เหลียวหลังแลหน้า ใครเฝ้าระวัง ‘อนาคตผู้ถูกค้ามนุษย์’ ในวันที่ไทยไม่มีใบเหลือง
เหลียวหลังแลหน้า ใครเฝ้าระวัง ‘อนาคตผู้ถูกค้ามนุษย์’ ในวันที่ไทยไม่มีใบเหลือง ในภาคประมง -TIP Report อยู่เทียร์ 2 เผยสถิติคดีพ.ศ. 2557-61 ปีไหนมีมากที่สุด พร้อมถอดบทเรียนกระบวนการยุติธรรมคุ้มครองเยียวยาผู้เสียหาย
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยพยายามแก้ไขปัญหา ‘การค้ามนุษย์’ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคประมง หนึ่งในนั้น คือ การยกระดับการต่อต้านการค้ามนุษย์เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ รวมไปถึงการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ถึง 3 ครั้ง ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
ความพยายามดังกล่าวนำไปสู่การบรรลุผลสำเร็จของเป้าหมายที่รัฐบาลไทยกำหนดไว้ โดยต้นปี พ.ศ. 2562 สหภาพยุโรปประกาศปลดใบเหลืองภาคประมงไทย ขณะที่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report)คงให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มเทียร์ 2 เป็นปีที่ 2 (ประเทศหรือรัฐบาลที่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ไม่ครบถ้วน แต่มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเหล่านั้น )
ถึงกระนั้นยังมีคำถามตามมาว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสามารถเก้ไขปัญหาได้แท้จริงหรือไม่ ภายใต้ความซับซ้อนของการค้ามนุษย์ที่มีมากขึ้นกว่าในอดีต
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ร่วมกับสำนักงานกฎหมายเอส อาร์ จึงจัดเสวนาวิชาการ เรื่อง เหลียวหลังแลหน้ากับอนาคตผู้ถูกค้ามนุษย์:วันที่ประเทศไทยไม่มีใบเหลืองและไม่มีใครเฝ้าระวัง ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ
“เด็กหญิงคนหนึ่งเข้ามาทำงานในโรงงานพลาสติก หน้าที่ของเธอคือการนำพลาสติกใส่เข้าไปตัดในเครื่องจักร โดยระหว่างที่ทำงานอยู่นั้น เครื่องจักรได้ตัดนิ้วมือทั้งหมดของเธอไปข้างหนึ่ง เถ้าแก่พาไปหาหมอและกลับไป เธอไม่ได้กลับไปด้วยในทันที ภายหลังเถ้าแก่คนนั้นกลับพาเธอไปข่มขืน”
เหตุการณ์สะเทือนใจตอนหนึ่งจากหนังสือที่เขียนขึ้นจากเรื่องจริงที่ ‘กาญจนา อัครชาติ’ ผู้จัดการคดีค้ามนุษย์ มสพ. หยิบยกขึ้นมาบอกเล่าด้วยความรู้สึกเศร้า เธอกล่าวว่า ชีวิตตอนนั้น...เมื่อปิดหนังสือ...ตั้งปณิธานว่า คดีเหล่านี้จะไม่น่าจะมีอีกแล้ว
ทว่า ผิดคาดจากความตั้งใจที่เธอมองไว้ เพราะเมื่อได้เข้ามาทำงานใน มสพ. เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยเริ่มงานที่ จ.สมุทรสาคร กลับต้องเจอกับเรื่องราวร้องเรียนจากแรงงานข้ามชาติ แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ยังมีรูปแบบเดิม เพียงแต่จากเดิมแรงงานเป็นคนชนบทจากประเทศไทยเปลี่ยนเป็นคนชนบทจากประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา แทน
ผู้จัดการคดีค้ามนุษย์ มสพ. กล่าวยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “ประเทศไทยยังคงมีปัญหาการค้ามนุษย์” โดยสถิติคดี ปี พ.ศ. 2557 มีจำนวน 280 คดี ปี พ.ศ. 2558 มีจำนวน 317 คดี ปี พ.ศ. 2559 มีจำนวน 333 คดี ปี พ.ศ. 2560 มีจำนวน 302 คดี และปี พ.ศ. 2561 มีจำนวน 304 คดี
ทั้งนี้ ปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายการค้ามนุษย์ หลังจากทำมาแล้ว 2 ครั้ง เรียกว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2562 เนื่องจากรูปแบบแรงงานบังคับในประเทศไทย การทำคดีค้ามนุษย์ ในบางครั้งการถูกบังคับใช้แรงงาน ไม่ได้รับการตีความอย่างเป็นธรรม ประกอบกับถูกกล่าวหาว่าไม่มีข้อหาเรื่องแรงงานบังคับและมาตรการการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการตกเป็นเหยื่อแรงงานบังคับ ทำให้ต้องเพิ่มลักษณะของการตกเป็นแรงงานบังคับเข้าไปว่า การะทำอื่นใดที่จะทำให้แรงงานถูกบังคับใช้ โดยทำนองเดียวกัน เพื่อขยายให้ครอบคลุมจากเดิมมากขึ้น จากนั้นเมื่อมีผู้เสียหายจากแรงงานบังคับ จะเพิ่มมาตรการช่วยเหลือและคุ้มครองผู้เสียหายบังคับเข้าไปด้วย
“การแก้ไขกฎหมายหลายครั้งที่ผ่านมา แม้จะมุ่งเพื่อให้ทันต่อความซับซ้อนของผู้กระทำความผิด แต่ความจริงแล้วเราอาจไม่ทัน ยกตัวอย่างคดีที่เคยมีประสบการณ์ช่วยเหลือผู้เสียหาย คดีนั้นแรงงานที่เป็นเหยื่อเดินทางมาจากประเทศเมียนมา โดยมีนายหน้าชักชวนเข้ามา ซึ่งในระหว่างมาถึงประเทศไทย ได้พักอาศัยกับนายหน้า แต่ปรากฎว่าในการทำงานนั้น นายหน้าไม่ได้เป็นเจ้าของเรือ แต่มีคนไทยอีกคนหนึ่งเป็นเจ้าของเรือ คดีนั้นตำรวจบอกว่า นายจ้างไม่ได้บังคับลูกเรือ ดังนั้นลูกเรือจึงทำงานบนเรือ โดยไม่ได้ถูกบังคับแต่อย่างใด แต่ไม่มองถึงว่า การที่นายหน้าพาลูกจ้างมานั้น มีประโยชน์แก่นายจ้างหรือไม่ ซึ่งถ้าดูแล้วเรายังไปไม่ถึงความซับซ้อน การช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เช่นกัน จะเห็นว่า เราจับได้เฉพาะนายหน้า แต่ไม่สามารถสาวตัวไปถึงนายจ้างได้”
นอกจากนี้แม้กฎหมายจะมีกระบวนการบังคับคดีและมีมาตรการช่วยเหลือผู้เสียหาย โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้ช่วยในการช่วยเหลือในการบังคับคดี ‘กาญจนา’ กลับเห็นว่า แท้จริงแล้วจะมีผู้เสียหายกี่รายที่ได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจากคำพิพากษา หลายคนได้เพียงแต่กระดาษเท่านั้น แม้จะมีมาตรการในการคุ้มครองผู้เสียหายหลายประการ ทั้งอบรม เยียวยา ฟื้นฟูจิตใจ และอนุญาตให้ผู้เสียหายที่เป็นเรงงานข้ามชาติทำงานและอยู่ต่อในประเทศไทยได้ หากหลายอย่างยังเป็นอุปสรรคทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถเดินทางหรือทำงานในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง
เธอยังระบุถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีการพิจารณาคดีค้ามนุษย์จากระบบกล่าวหาเป็นไต่สวน โดยในการทำคดียังค้นพบว่า กระบวนการต่าง ๆ ในระบบไต่สวน ศาลยังไม่คุ้นชินกับระบบนี้ การทำคดี การสืบพยาน ยังไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ได้พบเจอระหว่างทำคดี
ด้าน พ.ต.ท.หญิง จรีย์วรรณ พุทธานุรักษ์ รองผกก.สส.ภ.จว.เชียงใหม่ เล่าว่าในพื้นที่มีการค้ามนุษย์ในรูปแบบการค้าประเวณีค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเราทำงานกับผู้เสียหาย โดยเป็นสื่อกลาง ทำความเข้าใจตั้งแต่แรกในขั้นตอนการสืบสวนก่อนเกิดเหตุ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ต้องทำงานกับผู้เสียหายก่อน เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้น จนกระทั่งสามารถออกหมายจับผู้ต้องหา
ในส่วนของหลักการทำงานนั้น จะทำงานร่วมกับผู้เสียหาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในรูปแบบการค้าประเวณี เด็กเหล่านี้เข้ามาสู่วงจรเนื่องจากมีปัญหาในครอบครัว จึงต้องอาศัยอยู่คนเดียวและหาเลี้ยงชีพด้วยการลักลอบค้าประเวณี กรณีที่มีแม่เล้า พบว่า แม่เล้าอายุไม่ห่างจากเด็กมาก เป็นเด็กกลุ่มเดียวกันชักชวนกันมา
“ปี พ.ศ. 2558-2559 จะมีการดำเนินคดีลักษณะแบบนี้เป็นข่าวครึกโครมพอสมควร มีการขยายผลทางคดีกว่า 100 คดี จากผู้เสียหายประมาณ 6-7 คน ไปค้าประเวณีในพื้นที่ภาค 5 มีผู้ซื้อบริการเด็กเป็นชายผู้สูงอายุ โดยมีการดำเนินคดีทั้งผู้ค้ามนุษย์และผู้ซื้อบริการ”
รองผกก.สส.ภจ.เชียงใหม่ กล่าวต่อว่า ในการทำคดีดังกล่าวนำผู้เสียหายเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองพยาน ซึ่งแรกเริ่มผู้เสียหายมีความกังวลในการต้องเข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐบาล ที่มีรูปแบบเดิม ๆ ตื่นเป็นเวลา กินเป็นเวลา นอนเป็นเวลา จำกัดพื้นที่ ซึ่งเรามองว่าเด็กคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่และสามารถให้ข้อมูลทางคดีได้มาก ถ้าเด็กอยู่กับเรา เมื่อต้องทำงานร่วมกับผู้เสียหาย จึงได้พูดคุยกับผู้บังคับบัญชาให้มีการเช่าบ้านให้เด็กอยู่แทน คล้าย ๆ เซฟเฮ้าส์ เราเรียกว่า บ้านเอเอฟ มีกล้องวงจรปิดห้องหลัก ๆ ไม่มีตำรวจอยู่ แต่จะไปเยี่ยมบ้านเป็นครั้งคราว จะออกไปไหนต้องแจ้ง แต่กลับไม่เกิน 22.00 น. และห้ามพาใครมาเยี่ยม
“ผู้เสียหายจากการค้าประเวณีมักเป็นเด็กใช้ชีวิตกลางคืน หากให้ไปใช้ชีวิตกลางวันเหมือนในสถานสงเคราะห์ เด็กจะไม่พึงประสงค์และอยากจะวิ่งหนีออกไป เพียงแต่ว่าอยู่ในบ้านเอเอฟ สามารถทำตามใจตนเองได้ มีการใช้หลักการตำรวจ ‘ระบบเกียรติศักดิ์’ เชื่อมั่นในตนเองได้”
ทั้งนี้ มีองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาทำงานกับกลุ่มเด็กร่วมกันให้พวกเขาได้เรียนรู้ทบทวนตนเอง สร้างความมั่นใจว่าสามารถอยู่ได้ แม้ไม่ได้ทำงานในอาชีพนี้และส่งเสริมให้เรียนหนังสือหลักสูตร กศน. ทุกวันอาทิตย์ ส่งผลบรรลุให้เด็กยอมให้ปากคำ
“การค้าประเวณีเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ค่อยคุยกัน การเปิดใจคุย ไม่ใช่ว่า เจอหน้ากันแล้วคุยได้ แต่เราต้องมีความไว้วางใจกันระดับหนึ่ง ซึ่งความไว้วางใจนี้ไม่ได้สร้างขึ้นในวันเดียว”
พ.ต.ท.หญิง จรีย์วรรณ ยกตัวอย่างคดีค้ามนุษย์ อาจมีการบุกทลายอาบ อบ นวด สามารถกวาดคนมาร้อยคน แล้วมานั่งถามว่า “คุณไปขายบริการทางเพศใช่หรือไม่” ซึ่งไม่ง่ายที่คนนั้นจะตอบว่า “ฉันทำ!” ซึ่งกระบวนการคัดแยกตามกฎหมายต้องดำเนินการภายใน 24 ชม. ยอมรับว่าทำไม่ทัน หากมีจำนวนมาก ในขณะที่ผู้สัมภาษณ์มีจำนวนน้อย
แม้จะมีทีมสหวิชาชีพเข้ามาช่วยเหลือ แต่ทุกคนมีความรู้เฉพาะของตนเอง ในขณะที่ยังขาดความเข้าใจในการซักถามผู้เสียหาย เพราะบางคนไม่ต้องการเล่าเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากการค้าประเวณีเป็นเรื่องไม่อยากบอกใครด้วยซ้ำ ฉะนั้นการคัดแยกภายใน 24 ชม. และภายใน 7 วัน กรณีคุ้มครองไว้ ข้อมูลข้อเท็จจริงอาจไม่ปรากฎออกมา
การดำเนินงานที่ดี คือ การรวบรวมพยานหลักฐานผ่านการสอบถามจากผู้เสียหาย โดยอาศัยความไว้วางใจ บางครั้งมีดราม่าในเนื้อความจากคำบอกเล่าของผู้เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นความรันทดในชีวิต หรือเหตุผลในการยึดอาชีพนี้ เห็นว่าเรื่องดราม่านั้นควรใส่เข้าไปในคำให้การในการสอบสวนคดีด้วย
สุกัญญา รัตนนาคินทร์ อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมในคดีค้ามนุษย์มาตลอด เปิดเผยว่า ผู้เสียหายจากคดีค้ามนุษย์แตกต่างจากผู้เสียหายคดีอาญาทั่วไป เนื่องจากในคดีค้ามนุษย์นั้น ผู้เสียหายจะมี ‘ความเปราะบาง’ ในที่นี้หมายถึง อายุน้อย การศึกษาน้อย ฐานะยากจน แรงงานต่างด้าว ประเด็นเหล่านี้ถูกนำมาเป็นเหตุผลในการแสวงหาผลประโยชน์จากเหยื่อ เพราะฉะนั้นสิ่งที่อัยการพบเจอในชั้นการคัดแยก ชั้นการสอบสวน ชั้นศาล เป็นเรื่องยากมากในการทำให้เหยื่อพูดความจริงออกมาให้เราช่วยเหลือ
“อัยการไปศึกษาการสัมภาษณ์ คัดแยก ได้ประกาศนียบัตรมามากมาย แต่การทำในพื้นที่จริงไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะความกลัว ความกังวล การที่นายหน้าของเหยื่อเป็นคนในชุมชน พามาขาย แสวงหาผลประโยชน์ พ่อแม่รับเงินไป ต้องใช้หนี้ ฉะนั้นลักษณะการบังคับขู่เข็ญกับเด็กไม่มีเลย แต่เป็นการบังคับรูปแบบใหม่ ยึดหนังสือเดินทางไว้ พ่อแม่เป็นหนี้ ถ้าเหยื่อหนีไป ถามว่ามีเงินใช้หนี้หรือไม่ ในเมื่อเงินหมดแล้ว หรือความยากจน มีเด็กจำนวนมากไม่อยากขายบริการ แต่อยู่บ้าน ฝนไม่ตก ปลูกผักไม่ขึ้น หลายคนจึงยอมมาค้าประเวณีในไทย เพื่อนำเงินมาให้ทางบ้านใช้ แต่เวลาสัมภาษณ์ เหยื่อไม่พูด เพราะกลัวว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะเดือดร้อน”
เมื่อประเทศไทยเห็นว่าผู้เสียหายไม่มีศักยภาพในการดำเนินคดีด้วยตนเอง อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ระบุจึงมีการเปลี่ยนระบบจากกล่าวหาไปสู่ไต่สวนแทน โดยสำนวนการไต่สวนทั้งหมดต้องเสนอต่อศาล เพื่อให้ศาลตรวจสอบและเป็นคนถาม ส่วนประเด็นอื่นใดที่อัยการสอบถามเพิ่ม ต้องขออนุญาตศาลถาม
ทั้งนี้ สิ่งที่พบในทางปฏิบัติกลับ คือ สำนวนการสอบสวนมีความบกพร่องในหลายอย่าง อัยการต้องออกระเบียบหากนำสำนวนนอกการสอบสวนเข้ามา อาจโดนมาตรา 157
สุกัญญา ยังระบุถึงการเยียวยาค่าสินไหมทดแทนว่าที่ผ่านมามีการสมมติตัวเลขกันขึ้นมา โดยไม่มีการนำนักจิตวิทยา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีประสบการณ์ด้านการดำเนินคดีการค้ามนุษย์และทราบว่า เพราะเหตุใดผู้เสียหายจึงกลับคำให้การไปมา ไม่ยอมพูดความจริง ซึ่งหากเราได้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ มีอยู่ในสำนวนการสอบสวน นำเข้ามาสืบความ หรือศาลเรียกเข้ามาตามวิธีการที่กฎหมายเอื้อให้ทำได้ เชื่อว่าจะดำเนินการได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าเด็กแต่ละคนมีการบาดเจ็บทางจิตใจอย่างไร
********************************************
การค้ามนุษย์ ไม่ว่าในรูปแบบใดจะหมดสิ้นไปได้ หากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ทำอย่างไรให้สังคมไทยปลดแอกออกจากความเหลื่อมล้ำ ทุกคนสามารถสร้างงานสร้างรายได้ มีกระบวนการยุติธรรมในการคุ้มครองเยียวยาผู้เสียหาย แม้ปัจจุบันภาพลักษณ์ของไทยจะดีขึ้น แต่ไม่ควรไว้วางใจ จำเป็นต้องเฝ้าระวังต่อไปภายใต้กลวิธีค้ามนุษย์ที่ซับซ้อนและแยบยล .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :‘สมชาย’ หวัง กม.ปราบปรามค้ามนุษย์ ครอบคลุมฟื้นฟูเยียวยา ‘เหยื่อ’
ภาพประกอบ:https://www.thaihealth.or.th
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/