เสวนานักคิดดิจิทัล “ยุค AI จาก 2020 สู่ 2060 กับความพร้อมของสังคมไทย”
เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Friedrich Naumann Foundation , ChangeFusion และ Centre for Humanitarian Dialogue ได้จัด “โครงการเสวนานักคิดดิจิทัล” ( Digital Thinkers Forum) ครั้งที่ 3 ขึ้น ในหัวข้อ “ยุค AI จาก 2020 สู่ 2060 กับความพร้อมของสังคมไทย” ณ โรงแรมหัวช้างเฮอริเทจ
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Friedrich Naumann Foundation , ChangeFusion และ Centre for Humanitarian Dialogue ร่วมกันจัดเสวนา “นักคิดดิจิทัล” ( Digital Thinkers Forum) ครั้งที่ 3 “ยุค AI จาก 2020 สู่ 2060 กับความพร้อมของสังคมไทย” เปิดงานโดย Mr. Moritz-Kleine Brockhoff Head of Southeast and East Asia Regional Office, Friedrich Naumann Foundation และ นางมัทนา ถนอมพันธ์ หอมลออ ประธานกรรมการกำกับทิศทาง แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ดร. พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและบุคลากรแห่งอนาคต (DPU X) และ CEO/Co-Founder, Ztrus เสนองานวิจัย “พัฒนาการหุ่นยนตร์อัจฉริยะ จาก ค.ศ. 2020 ถึง 2060” (Evolving with AI from 2020 to 2060) พบว่าประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับเรื่องทักษะแรงงาน โดยผลิตนิสิตนักศึกษาให้เป็นบุคลากรในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องหรือมีประสิทธิภาพที่จะรองรับการทำงานกับ AI ในอนาคต โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงการพัฒนา AI (2020 – 2029) ความสามารถของ AI ยังไม่เต็มที่เนื่องจากเป็นช่วงเก็บข้อมูล ใช้ความสามารถหรือทักษะของมนุษย์ในการตัดสินใจ จึงจำเป็นต้องมีทักษะการเขียน Code การใช้สื่อใหม่ๆที่ทันสมัยและเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการสารสนเทศ นับเป็นช่วงของการเตรียมความพร้อมให้คนมีทักษะสำหรับการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (big data)
ช่วงที่ 2 คนทำงานร่วมกับ AI (2030 – 2049) ช่วงนี้แรงงานมนุษย์ต้องมีการปรับแนวคิด การทำงานอย่างเต็มรูปแบบ การสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยกันจะลดน้อยลง ทักษะทางสังคมและอารมณ์ของคนจึงมีความสำคัญที่จะต้องพัฒนาเช่นกัน ถึงแม้ว่าช่วงเวลานี้ AI ทำงานแทนคนเป็นส่วนใหญ่ แต่มนุษย์ยังต้องทำงานไปด้วยกันกับ AI โดยการทำงานของมนุษย์เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์ การสร้างมูลค่าหรือคุณค่าให้กับสินค้าหรือบริการ
ช่วงที่ 3 คนอยู่กับ AI (2050 –2060) เป็นช่วงที่ความสามารถของ AI มากกว่ามนุษย์เป็นพันเท่า สามารถทำงานทดแทนแรงงานมนุษย์ได้อย่างเต็มรูปแบบ มนุษย์อาจจะไม่ต้องทำงานมาก เพราะการจ้างแรงงานมนุษย์มีต้นทุนสูงกว่า AI แต่จะมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น อาชีพที่ปรึกษาด้านปรัชญา (Philosophical Consultant) นักออกแบบเวลาว่าง (Free Time Designer) เป็นต้น จากงานวิจัยพบว่าในช่วงเวลานี้ คนจะเริ่มถามหาคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ เริ่มตั้งคำถามว่าเราเกิดมาทำไม ดังนั้นการปลูกฝังเด็กเขียน Coding ในช่วงแรก (2020-2029) อาจจะไม่เพียงพอ เพราะยุคที่ 3 เป็นยุคที่คนต้องมี ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligent) เพื่อเตรียมตัวเองที่จะต้องเข้าสู่ยุคการหาคุณค่าชีวิต ดังนั้นแผนการศึกษาในปัจจุบันต้องตระหนักถึงในเรื่องนี้ด้วย ควรเน้น “การสร้างคน” มากกว่าสอนคนแค่เรื่องทักษะในการเขียน Coding หรือ Programming เพียงอย่างเดียว
“ข้อเสนอจากงานวิจัยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ประเทศไทยควรมุ่งเน้นสาระสำคัญของสร้างสังคมและวิสัยทัศน์ร่วมกัน มีความคิดและมุ่งมั่นไปในทางเดียวกัน เราต้องให้คุณค่าและเข้าใจเทคโนโลยีในระดับหนึ่งเพื่อที่จะเชื่อมโยงกับเรื่องที่เราถนัดได้ ต้องพร้อมที่จะปรับตัวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และยอมรับการเปลี่ยนแปลง รู้จักตั้งคำถาม เน้นเรื่องการใช้ความคิดมากกว่าเน้นการใช้แรงงาน มุ่งเน้นความคิดไปทางด้านปรัชญา จริยธรรม สามารถวิเคราะห์ความละเอียดอ่อนในเชิงลึกซึ้ง และมีเป้าหมายชีวิตในการทำงานว่าเราจะทำไปเพื่ออะไร เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ AI ไม่สามารถทำได้เช่นมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อให้เราสามารถอยู่รอดในยุคของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง” ดร.พณชิตกล่าว
ทั้งนี้ในงานเสวนาดังกล่าวมีนักวิชาการให้ความเห็นต่องานวิจัยพัฒนาการหุ่นยนตร์อัจฉริยะ จาก ค.ศ. 2020 ถึง 2060 ในมุมต่างๆ ทั้งด้านสังคมการเมืองไทย ด้านระบบนิเวศและการพัฒนายั่งยืน ด้านสุขภาวะสังคม ด้านการสื่อสารมวลชน และด้านสิทธิมนุษยชน โดย ศ.ดร. พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดีและอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้ความเห็นว่า ในปัจจุบันโลก Online เราจะได้รับข่าวปลอม (Fake News) เป็นจำนวนมาก ทั้งข่าวการเมือง ข่าวสุขภาพและสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคขั้นพื้นฐาน ปัจจุบัน การเข้ามาของ AI ทำให้การตรวจจับข่าวหรือข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงยากขึ้น และ AI ทำให้ข่าวที่ไม่มีความจริงดูจริงขึ้นและแนบเนียนขึ้น รวมทั้งสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากและง่ายดาย ในขณะเดียวกัน AI ก็สามารถทำให้เกิดผลเชิงบวกได้ เพราะ AI สามารถวิเคราะห์ตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือจับข้อพิรุธได้เพราะ AI สามารถวิเคราะห์ตรวจสอบในเรื่องโครงสร้างของข่าวนั้นๆ ในเรื่องของการใช้ภาษา และสามารถหาต้นตอของการแพร่ข่าวได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
ดร. บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เชื่อมโยงบทบาท AI และการใช้ Big Data ข้อมูลต่างๆที่จะมาแก้ปัญหาสภาวะแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การใช้ AI ในระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมจากการทำลายป่า ที่เรียกกันว่า “เขาหัวโล้น” ในจังหวัดน่าน และปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื่องฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในเมืองและพื้นที่หลายจังหวัด ซึ่งเป็นปัญหาเชิงระบบและโครงสร้างในการบริหารจัดการของประเทศไทยที่โยงใยอีกหลายปัญหา อย่างการตัดไม้ทำลายป่ามีความเชื่อมโยงกับปัญหาความยากจน ปัญหาความเป็นธรรมของกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น ส่วนปัญหาฝุ่น PM 2.5 เชื่อมโยงกับการวางผังเมืองและระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นต้น ตนหวังว่า AI จะเข้ามามีบทบาทในแง่เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์เก็บข้อมูลและความเชื่อมโยงที่ซับซ้อนนี้เพื่อแก้ปัญหาในอนาคตได้ ในขณะนี้ GISTDA ได้ร่วมมือกับบริษัท Airbus โดยการสนับสนุนจากรัฐบาล ได้พัฒนาระบบ AIP (Actionable Intelligent Policy) มุ่งเป้าหมายที่ Five Zero + Four Happiness โดยใช้ AI ทำข้อมูล Big Data วิเคราะห์และทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในเชิงระบบนิเวศในพื้นที่ จ.น่าน และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ECC
ข้อเสนอต่อการเตรียมความพร้อมของสังคมไทยต่อ AI คือ ให้สังคมร่วมกันกำหนดกติกาการใช้ AI สร้างระบบ AI Governance เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์มากที่สุด และป้องกันปัญหาผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ เป็นการนำ AI มาใช้เป็นเครื่องมือ (Tools) เพื่อตอบโจทย์ที่มีอยู่สังคมไทยและเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ด้าน ศ.อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ ผู้อำนวยการศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้งศูนย์นโยบายดิจิทัลอาเซียน กล่าวว่าจากรายงานของสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ใน 10 ถึง 20 ปีข้างหน้านั้น เมื่อมี AI เข้ามา ประชากรราว 47%จะว่างงานแน่นอน โดยเฉพาะสายงานที่เสี่ยงมากคือสายงานคมนาคม การขนส่ง งานในสำนักงานและแรงงานในสายงานการผลิตทั้งหมด
“ผมเห็นว่าในประเทศไทยภายใน 10 ปีนี้ถือว่าเป็นช่วงเตรียมความพร้อม (ยุค 2020 ถึง 2029) ยังคงต้องการแรงงานอยู่ถึงแม้ว่าธุรกิจขนส่งภาคเอกชนจะใช้ AI เข้ามามีส่วนร่วมกับมนุษย์แล้วก็ตาม แต่ในงานบริการยังต้องการแรงงานทักษะมนุษย์อยู่ดี และให้ความเห็นว่าภาครัฐของประเทศไทยยังไม่พร้อมเรื่องแผนแรงงานและการผลิตบุคลากรเข้าสู่ระบบงาน” ศ.อุกฤษฎ์กล่าว
นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในมิติด้านสุขภาพ AI ยังไม่สามารถเข้ามามีบทบาทมากเท่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ของกลุ่มคนเข้ามาประเมินและตัดสินว่าสิ่งใดผิดหรือถูก และเป็นวิชาชีพที่ไม่ตายตัว ต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์ในการประเมินการรักษา ซึ่งแต่ละบุคคลในสายอาชีพเดียวกันก็ประเมินการรักษาต่างกัน รวมถึงความรับผิดชอบในชีวิตของผู้ป่วยด้วย ที่สำคัญคือ การรักษาความลับกับบุคคลมีความส่วนตัวกว่า AI ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเป็นสาธารณะ ในขณะนี้ถึงแม้ว่าจะมีเครื่องมือสมัยใหม่เข้ามารักษาก็ยังต้องให้แพทย์หรือพยาบาลที่ชี่ยวชาญเป็นคนควบคุมใช้เครื่องมือนั้นและเป็นผู้ตัดสินใจ แต่ในอนาคตข้างหน้าอาจมีการยอมรับ AI มากขึ้นเนื่องจากอาชีพแพทย์อาจไม่ได้รับความนิยมเท่าสายธุรกิจ ประกอบกับความคุ้นเคยของการพบเห็น AI ในชีวิตประจำวันมากขึ้นจากทุกภาคส่วนอาจจะทำให้คนยอมรับการตัดสินใจในการรักษาจาก AI มากขึ้น
“ในอนาคตโรคทางจิตอาจจะมีจำนวนมากขึ้น ผมเห็นว่า AI ไม่สามารถเข้ามามีบทบาทในการรักษาได้ นอกจากนี้การที่สังคมมีสุขภาวะที่ดีจะต้องมีนโยบายทางสาธารณะทางสุขภาพที่ดี ผมมองว่า AIไม่สามารถเข้ามามีบทบาทเพื่อจัดการโครงสร้างทางนโยบายที่ดีได้” นายแพทย์ประวิทย์กล่าวเสริม
นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เสนอความคิดเห็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในแง่การเก็บข้อมูลแบบไบโอเมตริกซ์ว่าในปัจจุบันประเทศไทยยังขาดดุลยภาพและความเสมอภาคในการปฏิบัติต่อบุคคลทุกชนชั้นทุกสังคม ประชาชนทุกคนควรมีส่วนร่วมรับรู้ว่าข้อมูลส่วนตัวของเราถูกจัดการอย่างไร ใครจะเป็นคนกำหนดการนำไปใช้ นำไปใช้อย่างไร รัฐบาลหรือหน่วยงานราชการต้องไม่เลือกปฏิบัติ ปัจจุบันกฎหมายของการใช้ AI และข้อมูลส่วนบุคคลถูกกำหนดขึ้นจากรัฐบาลหรือหน่วยงานนิติบัญญัติที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม ดังนั้นควรสนับสนุนให้พูดคุยกันระหว่างภาครัฐและประชาชนในการกำหนดการใช้เทคโนโลยีเพื่อปกป้องสิทธิและความปลอดภัยของของประชาชน