กสม.หวัง สตช.เร่งตามคดี 'เอกชัย' ถูกคุกคาม -แนะก.อุตฯ ทำประชาพิจารณ์ คก.เหมืองหินใหม่
เลขาธิการ กสม. หวัง สตช. เร่งดำเนินคดีกรณี “นายเอกชัย อิสระทะ” ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์คุกคาม-กักขัง ในการร่วมเวทีประชาพิจารณ์โครงการเหมืองหิน จ. พัทลุง พร้อมแนะกระทรวงอุตสาหกรรม ให้จัดเวทีใหม่ รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านและประกันความปลอดภัยของผู้เข้าร่วม
วันที่ 13 สิงหาคม 2562 นายโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่นายเอกชัย อิสระทะ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ซึ่งเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ข่มขู่คุกคามและควบคุมตัวไปกักขัง พร้อมยึดอุปกรณ์สื่อสารและทรัพย์สินติดตัวไว้เป็นเวลาครึ่งวัน ภายหลังจากที่นายเอกชัยแสดงเจตจำนงเข้าร่วมสังเกตการณ์เวทีรับฟังความคิดเห็นการขอประทานบัตรโครงการขอสัมปทานเหมืองแร่หินปูนของบริษัทแห่งหนึ่ง ในพื้นที่อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562
นายโสพล ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) มีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายเอกชัย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเข้าข่ายหน่วงเหนี่ยวกักขังอันเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา ยิ่งเมื่อคำนึงว่านายเอกชัยเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นปากเสียงให้กับประชาชนและชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่าง ๆ ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคาม ซึ่งหน่วยงานของรัฐควรให้ความสำคัญต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับนายเอกชัย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งที่จะเข้าไปรายงานข่าวก็ถูกข่มขู่คุกคาม โดยมีการขอมิให้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในเวทีด้วย ซึ่งสะท้อนว่าผู้กระทำการมิได้มีความเคารพหรือเกรงกลัวกฎหมายแต่อย่างใด
“สำนักงาน กสม. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะเร่งสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในกรณีนี้โดยเร็ว รวมถึงการดูแลความปลอดภัยของนายเอกชัย ในขณะเดียวกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการนี้ มิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้ประชาชนและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ความเห็น ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ควรพิจารณาทบทวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โครงการดังกล่าวในครั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีการรับฟังข้อมูล ข้อเท็จจริงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายอย่างถูกต้องครบถ้วน ตลอดจนประกันความปลอดภัย และเสรีภาพในการมีส่วนร่วมและแสดงความเห็นตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายรับรอง” นายโสพล กล่าว