คุมตัวเพิ่มอีก 3 เอี่ยวบึ้มกรุง - แม่ทัพแฉภาพขนระเบิดผ่านด่านโกลก
ผ่านครึ่งเดือนเหตุระเบิดป่วนกรุงเทพฯ ทั้งบริเวณหน้าสถานที่ราชการสำคัญ และย่านการค้า โดยคนร้ายใช้ระเบิดเกือบ 20 ลูก จนถึงขณะนี้ศาลอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาแล้ว 9 หมาย จำนวนผู้ต้องหา 6 คน จับกุมได้แล้ว 2 คน ส่วนผู้ต้องสงสัยที่ถูกคุมตัวอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีอีก 5 คน
วันศุกร์ที่ 16 ส.ค.62 พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ได้เรียกประชุมพนักงานสอบสวนคดีระเบิดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดนนทบุรี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 1-2 ส.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นเปิดเผยว่า มีการออกหมายจับไปแล้ว 9 หมาย แบ่งเป็นหมายจับของ สน.ปทุมวัน 2 หมาย (พื้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) สน.พญาไท 5 หมาย (พื้นที่ประตูน้ำและใกล้เคียง) และ สน.ทุ่งสองห้อง 2 หมาย (พื้นที่ศูนย์ราชการฯ) รวมผู้ต้องหา 6 คน จับกุมได้แล้ว 2 คน และนำตัวฝากขังต่อศาลอาญาไปแล้ว ส่วนอีก 4 คนอยู่ระหว่างการติดตามตัว
รองผบ.ตร.ยืนยันว่า หมายจับที่ออกทั้งหมด เป็นบุคคลที่มีตัวตน มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ไม่ใช่การออกหมายจับตามภาพ และบางคนเคยมีประวัติการก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ "ทืมข่าวอิศรา" พบว่า ผู้ต้องหา 6 คนที่โดนออกหมายจับ ประกอบด้วย นายลูไอ แซแง อายุ 22 ปี นายวิลดัน มาหะ อายุ 29 ปี สองคนนี้ถูกจับกุมได้แล้ว และถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลอาญา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ส.ค. ส่วนที่เหลืออีก 4 คน คือ นายอัมรี มะมิง, นายอุสมาน เปาะเลาะ, นายอัสมี อาบูวะ และ นายฮาแซ แบเล๊าะ อยู่ระหว่างการติดตามตัว โดยมีการเผยแพร่ภาพทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมระบุรางวัลนำจับ 100,000 บาทด้วย
ผู้ต้องหาทั้ง 6 คนถูกตั้งข้อหา อั้งยี่, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์, กระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น, ทำ ใช้ มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้, พกพาอาวุธ (ระเบิด) ไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร และทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งทั้งหมดเป็นความผิดที่มีอายุความ 20 ปี และมีอัตราโทษสูง
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกเกือบๆ 20 คนนั้น จากการตรวจสอบของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการเชิญตัวมาซักถามและขอข้อมูล แต่ที่มีการควบคุมตัวจริงๆ มีอยู่ 5 คน ประกอบด้วย นายมูฮัมมัดอิลฮัม สะอิ, นายมูฮัมหหมัดฮาซัน มะ สองคนนี้ถูกรวบตัวได้คาด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ขณะกำลังขี่รถจักรยานยนต์ข้ามแดน คาดว่าเพื่อหลบหนีไปประเทศเพื่อนบ้าน
ส่วนอีก 3 คนเพิ่งจับกุมได้ในภายหลัง โดยทั้งหมดถูกคุมตัวอยู่ที่ "ศูนย์พิทักษ์สันติ" ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า โรงเรียนตำรวจภูธร 9 อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
ความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่ง คือตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ หรือ "บิ๊กเดฟ" แม่ทัพภาคที่ 4 เดินทางไปตรวจมาตรการเพิ่มความเข้มงวดที่ด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ถึง 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 แม่ทัพไปตรวจด่าน ทั้งด่านถาวรที่เป็นช่องทางปกติ (ด่านศุลกากร) และช่องทางธรรมชาติ รวม 7 จุดในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
พล.ท.พรศักดิ์ บอกว่า ขณะนี้ได้มีการสั่งเพิ่มเครื่องสแกนบุคคล หรือ Walk Through ที่ด่านพรมแดนทุกด่านของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว และต้องตรวจค้นรางกายและสัมภาระทุกคน โดยในส่วนของผู้ผ่านแดนที่เป็นผู้หญิง ก็จะให้ทหารพรานหญิงเป็นผู้ตรวจค้น และในอนาคตจะมีเครื่องสแกนลายนิ้วมือติดตั้งทุกด่าน และทุกจุดผ่อนปรน รวมถึงท่าข้ามฟากต่างๆ พร้อมประสานกับทางการมาเลเซียเกี่ยวกับข้อมูลบุคคลสองสัญชาติด้วย
สำหรับสาเหตุที่ต้องตรวจเข้มเป็นพิเศษ ทั้งบุคคลและรถยนต์ทุกคันนั้น แม่ทัพภาคที่ 4 ยอมรับว่า เพื่อป้องกันกลุ่มผู้ไม่หวังดีลักลอบนำวัตถุต้องสงสัยเข้ามาก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ เพราะจากสถานการณ์ที่ผ่านมาช่วงต้นเดือน (หมายถึงเหตุระเบิดป่วนกรุง) จากการสืบสวนสอบสวนทราบว่า คนร้ายได้นำวัตถุระเบิดผ่านเข้ามาทางช่องทางปกติ ซึ่งก็คือด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก โดยแม่ทัพได้เปิดภาพจากกล้องวงจรปิดให้ผู้สื่อข่าวดูด้วย และบอกว่า เป็นเพราะมาตรการตรวจตราหละหลวม ทำให้คนร้ายนำวัตถุระเบิดใส่เป้ผ่านเข้ามาได้
ภาพที่เจ้าหน้าที่เปิดให้แม่ทัพและผู้สื่อข่าวได้ดูนั้น เป็นภาพชายฉกรรจ์ 2 คน แบกเป้ขนาดใหญ่ผ่านด่าน โดยภายในเป้เหมือนมีสัมภาระจำนวนมาก แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ขอเปิดตรวจเลยแม้แต่น้อย
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ผู้ต้องสงสัยที่แบกเป้ผ่านด่าน เป็นกลุ่มที่ถูกออกหมายจับและถูกควบคุมตัวอยู่ที่ "ศูนย์พิทักษ์สันติ" โดยผู้ต้องสงสัยกลุ่มนี้เดินทางผ่านเข้า-ออกหลายครั้งช่วงก่อนเกิดระเบิดที่กรุงเทพฯและปริมณฑล แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่ระแคะระคาย และสามารถเดินผ่านด่านได้อย่างสะดวก
แม่ทัพภาคที่ 4 บอกด้วยว่า กลุ่มเป้าหมายที่เฝ้าระวังใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (รวมจังหวัดสงขลา) มีประมาณ 5,000 กว่าคน แต่คนเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงทั้งหมด แต่เป็นบุคคลที่ต้องเฝ้าระวัง