เปิดตัว สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม รวมพลังความร่วมมือจากหลากพันธมิตร
สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise Thailand Association: SE Thailand) จัดงานเปิดตัวสมาคมฯ อย่างเป็นทางการ ชวนทุกภาคส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง “ชุมชนผู้ประกอบการเพื่อสังคม” ครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจเพื่อสังคมไทยอยู่รอดและเติบโต และเป็นกำลังสำคัญในการแก้ปัญหา พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ณ ชั้น 32 ห้อง ไลบรารี่, ดีแทคเฮ้าส์, อาคารจัตุรัสจามจุรี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2562
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล นายกสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม กล่าวถึงเครือข่ายผู้ประกอบการทางสังคม และองค์กรที่ทำงานในการส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งได้รวมกลุ่มกันเมื่อปี 2560 เพื่อรวบรวมความเห็นต่อ พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม นำเสนอต่อผู้ร่างกฎหมาย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดในการร่วมกันสร้างองค์กรที่มีฐานสมาชิกเป็นธุรกิจเพื่อสังคมและผู้ประกอบการทางสังคม หรือ สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise Thailand Association: SE Thailand) มีจุดมุ่งหมายในการผสานความร่วมมือระหว่างสมาชิกด้วยกัน ตลอดจนสมาชิกกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจเพื่อสังคมประสบความสำเร็จในการประกอบการ ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหา พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยมีวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้ ธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยมีความเข้มแข็ง สามารถรวมกลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมได้อย่างต่อเนื่อง เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ
โดยมีพันธกิจหลัก 3 ประการ คือ สร้างความร่วมมือ เชื่อมโยง (Connect) ธุรกิจเพื่อสังคมด้วยกันเองและกับองค์กรอื่น เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกสูงสุดต่อสังคม/สิ่งแวดล้อม, สื่อสารและสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ (Communicate) โดยเฉพาะในบริบทของประเทศไทยให้เกิดความรู้ที่เป็นประโยชน์ และสามารถนำไปใช้ได้จริงสำหรับผู้ประกอบการทางสังคม รวมทั้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคมให้กับสาธารณชน และ ผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเพื่อสังคม (Catalyze) ผ่านการจัดกิจกรรม การเรียนรู้ การแบ่งปันข้อมูล การรวมกลุ่ม และอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อน แก้ปัญหาและพัฒนาสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการและยั่งยืน
“ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ธุรกิจเพื่อสังคมจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทและกลายเป็นโมเดลสำคัญในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ทำให้เรามองเห็นโอกาสการเติบโตของธÏรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย ที่มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่มีการรวมกลุ่มที่แข็งแกร่งมากพอ การก่อตั้งสมาคมธุรกิจเพื่อสังคมในครั้งนี้ จึงเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นเสมือนบ้านที่จะให้ทุกคนอยู่รวมกัน เป็นการเชื่อมธุรกิจทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ง่ายต่อการมองหาโอกาสร่วมกัน ได้มาแชร์ความรู้ความเข้าใจและต่อยอดการพัฒนาศักยภาพให้สมาชิกสามารถทำธุรกิจเพื่อสังคมได้อย่างสมบูรณ์และประสบความสำเร็จ โดยหลายประเทศมีองค์กรลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น SEUK ของสหราชอาณาจักร Social Enterprise Alliance ของสหรัฐอเมริกา หรือ raiSE ของสิงคโปร์ ที่เป็นองค์กรศูนย์กลางของสมาชิกธุรกิจเพื่อสังคม องค์กรเหล่านี้มีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ให้ขับเคลื่อนอย่างมีพลัง เป็นภาคส่วนที่สำคัญในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม วันนี้เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่องค์กรลักษณะเช่นว่านี้ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว การดำเนินการของสมาคมธุรกิจเพื่อสังคมหรือ SE Thailand จำเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อให้ภาพฝันที่ประเทศไทยของเราทุกคนจะเติบโตอย่างยั่งยืนเป็นจริงได้ สมาคมธุรกิจเพื่อสังคมเรียนเชิญทุกท่านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนานี้”
สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (SE Thailand) ก่อตั้งขึ้นในเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2562 มีองค์กรเข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งต้น 13 องค์กร โดยเป็นธุรกิจเพื่อสังคมในหลากหลายสาขา อาทิ การเกษตร การท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ชุมชน การศึกษา สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยสมาคมฯ ได้ตั้งเป้าหมายในการเปิดรับสมัครสมาชิกให้ได้มากที่สุด โดยคาดว่าจะมี SE ในประเทศไทยที่มาสมัครสมาชิกไม่ต่ำกว่า 200 รายภายใน 1-2 ปีนี้ โดยจะมีการจัดกิจกรรมให้แก่สมาชิกสมาคมฯ เป็นประจำทุกเดือน เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้สมาชิก SE มีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมของตนเองให้ประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดเสวนา เรื่อง “Connecting the Two Worlds: ก้าวต่อไปของบริษัทเอกชนและธุรกิจเพื่อสังคมสู่ผลกระทบทางสังคมที่ดีกว่าเดิม” โดยวิทยากร ตัวแทนจากสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม และพันธมิตรหลักได้กล่าวถึงการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมในแง่มุมต่างๆ ดังนี้
นายกฤษดา แสงไชยวุฒิกุล กรรมการ สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า “เพราะเรามีโลกใบเดียว และวันนี้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันรุนแรงและมีความท้าทายอย่างมาก ซึ่งเราเชื่อว่าการร่วมมือกันผ่าน ธุรกิจเพื่อสังคม เป็นเครื่องมือที่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นองค์กรเล็กหรือใหญ่ ต่างมีส่วนช่วยโลกของเราได้เท่าๆ กัน”
นางสาวอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด กล่าวถึง “เราเน้นการถ่ายทอดความรู้ซึ่งเป็นจุดแข็งของ dtac ให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมถึง SE ผ่านโครงการต่างๆ รวมถึงร่วมส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคมด้วยการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ บนความร่วมมือที่เท่าเทียม”
นางสาวสมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทด้านการวัดและการวิเคราะห์ข้อมูลระดับโลก กล่าวว่า “เพราะข้อมูลด้านการตลาดเป็นสิ่งสำคัญมากในโลกธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นทุกวัน เราจึงพร้อมสนับสนุนเรื่องนี้ให้กับธุรกิจเพื่อสังคม หมดเวลาแห่งการแข่งขัน วันนี้คือเวลาของการร่วมมือและแบ่งปัน”
ด้าน ศาสตราภิชาน วิชา หาญอมรรุ่งเรือง ที่ปรึกษาด้านระบบการบริหารจัดการอาคาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า “การขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ควรสร้างคุณค่าให้สมประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย ตั้งแต่ คู่ค้า ชุมชน สังคม ซึ่งส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ยกระดับคุณภาพชีวิตและศักยภาพของบุคลากรในธุรกิจเพื่อสังคมของไทย ให้พร้อมแข่งขันบนเวทีโลก
นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด กล่าวว่า “ปัญหาสำคัญข้อหนึ่งของธุรกิจเพื่อสังคมคือ ปัญหาทางการเงินและการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งในฐานะสถาบันทางการเงินได้สนับสนุนด้านนี้ รวมถึงการให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการทางการเงิน”
ส่วน นายนิกม์ พิศลยบุตร รองผู้อำนวยการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงบทบาทการเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจเพื่อสังคม โดยมีประเด็นสำคัญคือ “ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเพื่อสังคม หรือธุรกิจทั่วไป ต่างก็ต้องสร้างความมั่นคงทางเศษฐกิจให้กับตัวเองให้ได้ก่อน เพราะนั่นก็เป็นหนึ่งในความยั่งยืน และในขณะเดียวกันก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดกับโลกของเราด้วย”
ปิดท้ายด้วย นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึง “ที่ผ่านมาเรามีเป้าหมายขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจที่ดูแลสภาพแวดล้อมตลอดกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งต้นน้ำคือเกษตรกร โดยเราได้นำความเชี่ยวชาญเฉพาะของเราช่วยพัฒนาเกษตรกร ผ่านการร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เช่น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์”
สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก หรือเป็นพันธมิตรกับสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม หรือ สอบถามข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ด้านการทำธุรกิจเพื่อสังคม ติดต่อ www.sethailand.org หรืออีเมล [email protected] หรือโทรศัพท์ 02-252-7114 ต่อ 406