กางกฎหมาย-ทำความเข้าใจ ‘กระทู้ถามสด’ ในสภา นายกฯมีสิทธิ์ไม่มาตอบได้ไหม?
“...การตั้งกระทู้ถามสด สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถามได้ครั้งละหนึ่งกระทู้ ... โดยระบุชื่อเรื่องที่จะถามพร้อมวัตถุประสงค์ว่าจะถามนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีผู้ใด และต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (1) เป็นเรื่องสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน (2) เป็นเรื่องที่กระทบถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน (3) เป็นเรื่องเร่งด่วน…”
ยังคงเป็นประเด็นร้อนแรงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง!
กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณฯของคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เป็นคน ‘เปิดแผล’ ครั้งแรกในการอภิปรายนโยบายคณะรัฐมนตรี ต่อมามีฝ่ายค้านหลายคนรับลูกขย่มซ้ำ ส่งผลให้มีการยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อตรวจสอบว่าเข้าข่ายกระทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ?
ช่วงแรก พล.อ.ประยุทธ์ เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า “ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” ขณะที่ ‘เนติบริกร’ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะตอบคำถามผู้สื่อข่าวหลายครั้งก่อนระบุว่า “สักวันจะรู้ว่าทำไมไม่ควรพูด”
ความเคลื่อนไหวล่าสุด ‘บิ๊กตู่’ ในประเด็นนี้ ปฏิเสธที่จะพูดถึง เช่นเดียวกับฝ่ายรัฐบาลหลายคนที่ขอให้โฟกัสการทำงานของรัฐบาลแทน
เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2562 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแนวร่วมฝ่ายค้านตั้งกระทู้ถามสด พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน อย่างไรก็ดี พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มาตอบคำถาม โดยส่งหนังสือมาถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร อ้างว่า ติดภารกิจ นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดิน
ส่งผลให้นายสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ว่า หากนายกรัฐมนตรีไม่มาตอบกระทู้ถามสด จะดำเนินการตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ คือการยื่นเปิดอภิปรายเป็นการทั่วไป แบบไม่ลงมติ และจะดำเนินการให้เร็วที่สุดก่อนการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ระบุว่า ในเมื่อยื่นถาม พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี แล้วไม่มาตอบ จะยื่นถามสดต่อ รมว.กลาโหม หรืออีกตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ นั่นเอง
รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 152 บัญญัติว่า ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร จะเข้าชื่อกันเพื่อเสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติก็ได้
ที่ผ่านมาบางคนอาจไม่รู้ว่าขั้นตอนการถามกระทู้ในสภาผู้แทนราษฎรเป็นอย่างไร หากนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีไม่มาตอบ ทำได้หรือไม่ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงข้อมูลที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2560 และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 (บังคับใช้โดยอนุโลม เนื่องจากร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …. ยังไม่แล้วเสร็จ) สรุปได้ ดังนี้
รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 150 บัญญัติว่า ส.ส. หรือ ส.ว. มีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องใดเกี่ยวกับงานในหน้าที่โดยจะถามเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ ตามข้อบังคับการประชุมแห่งสภานั้น ๆ ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีการตั้งกระทู้ถามด้วยวาจาโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าไว้ด้วย
รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบกระทู้เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่า เรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน
ขณะที่ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 หมวดที่ 8 ข้อที่ 141 บัญญัติเกี่ยวกับการตั้งกระทู้ในสภา แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.กระทู้ถามสด 2.กระทู้ถามทั่วไป
ข้อที่ 143 บัญญัติว่า กระทู้ถามต้องไม่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เป็นเชิงประชด เสียดสี หรือกลั่นแกล้งใส่ร้าย (2) เคลือบคลุมหรือเข้าใจยาก (3) เป็นเรื่องที่ได้ตอบแล้วหรือชี้แจงแล้วว่าไม่ตอบ (4) เป็นเรื่องที่มีประเด็นคำถามซ้ำซากกับกระทู้ถามซึ่งมีผู้เสนอมาก่อน (5) เป็นการให้ออกความเห็น (6) เป็นปัญหาข้อกฎหมาย (7) เป็นเรื่องที่ไม่มีสาระสำคัญ (8) เป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลใด เว้นแต่ที่เกี่ยวกับการงานในหน้าที่ราชการ
ข้อ 144 บัญญัติว่า กระทู้ถามตามข้อ 143 (3) และ (4) นั้น จะตั้งกระทู้ถามขึ้นใหม่ได้ ในเมื่อสาระสำคัญต่างกัน หรือพฤติการณ์ในขณะที่มีกระทู้ถามครั้งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อตั้งกระทู้ถามครั้งก่อน
ข้อ 148 บัญญัติว่า การตั้งกระทู้ถามต้องชัดเจน ไม่ฟุ่มเฟือย วนเวียน ซ้ำซาก หรือมีลักษณะเป็นการอภิปราย
ข้อ 151 บัญญัติว่า กระทู้ถามตกไป เมื่อ
(1) ถึงระเบียบวาระกระทู้ถามของผู้ใด ถ้าผู้ตั้งกระทู้ถามไม่ถามหรือไม่อยู่ในที่ประชุม (2) สมาชิกภาพของผู้ตั้งกระทู้ถามสิ้นสุดลง (3) คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง (4) อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
คราวนี้มาทำความเข้าใจสาระสำคัญเกี่ยวกับกระทู้ถามสด
ข้อ 152 บัญญัติว่า การตั้งกระทู้ถามสด สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถามได้ครั้งละหนึ่งกระทู้ โดยให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธานสภาในวันประชุมที่มีวาระการตอบกระทู้ถามก่อนเริ่มประชุมตามเวลาที่ประธานสภากำหนด โดยระบุชื่อเรื่องที่จะถามพร้อมวัตถุประสงค์ว่าจะถามนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีผู้ใด และต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เป็นเรื่องสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน (2) เป็นเรื่องที่กระทบถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน (3) เป็นเรื่องเร่งด่วน
ให้เป็นอำนาจของประธานสภาที่จะวินิจฉัยว่ากระทู้ถามใดเป็นกระทู้ถามสดหรือไม่
ข้อ 154 บัญญัติว่า กระทู้ถามสดที่ประธานสภาวินิจฉัยแล้ว ให้บรรจุเข้าระเบียบวาระการกระทู้ถามสด และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ถูกตั้งกระทู้ถามทราบ
ข้อ 155 บัญญัติว่า การถามและการตอบกระทู้ถามสดในการประชุมครั้งหนึ่ง ๆ มีกำหนดเวลาไม่เกิน 60 นาที
ข้อ 156 บัญญัติว่า กระทู้ถามสดแต่ละกระทู้ให้ถามด้วยวาจาได้เรื่องละไม่เกิน 3 ครั้ง และต้องถามตอบให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 20 นาที เว้นแต่ในสัปดาห์ใดมีกระทู้ถามสดน้อยกว่า 3 กระทู้ ก็ให้ขยายเวลาออกไปอีกตามสัดส่วนภายในเวลา 60 นาที
ข้อ 157 บัญญัติว่า ในระหว่างการถามกระทู้ถามสด หากประธานวินิจฉัยว่าคำถามข้อใดเข้าลักษณะต้องห้ามตามข้อ 143 ให้ประธานมีอำนาจสั่งให้เปลี่ยนแปลงคำถาม
นี่คือข้อมูลพอสังเขปเกี่ยวกับการตั้งกระทู้ถาม และการตอบกระทู้ในสภาผู้แทนราษฎร ท้ายที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จะยอมมาตอบกระทู้หรือไม่ คงต้องรอดูกันต่อไป
อ่านรัฐธรรมนูญปี 2560 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF
อ่านข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 : https://library2.parliament.go.th/giventake/content_give/force-hr2551.pdf
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/