใช้บัตรรูดซื้อปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืชและน้ำมัน จะมีเวลาปลอดดอกเบี้ย 30 วันแรก ขณะที่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการตกลงกับ ธกส. ว่าจะไม่คิดดอกเบี้ยอีก 120 วัน จากนั้นจะคิดดอกเบี้ย 7% ต่อปี แต่หากชำระเงินตรงตามกำหนดชาวนาจะได้รับการขยายวงเงินเพิ่มอีก แต่ไม่สามารถนำเงินไปซื้ออย่างอื่น เช่น มอเตอร์ไซค์" ยิ่งลักษณ์ กล่าว
ลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส.ตั้งเป้าว่าภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2555 จะอนุมัติบัตรสินเชื่อเกษตรกรให้ชาวนาได้ 2 ล้านใบ และเตรียมจะขยายโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรให้ครอบคลุมเกษตรกรผู้ปลูกพืชชนิดอื่นๆ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา
มโนชัย สุดจิตร รองผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อบุคคล ธ.ก.ส. ระบุว่า ชาวนาที่เข้าโครงการจะต้องไม่เป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และขอเข้าโครงการพักหนี้เสีย แต่หากเข้าโครงการพักหนี้ดีสามารถเข้าโครงการได้ ขณะที่สินเชื่อต่อบัตรต่อรายได้อยู่ที่ 70% ของผลผลิตส่วนที่เหลือขาย เช่น หากข้าวที่จะขายได้มูลค่า 1 แสนบาท ก็จะมีวงเงินในบัตร 7 หมื่นบาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เข้าโครงการส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเดิมของ ธ.ก.ส. และมีหนี้สินอยู่ที่ 60% ของมูลค่าผลผลิตที่จะขายได้ ดังนั้นชาวนากลุ่มดังกล่าวจะสามารถกู้เงินผ่นบัตรได้เพิ่มอีก 10% หรือคิดเป็นวงเงินเพิ่มเติมเฉลี่ย 2 หมื่นบาทต่อบัตร หากสิ้นปี 2555 มีชาวนาถือบัตร 2 ล้านใบ ธ.ก.ส.ต้องใช้เงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 3-4 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธ.ก.ส. ว่าจ้างบริษัทจากเกาหลีใต้ที่ชนะประมูลโครงการจัดทำบัตรเครดิตเกษตรกร 177 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 3 ปี จากนั้นจะเปิดประมูลหาผู้จัดหาบัตรรายใหญ่ ซึ่งจะเปลี่ยนจากระบบเมนเนติกการ์ดเป็นซิปการ์ด ซึ่งนอกจากจะมีความปลอดภัยสูงแล้ว ยังสามารถใช้เป็นบัตรเงินสดได้ด้วย แต่ระบบบัตรที่ใช้ถือว่าปลอดภัยมาก
มโนชัย ระบุว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส. ได้รับการส่งมอบบัตรสินเชื่อเกษตรกรแล้ว 8.43 แสนใบ และอนุมัติให้ชาวนาแล้ว 4.3 แสนใบ จากเป้าหมายโครงการปีแรก 2 ล้านใบ และในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะขยายโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรให้ครอบคลุมผู้ปลูกพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งจะทำให้มีเกษตรกรทั่วประเทศถือบัตรสินเชื่อเกษตรกรประมาณ 4 ล้านใบ