ทส. แจงแนวทางแก้ไขปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่า ลดข้อพิพาทชุมชน
จากกรณีกลุ่มเครือข่ายองค์กรประชาชนฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาล “หยุดนโยบายทวงคืนผืนป่า หยุดแย่งที่ดินชุมชน” ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย จนเกิดเป็นข้อพิพาทกับรัฐในหลาย กรณี โดยขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 และแก้ไข พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พ.ร.บ. ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 รวมถึงแก้ไขคู่มือปฏิบัติการแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินฯ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมให้รัฐบาลหามาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิในที่ดินทำกิน
นายโสภณ ทองดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะโฆษกประจำกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการตามแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน หรือ นโยบายทวงคืนผืนป่า อีกทั้ง ได้บูรณาการในการสนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจยึดและดำเนินการทางกฎหมาย และพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การดำเนินการเข้าตรวจยึดจับกุม จะต้องมีการประชุมชี้แจงพร้อมแสดงพื้นที่แต่ละแปลงซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายที่จะดำเนินการ ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและร่วมปฏิบัติการตรวจยึดดำเนินคดี โดยเฉพาะกับผู้ครอบครองรายใหญ่ นายทุน และผู้มีอิทธิพลที่ดำเนินการในรูปแบบในเชิงธุรกิจ มีการลงทุนสูงหรือต่างจากวิถีชุมชนในท้องถิ่นเดิม เมื่อมีการทวงคืนแล้วได้นำพื้นที่ดังกล่าวมาดำเนินการฟื้นฟู ต่อไป
ด้านนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบและชี้แจงทำความเข้าใจกับกลุ่มเครือข่ายองค์กรประชาชนฯ ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ขอให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยในเบื้องต้น ได้สั่งการให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ทุกหน่วยงานคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อพี่น้องประชาชนผู้ยากไร้หรือเกษตรกรรายย่อย ตามนโยบายของนาย วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้ให้แนวทางไว้เป็นพิเศษในเรื่องนี้ด้วย สำหรับกรณีพื้นที่ป่าอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ที่ได้มีการดำเนินการปิดหมายบังคับคดี และมีกำหนดรื้อถอนในวันที่ 27 สิงหาคมที่จะถึงนี้ เนื่องจาก ศาลจังหวัดภูเขียวมีคำพิพากษาตัดสินให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ที่ได้นำไปปลูกในพื้นที่พิพาท ปรับสภาพพื้นที่สวนป่าให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องในพื้นที่สวนป่าคอนสารทั้งหมดอีกต่อไป โดยศาลฎีกาได้ยืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ คดีจึงเป็นที่สิ้นสุด แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะได้หารือกับกลุ่มเครือข่ายองค์กรประชาชนฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ต่อไป นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวให้ความมั่นใจ
ด้านนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวเสริมว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของพื้นที่ราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะยึดหลักการและแนวทาง ดังนี้ การจัดการพื้นที่โดยชุมชนที่จะได้รับพิจารณาต้องเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยเดิม ไม่มีการจัดที่ดินให้กับบุคคลนอกพื้นที่ มีการสำรวจการครอบครองที่ดินและการบริหารจัดการพื้นที่ (Zoning) เพื่อให้ได้ข้อตกลง และเมื่อพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้แล้ว จะนำ “เขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์” ที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว พร้อมแผนผังแปลงที่ดินและบัญชีรายชื่อราษฎรมาจัดทำเป็นโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เสนอตามขั้นตอนเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จะดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายในเขตป่าอนุรักษ์ทั้งประเทศ 215 ป่า 3,973 หมู่บ้าน เนื้อที่ประมาณ 4.7 ล้านไร่ โดยจะได้เร่งรัดสำรวจและบริหารพื้นที่ ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ให้แล้วเสร็จ เพื่อนำผลการดำเนินการมาเสนออนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด ต่อไป
ทั้งนี้ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในความดูแลของกรมป่าไม้ ภายใต้นโยบายดังกล่าว จะมุ่งเน้นพื้นที่ที่เป็นป่าต้นน้ำลำธารที่มีความสำคัญของประเทศ โดยเป็นในเขตป่าต้นน้ำที่ถูกบุกรุกทำลายจนเกิดความเสียหายขั้นวิกฤต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแปลงยางพาราของกลุ่มนายทุน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่มีการบูรณาการร่วมกันของหลายหน่วยงานในการเข้าตรวจยึดและดำเนินคดี โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เพื่อรื้อถอนพืชผลอาสิน และมีการปลูกป่าฟื้นฟูไปแล้ว และในบางพื้นที่มีการ ฟื้นฟูตัวเอง นอกจากนี้ กรมป่าไม้ได้จัดทีมงานชุคพยัคฆ์ไพร เข้ารับเรื่องราวร้องทุกข์และดำเนินการแก้ไขปัญหาของผู้ได้รับผลกระทบจากแผนงานการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐมาโดยตลอด ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และสามารถช่วยเหลือชาวบ้านให้ได้รับผลประโยชน์เป็นที่น่าพอใจ