หน่วยปฏิบัติกางสถิติไฟใต้...ยันไม่เลวร้ายอย่างที่คิด!!!
แม้ตั้งแต่ต้นปี 2555 เป็นต้นมา สถานการณ์ที่ชายแดนใต้มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น คาร์บอมบ์ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อ 31 มี.ค.หรือคาร์บอมบ์ 2 ครั้งล่าสุดช่วงรอมฎอนก็ตาม แต่หน่วยปฏิบัติในพื้นที่ยังคงยืนยันด้วยข้อมูลเชิงสถิติว่า ภาพรวมของสถานการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ และดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด
ในรายงานสถานการณ์ความไม่สงบที่จัดทำโดยหน่วยงานในพื้นที่ ระบุว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (ปี 2547-2555) ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ลักษณะเหตุการณ์ความรุนแรงยังคงเป็นรูปแบบการลอบทำร้าย ลอบยิง วางระเบิด และทำลายทรัพย์สินของประชาชนและสถานที่ราชการ
ในช่วงปี 2547-2555 (นับถึง 15 ก.ค.2555) มีจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา รวม 13,085 เหตุการณ์ ส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตรวม 5,469 ราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวน 9,653 ราย โดยประชาชนเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุดคือ 4,104 ราย คิดเป็นร้อยละ 75.04 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด
สถานการณ์ที่มีความรุนแรงได้พุ่งสูงขึ้นถึง 2,078 เหตุการณ์ในปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และเกิดสูงสุดในปี 2550 คือ 2,475 เหตุการณ์ หลังจากนั้นการเกิดเหตุรุนแรงมีแนวโน้มลดลง
ในปีปัจจุบัน คือปี 2555 เหตุรุนแรงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยรัฐบาลมีนโยบายใช้แนวทางสันติวิธี ให้ความสำคัญกับการเปิดพื้นที่ให้ผู้มีความเห็นต่างได้ร่วมแก้ปัญหาความขัดแย้ง เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมแก้ไขปัญหา เคารพให้เกียรติในพหุวัฒนธรรม ภาษาถิ่น อัตลักษณ์ วิถีชีวิตอิสลาม หลักศาสนา การศึกษา ใช้ความเป็นธรรมในการแก้ไขปัญหา และนำมาตรการเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหาย ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเสมอภาค เพื่อเป็นจุดเปลี่ยนผ่าน "จากความรุนแรงสู่สันติวิธี"
จากผลของการปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ถึงแม้ยังไม่มีการประเมินผล แต่พบว่าค่าเฉลี่ยของการเกิดเหตุการณ์ลดลงจาก 2.97 เหตุการณ์ต่อวันในปี 2554 เหลือ 2.42 เหตุการณ์ต่อวันในปี 2555 หรือลดลงร้อยละ 18.51
เมื่อเปรียบเทียบสถิติเหตุการณ์รอบ 6 เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณียิง ระเบิด และลอบวางเพลิงระหว่างเดือน ม.ค.ถึง ก.ค.2554 กับ ม.ค.ถึง 21 ก.ค.2555 ซึ่งเก็บข้อมูลโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) พบว่าในภาพรวมมีเหตุการณ์ลดลงจาก 406 ครั้ง เหลือ 172 ครั้ง กรณีระเบิดในช่วงเวลาเดียวกันลดลงจาก 147 ครั้งในปี 2554 เหลือ 92 ครั้งในปี 2555 หรือลดลงร้อยละ 37.41
เมื่อแยกเป็นสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบ ข้อมูลของศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พบว่า สถิติจำนวนเหตุการณ์ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึงมิ.ย.ปี 2554 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 มีแนวโน้มลดลงทุกจังหวัด และในภาพรวมทั้งสามจังหวัดลดลงจาก 511 เหตุการณ์ เหลือเพียง 306 เหตุการณ์ หรือลดลง 205 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 40.11
จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ห้วงเดือน ม.ค.ถึง มิ.ย.2554 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 พบว่าผู้เสียชีวิตลดลงจาก 234 คน เหลือ 145 คน หรือลดลง 89 คน คิดเป็นร้อยละ 38.04
สถิติของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ (รวมกัน) ระหว่างเดือน ม.ค.ถึง ก.ค.2554 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ลดลง 216 ราย โดยเมื่อแยกเป็นรายจังหวัดพบว่า จ.ยะลา มีจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บลดลง 78 ราย จ.ปัตตานี มีจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บคงที่ จ.นราธิวาส มีจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บลดลง 138 ราย
สำหรับกลุ่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ครูและบุคลากรทางการศึกษา พบว่า ในปี 2554 ระหว่างเดือน ม.ค.ถึง มิ.ย.มีครูและบุคลากรทางการศึกษาเสียชีวิต 5 ราย และบาดเจ็บ 4 ราย รวม 9 ราย แต่ในปี 2555 ไม่มีบุคลากรทางการศึกษาได้รับผลกระทบ
นอกจากนั้น เมื่อหันไปดูสถิติคดีฆ่าคนตาย (อาชญากรรมทั่วไป) ในพื้นที่รับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 (ภาคใต้ตอนกลาง) ภาค 9 (ภาคใต้ตอนล่างยกเว้นสามจังหวัดชายแดน) และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) พบว่าพื้นที่ภาค 8 มีสถิติคดีฆ่าคนตายสูงสุด คือ เฉลี่ย 1.44 เหตุต่อวัน
ในขณะที่พื้นที่ ศชต.มีสถิติคดีฆ่าคนตาย 1.21 เหตุต่อวัน!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ :
1 ตารางข้อมูลสถิติเหตุรุนแรง โดย ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.)
2 ตารางข้อมูลสถิติความสูญเสีย (จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต) โดย ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.)
3 ปรับแต่งภาพ/สีของตารางข้อมูลให้ชัดเจนขึ้น โดย ฝ่ายศิลป์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ