สื่อแพร่คลิปยิงทหาร...ชาวบ้านรุมวิจารณ์ หวั่นเข้าทางคนร้าย แนวร่วมป่วนใต้ฮึกเหิม
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุที่ทำให้เหตุการณ์คนร้ายรุมยิงทหารเสียชีวิต 4 นายที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี เมื่อวันเสาร์ที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา กลายเป็นกระแสในสังคมมากเป็นพิเศษ คือการที่มีคลิปวีดีโอจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ซึ่งจับภาพนาทีสังหารเอาไว้ได้ ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อแขนงต่างๆ อย่างกว้างขวาง รวดเร็ว และชัดเจน
แม้ด้านหนึ่งจะทำให้ผู้คนทั่วไปได้ตระหนักถึงความโหดร้ายของสถานการณ์ที่ชาวบ้านและข้าราชการทหารตำรวจต้องเผชิญ แต่อีกด้านหนึ่งก็ก่อผลลบไม่น้อยเช่นกัน
พลันที่คลิปวีดีโอถูกเผยแพร่ออกไป "ทีมข่าวอิศรา" ได้ลงพื้นที่สำรวจท่าทีของผู้คนกลุ่มต่างๆ ปรากฏว่าเรื่องนี้ได้กลายเป็นหัวข้อสนทนาของชาวบ้านร้านตลาดแทบทุกแห่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่รู้สึกตื่นตระหนกและหวาดกลัวกับภาพที่เห็น พี่น้องมุสลิมที่เป็นผู้หญิงพากันจับกลุ่มพูดคุยช่วงก่อนเวลาละศีลอด ขณะที่กลุ่มผู้ชายมุสลิมที่ไปรอละหมาดอยู่ตามมัสยิดต่างก็วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเผ็ดร้อน
มิพักต้องพูดถึงถึงพี่น้องไทยพุทธ เพราะภาพที่ปรากฏผ่านสื่อยิ่งเพิ่มความรู้สึกหวาดผวา เนื่องจากรู้ดีว่าตนเองตกเป็นเป้าสังหารอยู่แล้ว หลายคนไม่กล้าแม้แต่จะพูดเสียงดัง ส่วนเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่นั้น เมื่อได้เห็นภาพต่างก็แสดงความเห็นกันไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการบางส่วนแสดงความหวาดหวั่นออกมาอย่างเห็นได้ชัด บ้างก็ต้องการย้ายกลับโดยเร็วที่สุด
นอกจากความรู้สึกหวาดกลัวที่ปรากฏอยู่ทั่วไปแล้ว ชาวบ้านบางกลุ่มยังได้ประณามคนร้าย และบางกลุ่มก็ตั้งคำถามว่า "ทำกันได้อย่างไร ศาสนาไม่เคยสอนแบบนี้"
ตำรวจเครียด หวั่นกระทบรูปคดี
หากสืบสวนทวนความไปถึงสาเหตุที่ทำให้คลิปวีดีโอชิ้นนี้หลุดออกมา และเผยแพร่ไปในวงกว้าง ย่อมมีอยู่คนอยู่ 2 กลุ่มที่มิอาจปฏิเสธความเกี่ยวข้องได้ หนึ่ง คือ "ตำรวจ" เพราะภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดย่อมเป็นของกลางและพยานหลักฐานสำคัญในคดี กับสอง คือ "สื่อมวลชน" ที่นำภาพในคลิปไปเผยแพร่
แหล่งข่าวจาก สภ.มายอ ท้องที่เกิดเหตุ ให้ข้อมูลว่า เท่าที่ทราบมีการเปิดคลิปให้ผู้สื่อข่าวดูด้วยจริง วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้สื่อมวลชนเข้าใจภาพเหตุการณ์ จะได้นำไปเสนอข่าวอย่างถูกต้อง ซึ่งก็เป็นวิธีปฏิบัติปกติระหว่างสื่อกับตำรวจอยู่แล้ว แต่เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีสื่อบางแขนงบันทึกภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเอาไว้ ก็ได้ขอร้องว่าอย่านำไปเผยแพร่ เพราะเกรงจะส่งผลกระทบต่อรูปคดี แต่ในเวลาต่อมากลับพบว่ามีสื่อนำไปเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ทำให้เจ้าหน้าที่รู้สึกเสียใจและไม่พอใจอย่างมาก
พ.ต.อ.กองอรรถ สุวรรณขำ ผู้กำกับการ สภ.มายอ กล่าวว่า การที่คลิปถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ หากมองในแง่ดี อาจทำให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสให้กับเจ้าหน้าที่ได้มากขึ้น และอาจทำให้การหลบหนีของคนร้ายถูกจำกัดพื้นที่ลง ส่วนข้อเสียที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ขอวิจารณ์
ผวาเยาวชนคึกคะนองเลียนแบบ
ครูฝ่ายปกครองของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาแห่งหนึ่งในพื้นที่ กล่าวว่า ตั้งแต่มีคลิปยิงทหารเผยแพร่ผ่านสื่อ ปรากฏว่านักเรียนที่โรงเรียนพากันพูดถึงคลิปปฏิบัติการของคนร้ายครั้งนี้กันอย่างมาก ตั้งแต่หลังมีการเผยแพร่ใหม่ๆ จนถึงวันถัดมาอีกวันหนึ่งก็ยังคุยกันไม่หยุด
"ส่วนใหญ่นักเรียนชายที่โตหน่อยก็จะพูดทำนองคึกคะนองไปกับการก่อเหตุของคนร้าย บรรยากาศแบบนี้ทำให้ครูหลายคนเป็นกังวลและมานั่งปรึกษากัน เพราะอาจทำให้เด็กถูกชักจูงไปในทางที่ผิดได้ง่าย เด็กอาจมีพฤติกรรมเลียนแบบ และมีความรู้สึกว่าทำผิดก็มีคนคอยคุ้มครอง สามารถเป็นพระเอกเหมือนในคลิปที่ต่อสู้กับทหารได้"
ย้ำไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์ – ไม่ใช่ญิฮาด
ครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ กล่าวด้วยว่า การกระทำของกลุ่มคนร้ายไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์ และไม่ใช่การญีอาด เพราะการญิฮาดไม่ใช่การทำร้ายผู้ที่ออนแอกว่าหรือผู้ไม่มีทางสู้
ขณะที่อิหม่ามประจำมัสยิดแห่งหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า คนในพื้นที่ที่ได้ดูคลิปต่างพากันรู้สึกถึงความโหดเหี้ยมโหดร้ายของคนร้ายกลุ่มนี้ เท่าที่ฟังดูชาวบ้านส่วนใหญ่รู้สึกต่อต้านกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะไม่ใช่การกระทำของคนที่มีอุดมการณ์ แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเจ้าหน้าที่จึงปล่อยให้คลิปลักษณะนี้เผยแพร่ผ่านสื่อได้ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องไม่สมควร
"ผมอยากประณามคนที่เผยแพร่คลิปนี้ด้วย เพราะนอกจากจะเป็นการยั่วยุให้เด็กรุ่นใหม่เอาเป็นตัวอย่างแล้ว ที่สำคัญเมื่อภาพคนร้ายปรากฏออกมา ย่อมส่งผลกระทบต่อรูปคดี ทำให้คนร้ายรู้ตัว และติดตามจับกุมคนร้ายได้ยากขึ้น"
"นักวิจัย"ชี้เข้าทางโฆษณาชวนเชื่อเสมือนจริง
ปัญญศักดิ์ โสภณวสุ นักวิจัยในโครงการความมั่นคงศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นกลุ่มผู้ก่อการเจตนาก่อเหตุเพื่อให้กล้องโทรทัศน์วงจรปิดบันทึกภาพได้อย่างแน่นอน เพราะกลุ่มคนร้ายมีโอกาสเลือกลงมือได้ในจุดอื่นบนถนนสายเดียวกันที่ไม่มีกล้องติดตั้งอยู่ แต่กลับไม่เลือก ถือเป็นเจตนาที่ต้องการให้มีการนำภาพเหตุการณ์เผยแพร่ออกไป เมื่อสื่อนำภาพไปเผยแพร่ต่อจึงกลายเป็น "เข้าทาง" นับเป็นปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อเสมือนจริง โดยใช้ปฏิบัติการจริงๆ ทำให้เห็นกันจริงๆ ถึงศักยภาพของกลุ่มก่อการที่มีอยู่
"การก่อเหตุของกลุ่มก่อการในครั้งนี้ลบคำโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายรัฐที่เคยบอกกล่าวมาตลอดว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ได้ สถิติเหตุรุนแรงน้อยลง และดึงมวลชนมาอยู่กับฝ่ายรัฐมากขึ้น เพราะภาพที่ออกมาสะท้อนชัดถึงศักยภาพของกลุ่มผู้ก่อการได้อย่างชัดเจนว่ายังคงมีกำลังคน มีอาวุธ และสามารถปฏิบัติการตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐได้ ไม่ได้ถูกควบคุมหรือถูกจำกัดพื้นที่จากปฏิบัติการกดดันด้วยการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมของฝ่ายรัฐ"
"เปิดหน้ายิง"สะท้อนจิตวิญญาณ-มั่นใจมวลชนหนุน
"ประเด็นที่น่าสนใจจากการก่อเหตุของคนร้ายในครั้งนี้ คือการทำงานอย่างเป็นระบบ แบ่งเป้าหมายกันลงมือ มีคนสั่งการชัดเจน ที่สำคัญไม่ได้มีการปิดบังหรืออำพรางใบหน้า แสดงถึงความแข็งแกร่งทางการทหารที่ได้รับการฝึกมา ทั้งยังมีความแข็งแกร่งทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐไม่เคยทำความเข้าใจ กลุ่มก่อการพวกนี้มีความเชื่อเรื่องการต่อสู้ในแนวทางญิฮาด การไม่ปิดบังอำพรางเป็นการแสดงถึงความพร้อมยอมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น แม้ว่าจะถูกยิงหรือจับกุมก็ตาม"
ปัญญศักดิ์ วิเคราะห์ต่อว่า จากภาพที่กล้องโทรทัศน์วงจรปิดบันทึกได้ จะเห็นการทำงานของคนร้ายที่ปฏิบัติการโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็สามารถก่อเหตุบรรลุเป้าหมายในช่วงเวลาที่ยังไม่มีกำลังสนับสนุนของฝ่ายรัฐเข้ามาช่วยเหลือ อีกทั้งยานพาหนะที่ใช้ก็เป็นรถกระบะถึง 3 คัน มีกำลังคนเยอะ แต่กลับแยกย้ายกันหลบหนีได้อย่างไร้ร่องรอย รอดจากการถูกสกัดจับจากด่านตรวจบนเส้นทางที่ก่อเหตุ
"ในมุมนี้สะท้อนถึงความไม่พร้อมของกำลังฝ่ายรัฐ แต่สะท้อนความพร้อมของมวลชนในพื้นที่ที่ให้การสนับสนุนฝ่ายผู้ก่อการ การที่กลุ่มก่อการเลือกก่อเหตุในพื้นที่นี้ แสดงว่ามวลชนในพื้นที่ต้องอยู่ฝ่ายเขา จึงทำให้ก่อเหตุสำเร็จบรรลุเป้าหมาย"
สะเทือนความมั่นใจชาวบ้านที่มีต่อรัฐ
ปัญญศักดิ์ ชี้ด้วยว่า เมื่อคนร้ายวางพล็อตเหตุการณ์ให้เป็นเช่นนี้ ยิ่งมีสื่อมวลชนนำภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดไปเผยแพร่ ยิ่งทำให้กลุ่มผู้ก่อการประสบความสำเร็จเกินเป้า
"มันหมือนเป็นการเผยแพร่ปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อเสมือนจริงอย่างเห็นผล ภาพที่ออกไปมันได้สร้างผลทางจิตวิทยาดีกว่าใบปลิวข่มขู่ที่คนร้ายเคยใช้ เพราะใบปลิวใช้ได้ในพื้นที่แคบๆ ตามหมู่บ้าน แต่ภาพที่ออกไปส่งผลกระทบในวงกว้างมาก ซ้ำยังเป็นภาพเหตุการณ์จริง สร้างผลสะเทือนได้มากกว่าหลายเท่าตัว หนำซ้ำยังสามารถข่มขวัญคนต่างศาสนาในพื้นที่ที่เคยมั่นใจในเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ไม่มั่นใจในความปลอดภัย แม้จะมีกำลังของเจ้าหน้าที่อยู่เต็มพื้นที่ก็ตาม"
ปัญญศักดิ์ ตั้งประเด็นทิ้งท้ายว่า ตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นมา การก่อเหตุของฝ่ายผู้ก่อการมีความชัดเจนขึ้นในเรื่องของเป้าหมาย คือมุ่งไปที่กองกำลังของเจ้าหน้าที่และคนต่างศาสนาในพื้นที่ การปรับยุทธวิธีในการต่อสู้หรือตอบโต้รัฐก็มีโดยตลอด อย่างเช่น ฝ่ายรัฐมีรถหุ้มเกราะรีว่า (รถหุ้มเกราะรุ่นใหม่) ทางกลุ่มผู้ก่อการก็สามารถวางระเบิดสร้างความเสียหายได้ และยังมีความพยายามพัฒนาศักยภาพการต่อสู้กับฝ่ายรัฐ ทั้งหมดก็เพื่อแสดงให้คนในพื้นที่เห็นว่าฝ่ายผู้ก่อการยังเป็นฝ่ายกำหนดเวลา สถานที่ และเลือกเป้าหมายในการปฏิบัติ เป็นการต่อสู้ที่ไร้รูปแบบ และยากในการระวังป้องกัน
เอ็นจีโอปลุกร่วมต้านรุนแรง – ติงสื่อรอบคอบเสนอภาพข่าว
ในแง่ของการใช้ความรุนแรงและเผยแพร่ความรุนแรงผ่านสื่อ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงและให้สื่อระมัดระวังการเผยแพร่ภาพความรุนแรง โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน
แถลงการณ์ระบุว่า มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บทุกคน และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันต่อต้านและแสดงการคัดค้านการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา
มูลนิธิฯตระหนักว่าปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องมาเกือบ 9 ปี ได้ทำลายความเชื่อมั่นในหลักนิติธรรมของประเทศไทยอย่างรุนแรง มีการใช้ความรุนแรงตามอำเภอใจโดยไม่ใส่ใจต่อระบบกฎหมาย สภาวะดังกล่าวสร้างความหวาดกลัวให้เกิดกับประชาชนเป็นอย่างยิ่ง กรณีความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงควรถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นในการบริหารประเทศของรัฐบาล โดยเฉพาะ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ควรเป็นผู้นำและเป็นผู้รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง
มูลนิธิฯมีข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี รัฐบาล รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายดังนี้
1.ทุกฝ่ายต้องเคารพกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายมนุษยธรรมและหลักนิติธรรม ควรมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และไม่ปล่อยให้มีการลอยนวลของผู้กระทำผิด
2.รัฐบาลต้องนำนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้เห็นต่างจากรัฐสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ และใช้สันติวิธีโดยไม่ถูกหวาดระแวง เพื่อนำไปสู่การพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน
3.สื่อมวลชนซึ่งมีหน้าที่ในการนำเสนอข่าว ควรนำเสนอภาพเหตุการณ์ความรุนแรงด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง เสรีภาพสื่อต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิของเหยื่อ และไม่ควรตอกย้ำความสูญเสียและความรุนแรงซึ่งอาจก่อให้เกิดความเคียดแค้นต่อกันมากขึ้น
มูลนิธิฯเชื่อมั่นว่า สันติภาพที่ยั่งยืนไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยปราศจากความร่วมมือจากพลเมืองทุกคน โดยเฉพาะผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งที่จะต้องกล้าก้าวผ่านความกลัวในการออกมาเรียกร้องเพื่อให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง ในฐานะที่ทุกคนเป็นเจ้าของประเทศนี้ร่วมกัน
อนึ่ง ข้อบังคับด้านจริยธรรมวิชาชีพสื่อสารมวลชนนั้น นอกจากเรื่องความเที่ยงตรง เป็นกลาง และความเป็นธรรม ตลอดจนความเป็นอิสระของวิชาชีพ และความรับผิดชอบต่อสาธารณชนซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้ว ยังครอบคลุมถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นส่วนตัว การคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล ตลอดจนการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากรายการที่แสดงออกถึงความรุนแรง การกระทำการปฏิบัติต่อเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายและผู้ที่อยู่ในภาวะเศร้าโศกด้วย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพเหตุการณ์คนร้ายยิงเจ้าหน้าที่ทหารที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี
หมายเหตุ : พรางภาพโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา