INFO : เด็กไทยเสี่ยงภัยออนไลน์!
เด็กไทยเสี่ยง! ผลสำรวจชี้เคยนัดพบผ่านออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทุบตีทำร้าย -ส่วนใหญ่ยังเชื่ออินเทอร์เน็ตให้ประโยชน์มากกว่าโทษ ใช้เวลาอยู่หน้าจอ 6-10 ชม. ผู้บริหารมูลนิธิฯ เรียกร้องถึงเวลาสร้างความตระหนักรู้
วันที่ 19 ส.ค. 2562 กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยศูนย์ประสานงานส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (Child Online Protection Action Thailand : COPAT) ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย แถลงผลสำรวจเกี่ยวกับสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ซึ่งทำการสำรวจทางออนไลน์ เมื่อเดือน ก.พ.-เม.ย. 2562 ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 6-18 ปี จำนวน 15,318 คน จากทั่วประเทศ ณ หอประชุม ดย. กรุงเทพฯ
ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ เปิดเผยถึงผลการสำรวจ พบว่า เด็กไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าอินเทอร์เน็ตให้ประโยชน์มากกว่าโทษ แต่ขณะเดียวกันได้ตระหนักว่าอินเทอร์เน็ตมีภัยอันตรายและความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบด้วย โดยร้อยละ 54 เชื่อว่า หากความเสี่ยงเหล่านั้นเกิดขึ้นกับตนเองจะสามารถจัดการปัญหานั้นได้ และร้อยละ 86 เชื่อว่าสามารถแนะนำหรือช่วยเหลือเพื่อนที่ประสบภัยออนไลน์ได้ แต่ไม่ได้เจาะจงว่า จะแนะนำอย่างไร
เมื่อถามถึงระยะเวลาการใช้อินเทอร์เน็ต เด็กส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลา 6-10 ชั่วโมง/วัน ซึ่งตรงกับผลสำรวจหลายสำนัก บางสำนักระบุ 6 ชั่วโมง บางสำนักระบุ 8 ชั่วโมง ถือเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ร้อยละ 83 ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านแท็บเล็กหรือสมาร์ทโฟน เพื่อการพักผ่อนหรือความบันเทิง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมเป็นหลัก และหากเจาะจงเฉพาะการเล่มเกมออนไลน์ พบว่า ร้อยละ 37.5 มากกว่า 3 ชั่วโมง/วัน ซึ่งการใช้มากเกินไปมีความเสี่ยงต่อการเสพติด
กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวต่อว่า ขณะที่อีสปอร์ต (Esport) หรือกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ เด็กส่วนใหญ่ไม่รู้จักเลย มีจำนวนมีเล็กน้อยที่รู้จักกีฬาประเภทนี้ อย่างไรก็ตาม เด็กมีทัศนคติค่อนข้างดีต่อการเล่นเกม เนื่องจากเห็นว่าจะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ มีการวมตัว สร้างชื่อเสียงได้ แต่ก็เชื่อว่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่มีข้อสังเกตว่า เด็กจะเห็นผลเสียของการเล่นเกมน้อยกว่าผลบวก
“ถ้าตระหนักเรื่องผลเสียน้อยไป อาจทำให้เด็กเล่มเกมมาก ซึ่งจะเห็นว่า มีความสอดคล้องกับจำนวนชั่วโมง/วันในการเล่นเกม”
นอกจากนี้เด็กร้อยละ 31 เคยถูกกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ อย่างน้อย 1 ครั้ง โดยเพศทางเลือกมีโอกาสโดนเยอะมากที่สุด และร้อยละ 3 เคยโดนกลั่นแกล้งทุกวัน อย่างไรก็ดี เด็กร้อยละ 33.6 เคยกลั่นแกล้งรังแกคนอื่นทางออนไลน์ ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งในการตอบโต้กลับ ตัดต่อ แชร์ภาพและข้อมูล จัดทำเพจต่อต้าน และร้อยละ 40 ไม่ได้บอกใครว่าโดนกลั่นแกล้งดังกล่าว
ดร.ศรีดา กล่าวถึงผลการสำรวจต่อว่า เด็กที่เคยโดนกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ ร้อยละ 43.7 รู้จักสกัดกั้นคนที่มาแกล้ง เพื่อไม่ให้มาทำร้ายเราอีก ร้อยละ 38.1 รู้จักลบภาพหรือข้อมูลที่กลั่นแกล้ง และร้อยละ 31 รู้จักจำกัดผู้มองเห็น ร้อยละ 29.4 แจ้งการเผยแพร่รังแกต่อผู้ให้บริการที่มีอำนาจในการดูแล ร้อยละ 12.6 เลิกใช้อินเทอร์เน็ต อาจเพียงชั่วคราวหรือถาวร และร้อยละ 1.2 แกล้งรังแกกลับ
เมื่อถามถึงสื่อลามกอนาจารทางออนไลน์ พบว่า เด็กร้อยละ 74 เคยพบเห็น และร้อยละ 6 เคยครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก เคยส่งต่อหรืแชร์ทางออนไลน์ และมีเด็กจำนวนน้อยที่เคยถ่ายภาพตนเองในลักษณะลามกอนาจารส่งให้ผู้อื่น ซึ่งถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่เด็กยังไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว
กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ระบุต่อว่า ที่น่าตกใจ เด็กร้อยละ 25.4 เคยนัดพบกับเพื่อนออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง แล้วเมื่อไปตามที่นัดเจอ เด็กจะถูกพูดจาล้อเลียน ดูถูก ทำให้เสียใจ ร้อยละ 5.1, หลอกให้เสียเงินหรือเสียทรัพย์สินอื่น ๆ ร้อยละ 2.1, ละเมิดทางเพศ ร้อยละ 1.9, ทุบตีทำร้าย ร้อยละ 1.7 และถ่ายภาพหรือคลิปวิดีโอแล้วนำไปประจานหรือข่มขู่เรียกเงิน ร้อยละ 1.3 ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือไม่ จะต้องจริงจังกับเรื่องมาตรการสร้างความรู้ความตระหนักเรื่องภัยออนไลน์ให้เด็กออนไลน์อย่างปลอดภัยมากขึ้น .