เภสัชดีเด่นแนะชาวบ้านเป็นหมอยา นักวิชาการติงสิทธิบัตรไม่ตอบโจทย์พึ่งตนเอง
ภญ.อภัยภูเบศรคว้ารางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม แนะต่อสู้เรื่องสิทธิบัตรยาให้ชาวบ้านใช้สมุนไพรในวิถีชีวิต นักวิชาการเผยสถานการณ์ยาสวนกระแสพึ่งตนเอง สธ.เร่งเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติส่งเสริมชุมชนปลูกสมุนไพรกินใช้เอง
วันที่ 8 ธ.ค.53 มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.) แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานมอบรางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคมประจำปี 2553 และเสวนา“นโยบายแห่งชาติด้านยา : ทิศทางการพึ่งตนเองด้านยาของประเทศ”
ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า จากการทำงานกับชาวบ้านพบว่ามีสมุนไพรเป็นหมื่นชนิด แต่ในตำราเรียนระบุไว้เพียง 2 พันกว่าชนิด จริงๆ แล้วมีเกษตรกรจำนวนมากสามารถเป็นหมอยาได้ แต่อุปสรรคคือการจัดการความรู้ และเหตุผลที่สมุนไพรไม่ค่อยได้รับความนิยมเพราะมนุษย์สูญเสียศักยภาพในการพึ่งพิงธรรมชาติ
“ไทยมีสมุนไพร ภูมิปัญญามากมายแต่ชาวบ้านขาดสารอาหารก็ยอมเป็นหนี้ไปซื้อน้ำสมุนไพรต่างชาติขวดละหลายพันมากิน นั่นเป็นการไม่เข้าใจความเป็นอยู่ของชีวิต และไม่มีพื้นที่ตรงไหนที่จะเข้าไปบอก สาเหตุส่วนหนึ่งคือพื้นที่สื่อส่วนกลางมีน้อยมาก ต้องอาศัยสื่อวิทยุชุมชนบ้าง เคเบิลบ้างในการเชื่อมต่อถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ไปสู่ชาวบ้าน”
ดร.ภญ.สุภาภรณ์ กล่าวต่อไปว่า การสร้างบทบาทให้ชาวบ้านพึ่งตนเองได้เป็นเรื่องที่ต้องทำ ควรทำให้ตัวเลขการใช้ยาสมุนไพรที่ผลิตเองใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบันที่นำเข้าจากต่างชาติ ตอนนี้ต้องต่อสู้ด้านสิทธิบัตรยา ซึ่งไม่ได้สู้เพื่อแข่งขัน แต่เป็นการทำให้สมุนไพรกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและชาวบ้านพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้
ผศ.ดร.ภญ. นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์ยาในประเทศสวนกระแสกับนโยบายแห่งชาติเรื่องการพึ่งตนเองด้านยามาก มูลค่าการนำเข้ายาจากต่างประเทศยังสูงเมื่อเทียบกับการผลิต ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในปี 2548 ระบุว่ามูลค่าการนำเข้ายาแผนปัจจุบันสูงถึง 3.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่การผลิตยาในประเทศอยู่ที่ 2.9 หมื่นล้านบาท เพราะคนไทยเชื่อว่าการรักษาด้วยยาต่างประเทศดีกว่ายาในไทย ดังนั้นหากมีนโยบายการพึ่งตนเองด้านยาด้วยการกระตุ้นหรือส่งเสริมการใช้ชื่อยาสามัญที่ผลิตในประเทศให้อยู่ในบัญชียาหลัก ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยาในประเทศ และสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรจะช่วยให้ชาวบ้านไม่ต้องบริโภคยาแพงและลดการพึ่งพิงยาจากต่างประเทศ
“หัวใจหลักของการพึ่งตนเองด้านยาต้องทำใน 3 ระดับคือ ระดับปัจเจกหรือการทำให้ชาวบ้านดูแลตัวเองได้ ผลิตยารักษาได้เองตามความจำเป็น สองคือระดับชุมชน ต้องทำให้ยาพื้นบ้านกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เกื้อกูลวิถีชีวิตของคนทั้งชุมชนสู่ระดับชาติที่ต้องส่งเสริมลงมาตั้งแต่รัฐบาล”
นพ.ประพจน์ เภตรากาศ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข สาขาพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สธ. กล่าวถึงสถานการณ์ด้านการใช้ยาสมุนไพรในประเทศไทยว่า ในปี 2553 อยู่ที่ 100-200 ล้านครั้ง และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3-5 เท่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยการผลิตอยู่ใน 3 ระดับ 1.ระดับชุมชน ที่มีการปลูกและผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือน 2.ระดับบริการของรัฐในโรงพยาบาลชุมชนที่ใช้ยาสมุนไพรกับผู้ป่วย 88 แห่ง และมีมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนอีก 10 แห่ง และ 3.ระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก 986 แห่ง แต่มีเพียง 25 แห่งที่ได้มาตรฐาน
สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายแห่งชาติด้านยา นพ.ประพจน์ กล่าวว่า ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ กำหนดเป้าหมายให้มีรายการยาและพัฒนาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติอย่างน้อยร้อยละ 10 ของรายการยาทั้งหมด ส่วนที่ 2 คือผลักดันมติของสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 2 ให้เร่งรัดการจัดตั้งกลไกศึกษาความเป็นไปได้ในการตรากฎหมายว่าด้วยยาไทยและยาสมุนไพรเพื่อส่งเสริมการใช้, พัฒนาตำรับยาระดับชาติ อย่างน้อย 100 ตำรับ ภายใน 3 ปี รวมถึงการพิจารณาบรรจุยาสมุนไพรเข้าในบัญชียาหลัก อย่างน้อย 20 รายการใน 3 ปี
สุดท้ายคือแผนยุทธศาสตร์ชาติ ส่งเสริมการพึ่งตนเองด้านสมุนไพรของชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีศักยภาพในการใช้สมุนไพรดุแลรักษาสุขภาพ ทั้งในด้านการเป็นอาหารและยา มีแหล่งสมุนไพรของชุมชนที่ชาวบ้านและหมอพื้นบ้านนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งการจัดทำแผนอนุรักษ์สมุนไพรทั้งในธรรมชาติและในชุมชนโดยชุมชนเป็นผู้ดำเนินการเอง หรือเชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐเพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน, ส่งเสริมให้ชุมชนปลูกสมุนไพรไว้ใช้ โดยมีการจัดตั้งกองทุนเฉพาะหรือกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 และจัดการความรู้เรื่องสมุนไพรของชุมชน เพื่อเผยแพร่ให้ชุมชนอื่นๆทั่วประเทศ
ในประเด็นปัญหาด้านสิทธิบัตรยา รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานนท์ รองประธาน มภส. กล่าวว่า สังคมไทยให้ความสำคัญสิทธิบัตรมากเกินไป จนกลายเป็นเครื่องมือสำหรับการลงทุนที่ผูกขาดความคิดให้มีการวิจัยมากๆ เพื่อให้ได้ยาตัวใหม่ที่ไม่ต่างจากเดิมมากป้อนระบบตลาด ไม่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อให้เป็นประโยชน์กับชาวบ้านอย่างแท้จริง
“ไม่เชื่อว่าระบบสิทธิบัตรดีที่สุด เพราะเกษตรกรบ้านที่มีภูมิปัญญา ทำวิจัยเชิงพื้นที่มีอยู่มาก แต่ไม่เคยได้รับการตอบรับเพราะข้อติดขัดดังกล่าว ต้องมาดูว่าระบบที่มีอยู่นี้จริงๆ แล้วเป็นประโยชน์ยุติธรรมหรือไม่ สิ่งท้าทายคือจะทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาดูแลตนเอง จัดการความรู้ที่มีได้อย่างไร”
ขณะที่ นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานโครงการร่วมรณรงค์เข้าถึงยาจำเป็น องค์กรหมอไร้พรมแดน กล่าวว่า จำเป็นต้องมีหน่วยงานเข้ามาดูแลเรื่องยา ไม่เช่นนั้นประเทศจะตกอยู่ในกำมือของบริษัทยาข้ามชาติ จึงควรสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เลือกยาให้เหมาะสมอย่างคุ้มค่าทั้งในเชิงพื้นที่และเศรษฐกิจ